ทส.เปิดศูนย์เฝ้าระวังช้างป่าด้วยระบบเตือนภัยล่วงหน้า

ทส.เปิดศูนย์เฝ้าระวังช้างป่าด้วยระบบเตือนภัยล่วงหน้า

ทส.ลุยแก้ปัญหาช้างป่าออกนอกพื้นที่ เปิดศูนย์เฝ้าระวังช้างป่าด้วยระบบเตือนภัยล่วงหน้า

เมื่อวันที่ 14 ก.ย.62 กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ร่วมกับกลุ่มทรู ลุยแก้ปัญหาช้างป่าออกนอกพื้นที่ เปิดศูนย์เฝ้าระวังช้างป่าด้วยระบบเตือนภัยล่วงหน้า (Kuiburi’s Elephant Smart Early Warning System) เพื่อสนับสนุนการดำเนินงานของเจ้าหน้าที่ในการเฝ้าระวังช้างป่าออกนอกพื้นที่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยมีนายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม(รมว.ทส.) เป็นประธาน ร่วมด้วย นายยุทธพล อังกินันทน์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีฯ นายธเนศพล ธนบุณยวัฒน์ เลขานุการรัฐมนตรีฯ คณะผู้บริหารกระทรวงฯ กลุ่มทรู องค์การกองทุนสัตว์ป่าโลก (WWF) ประเทศไทย และหน่วยงานอื่นๆที่เกี่ยวข้อง พร้อมเยี่ยมชมศูนย์ปฏิบัติการฯ มอบสิ่งของจำเป็นแก่เจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่า ปลูกต้นมหาพรหม รวมถึงเดินทางไปปล่อยเนื้อทรายคืนสู่ธรรมชาติ จำนวน 47 ตัว ชมสัตว์ป่า และทำโป่งเทียม ณ อุทยานแห่งชาติกุยบุรี จังหวัดประจวบคีรีขันธ์

รมว.ทส. กล่าวว่า การเปิดศูนย์เฝ้าระวังช้างป่าด้วยระบบเตือนภัยล่วงหน้าแห่งนี้ เป็นหนึ่งในการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งระหว่างคนกับช้างป่าในพื้นที่ และช่วยลดความเดือดร้อนของประชาชน แต่วิธีการแก้ไขปัญหาในระยะยาวที่ต้องทำควบคู่กันไปนั้น คือการน้อมนำพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 9 ) เมื่อวันที่ 5 กรกฎาคม 2542 ว่า

“ช้างควรอยู่ในป่า เพียงแต่ต้องทำให้ป่านั้นมีอาหารช้างเพียงพอ การปฏิบัติ คือ ให้ไปสร้างอาหารในป่าเป็นแปลงเล็กๆและกระจาย กรณีช้างออกมาที่ชายป่า ต้องให้ความปลอดภัยกับช้างป่า”

มาใช้เป็นหลักในการแก้ไขปัญหา โดยเอาใจช้างมาใส่ใจเรา และทำความเข้าใจกับประชาชนในพื้นที่ว่า หากป่าไม้สมบูรณ์ เกิดความสมดุลของธรรมชาติแล้ว สัตว์ป่าและคนก็จะสามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างผาสุก ดร.ธีระพล ถนอมศักดิ์ยุทธ์ หัวหน้าคณะผู้บริหารด้านนวัตกรรมและความยั่งยืน กลุ่มทรู กล่าวว่า การทำงานของระบบ Elephant Smart Early Warning System เป็นการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีการสื่อสารร่วมกับการใช้กล้องดักถ่ายภาพอัตโนมัติ(camera trap) และพัฒนาระบบเตือนภัยล่วงหน้าในคอมพิวเตอร์และสมาร์ทโฟนแบบทันทีทันใด (real time) โดยติดตั้งบริเวณพื้นที่ป่าก่อนถึงพื้นที่เกษตรกรรม จำนวน 25 จุด เมื่อช้างหรือวัตถุใดๆเคลื่อนไหวผ่าน กล้องจะทำการบันทึก และส่งภาพไปยังระบบ Cloud เจ้าหน้าที่ที่ศูนย์ปฏิบัติการ จะทำการ screen และส่งภาพเข้ามือถือผ่าน e-mail ของเจ้าหน้าที่เพื่อแจ้งเตือนให้ดำเนินการผลักดันช้างเข้าพื้นที่ป่า เจ้าหน้าที่ปฏิบัติการผลักดันช้างได้รับแจ้งผ่าน Application Smart Adventure หลังจากผลักดันช้างสำเร็จจะทำการบันทึกข้อมูลต่างๆ อาทิ พิกัดด่านที่ช้างออก จำนวนช้าง เวลา ความเสียหาย มาประมวลผล เพื่อใช้ในการวิเคราะห์และแก้ปัญหาต่อไป

นายธัญญา เนติธรรมกุล อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติฯ กล่าวว่า จากการรายงานในช่วงตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2561 จนถึงปัจจุบัน พบว่า กล้องดักถ่ายภาพสัตว์ป่าอัตโนมัติดังกล่าวสามารถบันทึกภาพช้างป่า จำนวน 518 ครั้ง รวม 1,826 ภาพ พบความเสียหายต่อพืชผลทางการเกษตรจำนวน 27 ครั้งเท่านั้น ซึ่งหากเปรียบเทียบจากข้อมูลก่อนมีการติดตั้งกล้องดักถ่ายภาพสัตว์ป่าอัตโนมัติในช่วงเวลาเดียวกัน (พ.ย.60 – ส.ค.61) พบว่าช้างป่าได้ออกมาทำลายพืชผลทางการเกษตรของราษฎร จำนวน 628 ครั้ง และพบความเสียหายของพืชผลทางการเกษตร จำนวน 217 ครั้ง ซึ่งแสดงให้เห็นถึงผลสำเร็จจากการติดตั้งกล้องดักถ่ายภาพสัตว์ป่าอัตโนมัติ และส่งเจ้าหน้าที่เข้าไปดำเนินการผลักดันช้างป่าได้อย่างทันท่วงที จึงทำให้อัตราความเสียหายของพืชผลทางการเกษตรลดลงเป็นอย่างมาก จึงหวังว่า โครงการนี้จะเป็นอีกโครงการหนึ่งที่นำไปสู่การอยู่ร่วมกันได้อย่างสมดุลระหว่างช้างป่าและชุมชนในพื้นที่ เป็นการส่งเสริมการคุ้มครองช้างป่าในพื้นที่ และจะเป็นตัวอย่างในการแก้ปัญหาที่มีลักษณะคล้ายคลึงกันในพื้นที่อนุรักษ์อื่นๆต่อไป