นักโทษล้นคุก แน่นจนต้องนอนตะแคง 90 องศา
ปัญหานักโทษล้นคุกใกล้แตะ 4 แสนคน กสม.จับมือทีไอเจเร่งศึกษามาตรการลงโทษแทนการจำคุกระยะสั้น โทษไม่เกิน 5 ปี ใช้เทคโนโลยีจำกัดเสรีภาพ ส่วนคดียาเสพติดต้องแยกผู้เสพ-ค้ารายย่อยออกจากนักค้ารายใหญ่ ดันสธ.เดินหน้างานบำบัด
สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติร่วมกับสถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย จัดงานสัมมนา เรื่อง การลงโทษทางอาญากับหลักสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ โดยนายวัส ติงสมิตร ประธานกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) กล่าวว่านับแต่ปี 2555 กสม.ได้ปฏิบัติหน้าที่ในการ ตรวจสอบการกระทำหรือละเลยการกระทำอันเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนควบคู่กับการ ส่งเสริม สร้างความตระหนักรู้เกี่ยวกับหลักสิทธิมนุษยชน โดยเฉพาะการจับกุมคุมขังบุคคล ซึ่งในระหว่างการคุมขัง บุคคลย่อมสูญเสียสิทธิในการเดินทางอย่างมีอิสระ อันเป็นสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐาน แม้ว่ารัฐจะมีเหตุผลในการทำให้บุคคลเสื่อมเสียอิสรภาพในรูปของโทษจำคุก ซึ่งต้องมีกฎหมายรองรับอย่างชัดเจน และต้องมีกระบวนการปรับปรุงพฤติกรรมเพื่อเยียวยาแก้ไขให้เป็นการคืนคนดีสู่สังคม
นายวัส กล่าวอีกว่า ขณะที่ประเด็นการลงโทษทางอาญานี้ยังมีข้อถกเถียงกันอยู่เพื่อยกเลิกการประหารชีวิตผู้หญิงหรือผู้กระทำความผิดในคดียาเสพติด ซึ่งสำนักงานกสม.ได้เข้าไปเก็บข้อมูลจากนักโทษกลุ่มตัวอย่าง โดยสำนักงานกสม.กระทรวงยุติธรรม และสถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย จึงเห็นควรจัดสัมมนาทางวิชาการครั้งนี้ เพื่อผลักดันข้อเสนอแนะมาตรการหรือแนวทางในการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชนต่อรัฐสภา คณะรัฐมนตรี และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมตลอดทั้งการแก้ไขปรับปรุงกฎหมาย กฎ ระเบียบ หรือคำสั่งใดๆ เพื่อให้สอดคล้องกับหลักสิทธิมนุษยชน โดยเฉพาะกรณีที่เกี่ยวกับการลงโทษ อาญากับหลักสิทธิมนุษยชน และเพื่อส่งเสริมความรู้ความเข้าใจด้านสิทธิมนุษยชนให้ หน่วยงานที่บังคับใช้กฎหมายตระหนักถึงความสำคัญของหลักสิทธิมนุษยชน
ด้านนายกิตติพงษ์ กิตยารักษ์ ผู้อำนวยการสถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย กล่าวว่า สถิติผู้ต้องขังกว่า 300,000 คนของไทย ทำให้ไทยมีนักโทษมากเป็นลำดับที่ 6 ของโลก และมีสถิตินักโทษสูงที่สุดของประเทศในกลุ่มอาเซียน ทั้งที่ประเทศไทยมีจำนวนประชากรกว่า 60 ล้านคน ขณะที่จีนมีประชากร 1,500ล้านคน อินเดียที่มีประชากร 1,400 ล้านคน หรืออินโดนีเซียที่มีประชากรกว่า 200 ล้านคน ก็ยังมีจำนวนผู้ต้องขังต่ำกว่าไทย เราก้าวขึ้นเป็นแชมป์ในอาเซียนของไทย ทั้งที่เรือนจำมีขีดความสามารถในการรองรับผู้ต้องขังได้แค่ 1.2 แสนคน จำนวนนักโทษที่ใกล้แตะ 4 แสนคน จึงเกินความจุไป 2-3 เท่า นักโทษมีที่นอนเพียงคนละ 0.70 ตารางเมตร นอนตะแคงทั่วไปยังไม่ได้ ต้องนอนตะแคงแบบ 90 องศา
