ความเข้าใจผิดที่เกิดจากอิทธิพลของยุคล่าอาณานิคม (อังกฤษ)
คอลัมน์ของวันนี้อยากแก้ไขความเข้าใจผิดบางเรื่องเกี่ยวกับสมาชิกอาเซียน ที่เคยเป็นอาณานิคมของประเทศตะวันตกสักเล็กน้อย ความเข้าใจผิดที่ว่านี้เป็นเรื่องเกี่ยวกับระบบกฎหมายระบบการเมือง และระบบเศรษฐกิจของประเทศที่เคยเป็นอาณานิคมของประเทศในทวีปยุโรปมาก่อน
เรามักจะเข้าใจว่า ประเทศที่เคยเป็นอาณานิคมเหล่านี้ยังคงใช้ระบบกฎหมายระบอบการเมืองและระบบเศรษฐกิจแบบของประเทศแม่ และในการคบหาสมาคมกับประชากรของประเทศเหล่านี้ ก็มักจะอ้างถึงมรดกตกทอดทางวัฒนธรรมที่ประเทศเหล่านี้เคยได้รับมาก่อน เช่น เข้าใจว่าคนลาว เวียดนาม และกัมพูชา จะต้องเก่งภาษาฝรั่งเศส ส่วนคนเมียนมา มาเลย์ สิงคโปร์ และบรูไน น่าจะได้รับอารยธรรมของอังกฤษ และเก่งภาษาอังกฤษเกือบทุกคนส่วนคน อินโดนีเซียน่าจะใช้ภาษาดัทช์ได้อย่างคล่องแคล่ว และคนฟิลิปปินส์น่าจะมีความชำนาญในการใช้ภาษาสเปน และระบบการเมืองของสหรัฐอเมริกา
ความจริงไม่เป็นเช่นนั้นเสียทีเดียว ถ้าแบ่งประเทศสมาชิกอาเซียนที่เคยตกเป็นอาณานิคมแล้ว ออกเป็นสองกลุ่มจะมีกลุ่มที่เคยอยู่ใต้การดูแลของประเทศอังกฤษกลุ่มหนึ่ง และที่เหลือจะเป็นกลุ่มที่อยู่ภายใต้การดูแลของประเทศฝั่งภาคพื้นยุโรป ที่พบได้ตอนนี้ก็มีประเทศฝรั่งเศสกลุ่มหนึ่ง และประเทศจากกลุ่มยุโรปที่ไม่ใช่ฝรั่งเศสก็มี เช่น ประเทศสเปน ประเทศฮอลแลนด์หรือฮอลันดา และโปรตุเกส อีกกลุ่มหนึ่ง
ประเทศที่ยังคงรักษาขนบธรรมเนียมการปกครองและระบบกฎหมายของประเทศแม่ไว้ได้นั้น น่าจะเป็นประเทศที่เคยเป็นอาณานิคมของจักรวรรดิอังกฤษมาก่อน ประเทศเหล่านี้ มีเช่น ประเทศสิงคโปร์ มาเลเซีย และบรูไน อย่างไรก็ตามถือได้ว่าเป็นเพียงการนำเอาระบบที่เคยใช้และยังใช้อยู่ในประเทศที่เรียกกันว่าประเทศในเครือจักรภพมาใช้ เพราะประเทศอังกฤษนั้นถึงแม้ว่าจะเลิกล้มระบอบอาณานิคมไปนานแล้วก็ตาม แต่ทว่าประเทศอาณานิคมดั้งเดิมก็ยังรวมตัวกันแน่นเป็นสหภาพในเครือ และสหราชอาณาจักรเองนั้นได้พยายามรักษาความเป็นปึกแผ่นของบรรดาสมาชิกไว้ด้วยการเอื้อประโยชน์บางอย่าง เช่น ให้ความสำคัญต่อการคงไว้ซึ่งการใช้ระบบกฎหมายแบบของอังกฤษ โดยบรรดานักกฎหมายของประเทศในเครือ สามารถให้คำปรึกษาหรือว่าความในประเทศเครือจักรภพได้
ทั้งนี้ ในระบบการศาลของประเทศที่เคยอยู่ในอาณานิคมของจักรวรรดิอังกฤษนั้น มักจะมีระบบศาลเช่นเดียวกันกับระบบศาลในประเทศอังกฤษ ยิ่งไปกว่านั้นยังใช้ภาษาอังกฤษ และคดีบรรทัดฐานในการดำเนินการเกี่ยวกับการยุติธรรมโดยเฉพาะอย่างยิ่งในศาลยุติธรรมอีกด้วย
ดังนั้นอิทธิพลของระบบศาลและกฎหมายอังกฤษที่เราเรียกกันว่า “คอมมอนลอว์” จึงยังมีใช้อยู่ในประเทศ เช่น มาเลเซียและสิงคโปร์ แต่คงไม่ได้หมายความว่าประชาชนทั่วไปจะต้องใช้ภาษาอังกฤษ และรู้กฎหมายอังกฤษด้วย
สำหรับประเทศบรูไนนั้นดูเหมือนว่าจะใช้กฎหมายอิสลามนำหน้ากฎหมายคอมมอนลอว์ของอังกฤษซึ่งก็นับได้ว่าเป็นวิวัฒนาการอีกแนวหนึ่งแตกต่างออกไปจากประเทศในเครือจักรภพอื่น ๆ
ประเทศเมียนมาก็เช่นกัน ในครั้งที่ได้รับเอกราชใหม่ ๆ เมียนมาหรือพม่า ได้ใช้อารยธรรมและความเจริญของประเทศอังกฤษ เพื่อพัฒนาประเทศอยู่ระยะหนึ่ง ซึ่งดูเหมือนว่า จะเป็นประเทศที่พัฒนาไปได้ก่อนประเทศอื่นที่เป็นอาณานิคม แต่ต่อมามีการปฏิวัติรัฐประหารในเมียนมาบ่อยครั้งมาก จนกระทั่งระบบที่ประเทศอังกฤษวางไว้ให้ได้สูญสลายไปสิ้น ประเทศเมียนมาในปัจจุบัน จึงเหมือนกับประเทศที่ต้องก่อร่างสร้างตัวใหม่ ไม่ว่าจะเป็นระบบการยุติธรรม ระบบการเมือง หรือระบบเศรษฐกิจ ดูเหมือนว่าประเทศจะต้องเริ่มต้นกันใหม่แทบทั้งหมด ดังนั้น อิทธิพลของอังกฤษ จึงแทบจะไม่มีบทบาทในเมียนมายุคปัจจุบัน
ในครั้งต่อไปจะกล่าวถึงประเทศสมาชิกที่มักเชื่อกันว่าได้รับอิทธิพลของประเทศตะวันตกฝ่ายภาคพื้นยุโรปและประเทศสหรัฐกันบ้าง