‘แบงก์’จ่อลดปล่อยสินเชื่อเงินผ่อน
“สมาคมธนาคารไทย” เผยแบงก์พาณิชย์่เริ่มชะลอปล่อยสินเชื่อ และลดการออกโปรโมชั่นที่กระตุ้นการใช้จ่ายที่ไม่จำเป็น เช่น สินเชื่อผ่อนก่อนจ่ายที่หลัง และโปรโมชั่นผ่อน0% ห่วงทำหนี้ครัวเรือนสูงขึ้นในระยะยาว
นายปรีดี ดาวฉาย ประธานกรรมการสมาคมธนาคารไทย และกรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย กล่าวว่า จากสถานการณ์หนี้ครัวเรือนที่อยู่ระดับสูง โดยล่าสุดอยู่ที่ 78.7%ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ(จีดีพี) อาจจะกระทบต่อเสถียรภาพของธนาคารพาณิชย์ และเป็นอันตรายต่อการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจได้ หากหนี้ดังกล่าวมีมากเกินควรและไม่มีการชำระคืน
ทั้งนี้แม้ว่าหนี้ดังกล่าวบางส่วนจะเป็นหนี้ที่กู้ซื้อที่อยู่อาศัยจริง และทำธุรกิจ แต่บางส่วนเป็นการก่อหนี้โดยเกินความจำเป็น เพื่อไปใช้จ่ายฟุ่มเฟือย ดังนั้น ธนาคารพาณิชย์คงต้องมีการเข้าไปดูแลและระมัดระวังในการให้สินเชื่อมากขึ้น เพื่อไม่กระตุ้นให้เกิดการใช้จ่ายฟุ่มเฟือยจนเกินไปทั้งนี้จากหลักเกณฑ์ การปล่อยสินเชื่ออย่างรับผิดรับชอบ( Responsible Lending) ที่ธนาคารพาณิชย์มีการลงนามความร่วมมือในช่วงที่ผ่านมา จะทำให้แบงก์ตระหนักมากขึ้น ในการปล่อยสินเชื่ออย่างระมัดระวังและรับผิดชอบมากขึ้นในอนาคต
“เราเชื่อว่า คงไม่ถึงขั้น ต้องให้ลูกค้าชี้แจงวัตถุประสงค์การกู้ว่ากู้ไปแล้วจะเอาไปทำอะไร แต่แบงก์จะพิจารณาแนวทางการปล่อยสินเชื่อมากขึ้น โดยเฉพาะการออกโปรโมชั่นต่างๆ ที่อาจจะเห็นการลดลง เพื่อไม่ให้กระตุ้นการสร้างหนี้จนเกินไป หรือให้เกิดการสร้างหนี้โดยไม่จำเป็น เช่น การเที่ยวก่อนผ่อนทีหลัง หรือโปรโมชั่น 0% ต่างๆ เหล่านี้เห็นบางธนาคารเริ่มมีการใช้เกณฑ์นี้บางแล้ว แม้วันนี้เกณฑ์การปล่อยสินเชื่ออย่างรับผิดรับชอบจะยังไม่มีผลบังคับใช้ แต่หลายธนาคารตระหนักมากขึ้นในการให้สินเชื่ออย่างรับผิดรับชอบ”
อย่างไรก็ตาม ไม่เพียงแค่การระมัดระวังการให้สินเชื่อร่ายย่อย เท่านั้นแต่ในด้านธุรกิจ ตั้งแต่รายเล็กจนถึงรายใหญ่ ธนาคารจำเป็นต้องระมัดระวังการปล่อยสินเชื่อเพ่ิ่มขึ้นเช่นเดียวกัน โดยเฉพาะการให้สินเชื่อไปแล้ว ก่อให้เกิดปัญหาสิ่งแวดล้อมหรือสังคมหรือไม่ เหล่านี้แบงก์ก็จะไม่ปล่อยสินเชื่อ หากไม่มีมาตรฐานการด้านการดูแลสิ่งแวดล้อมต่างๆ เพราะกระทบต่อความยั่งยืนในระยะข้างหน้าด้วย
ด้าน นางสาวธัญญลักษณ์ วัชระชัยสุรพล รองกรรมการผู้จัดการ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย กล่าวว่า ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดว่าสินเชื่อระบบธนาคารพาณิชย์ปี 2562 จะขยายตัวราว 4.5% ลดลงจากเดิมที่คาดว่าจะขยายตัวถึง 5.0% โดยสินเชื่อขยายตัวดีในช่วงครึ่งปีแรก 2562 แต่ช่วงครึ่งปีหลังแนวโน้มการปล่อยสินเชื่อชะลอลงตามทิศทางเศรษฐกิจที่ชะลอตัว และยังมีปัจจัยเสี่ยงเศรษฐกิจทั้งในประเทศและต่างประเทศ ทำให้ความต้องการใช้เงินลงทุนลดลง กระทบต่อสินเชื่อธุรกิจ
เธอกล่าวต่อว่า ขณะนี้ผู้บริโภคมีอำนาจซื้อลดลง และความสามารถในการก่อหนี้ลดลง จากหนี้ครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูง ส่วนด้านคุณภาพสินเชื่อ พบว่าจากการเร่งปล่อยสินเชื่อไปก่อนหน้านี้ ทั้งสินเชื่อรถยนต์และสินเชื่อที่อยู่อาศัย ประกอบกับเศรษฐกิจที่ชะลอตัวลง อาจเริ่มมีผลกระทบต่อคุณภาพสินเชื่อกลุ่มนี้ ทำให้หนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้(เอ็นพีแอล) ต่อสินเชื่อรวมของสินเชื่อรถยนต์ และสินเชื่อที่อยู่อาศัยมีการปรับเพิ่มขึ้นในระยะข้างหน้า
ทั้งนี้หากดูเอ็นพีแอล องธนาคารพาณิชย์ไตรมาส 2 โดยรวมอยู่ที่2.95% คาดว่าไตรมาสที่ 3 ปี 2562 มีโอกาสที่จะปรับขึ้นไปมากกว่า 3.0% ได้ แต่ในช่วงไตรมาสที่ 4 ปี 2562 เอ็นพีแอลต่อสินเชื่อรวมจะปรับลดลงมาอยู่ต่ำกว่า 3.0% เนื่องจากธนาคารพาณิชย์จะมีการบริหารจัดการเอ็นพีแอล โดยส่วนหนึ่งจะมีการขายเอ็นพีแอลออกมาทำให้ระดับเอ็นพีแอลทั้งระบบปรับลดลง