“แม้ไทยจะเป็นแชมป์ประเทศที่มีนักโทษในเรือนจำสูงที่สุดในอาเซียน แต่ตัวเลขดังกล่าวไม่ได้สะท้อนว่าประเทศไทยมีปัญหาอาชญากรรมที่เป็นอันตรายสูงจนน่าตกใจ ความเป็นแชมป์ของไทยจึงสะท้อนถึงปัญหาบางอย่างของกระบวนการยุติธรรม ปริมาณนักโทษที่เพิ่มสูงขึ้นเป็นผลมาจากการแก้ไขกฎหมายยาเสพติด เปลี่ยนยาม้าเป็นยาบ้า ทำให้ผู้เกี่ยวข้องกับยาเสพติดถูกส่งเข้าสู่เรือนจำ เป็นสัดส่วน 70% ของเรือนจำชาย และ 87%ในเรือนจำหญิง และในจำนวนดังกล่าว 20% เป็นผู้ต้องขังระหว่างการพิจารณาคดี นอกจากนี้ยังพบว่า 50%ของนักโทษเด็ดขาดทั้งหมด เป็นผู้ต้องโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี ซึ่งจัดอยู่ในกลุ่มคดีความผิดเล็กน้อย” นายกิตติพงษ์กล่าว
นายกิตติพงษ์ กล่าวอีกว่า งบประมาณในแต่ละปีที่รัฐต้องจ่ายให้กับกรมราชทัณฑ์ สูงถึง 12,000 ล้านบาท ในจำนวนดังกล่าวแยกเป็นงบฯอาหารเลี้ยงนักโทษ 8,000 ล้านบาท ขณะที่สถิตินักโทษหลังปล่อยออกมามีการกระทำผิดซ้ำสูงกว่า 30% ปัญหาที่เกิดขึ้นไม่ใช่เพราะราชทัณฑ์ทำงานไม่ดี แต่ต้องยอมรับว่าปริมาณผู้ต้องขังในปี 2537 น้อยกว่าปัจจุบัน 3 เท่า ปัญหาที่เป็นระเบิดเวลาอยู่นี้ จึงไม่ใช่เรื่องของราชทัณฑ์อย่างเดียว แต่เป็นปัญหาของกระบวนการยุติธรรมทั้งระบบ ที่ส่งผลให้สังคมอาจได้รับอันตรายจากกระบวนการยุติธรรมที่ไม่สามารถจัดการกับอาชญากรรมได้ และอาจนำไปสู่การเสื่อมศรัทธาต่อระบบ ในปี 2543-2544 เราเคยแก้ปัญหานักโทษล้นเรือนจำ ทำให้จำนวนนักโทษ 240,000 คน ลดลงมาเหลือ 160,000 คน ด้วยการแยกผู้เสพเป็นผู้ป่วยนำตัวไปบำบัดรักษา แต่ต่อมาการไม่เอาจริงเอาจังในการบำบัดรักษา ไม่ผลักดันให้นโยบายสาธารณสุขเป็นตัวนำทำให้ปัญหาผู้ต้องขังล้นคุกกลับมาใหม่
“ต้นเหตุของโรคเรื้อรังเกิดจากวิธีคิด ที่เรายังติดอยู่กับการลงโทษเพื่อแก้แค้นทดแทน ทั้งที่ความผิดอาญาเป็นความผิดต่อรัฐ รัฐต้องเอาคนผิดลงมาโทษเพื่อไม่ให้ผู้อื่นทำเป็นเยี่ยงอย่าง ซึ่งควรทำร่วมกับการฟื้นฟูเยียวยาให้โอกาสผู้กระทำผิดให้สำนึกและคำนึงถึงความรู้สึกของผู้เสียหาย รวมทั้งหาทางเยียวยาเพื่อทำให้สถานการณ์ดีขึ้นได้ด้วยตัวเอง ซึ่งแนวทางดังกล่าวจะทำให้ผู้เสียหายพอใจและให้อภัยกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น สิ่งเหล่านี้อาจดูเหมือนอุดมคติแต่ทำได้จริง ซึ่งเราเห็นตัวอย่างแล้วจากคดีขับรถเฉี่ยวชนผู้อื่น”นายกิตติพงษ์กล่าว
นายกิตติพงษ์ กล่าวด้วยว่า สถิติคนล้นคุกไม่ได้เกิดจากสภาพของอาชญากรรม แต่เกิดจากโครงสร้างและนโยบาย ที่ไม่สามารถแก้แบบปะผุ แต่ต้องแก้ด้วยการปรับทัศนคติว่า การลงโทษเพื่อแก้แค้นทดแทนอย่างเดียวไม่เพียงพออีกต่อไป ปัญหายาเสพติดจะต้องแยกผู้เสพและผู้ค้ารายย่อย ออกจากรายใหญ่ให้ได้ แล้วให้งานสาธารณสุขนำหน้า สำหรับคดีอาญาอื่นๆควร มีช่องทางตามกฎหมายให้ตำรวจและอัยการไกล่เกลี่ยคดีได้โดยไม่ต้องส่งต่อคดีมายังศาลทุกเรื่อง รวมทั้งแสวงหามาตรการลงโทษอื่น หรือนำอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์เข้ามาใช้จำกัดสิทธิเสรีภาพ ส่วนการคุมประพฤติหรือการทำงานบริการสังคม ต้องไม่ใช่งานแถม แต่ต้องมีกระบวนการตรวจสอบเพื่อสร้างความเชื่อมั่น ซึ่งทั้งหมดไม่ใช่การปฏิเสธการลงโทษ แต่การลงโทษก็ต้องเหมาะสมไม่เกินเลยความผิด