'ชูวิทย์' เปรียบเทียบ 'คนติดคุกกับคนหนีคุก'
กรณีคดีที่เคยดังเป็นพลุแตก อย่าง วิคตอเรีย ซีเครท ของเครือเดอะลอร์ด
นายชูวิทย์ กมลวิศิษฎ์ โพสต์ข้อความผ่านเพจเฟซบุ๊ค ระบุว่า คนติดคุก กับ คนหนีคุก สิ่งหนึ่งที่คนอย่างพี่สนธิ และผมเหมือนกัน คือยอมรับ เป็นผู้แพ้ และเดินเข้าคุกแทนหนีคุก ต้องนอนเอามือก่ายหน้าผากว่า ทำไมโชคชะตาวาสนาถึงตกต่ำเพียงนี้?
ผมได้เจอพี่สนธิทั้ง 2 รอบ ตอนอยู่ในคุก จากคนที่เคยนอนแอร์ มีฟูกนุ่มๆ ต้องมานอนพื้นด้วยผ้าห่ม 3 ผืน อากาศอบร้อนเหมือนอยู่ในห้องซาวน่า เหงื่อท่วมตัวขนาดต้องเอาน้ำลูบทุกชั่วโมงจนหลับ ตื่นมาได้แต่รำพึงว่า “ชีวิตเรามาถึงจุดนี้ได้ยังไง?”
แต่ก็มีคนบางคนที่เลือกหนีคุก โดยเชื่อว่า “เงินจะซื้อได้” เพื่อตัดตอนไม่ให้คดีไปสู่กระบวนการของศาล ใช้วิธีวิ่งเต้น อาศัยช่องทางพิสดารของกฎหมาย เช่นคดีที่เคยดังเป็นพลุแตก อย่าง “วิคตอเรีย ซีเครท” ของเครือเดอะลอร์ด ที่ขณะนั้นผมเป็นผู้สื่อข่าว อีกทั้งเคยเป็นอดีตเจ้าของเก่า
หลายหน่วยงาน ทั้งตำรวจ ทหาร กรมการปกครอง ดีเอสไอ มูลนิธิเอ็นเวเดอร์ แห่บุกเข้าจับกุม เพราะมีเด็กอายุเพียง 12–13 ปี เคยทำงานอยู่ ทั้งยังพบหลักฐานจำนวนมาก ไม่ว่าเส้นทางการเงิน รายงานการประชุม จนนำไปสู่คดีค้ามนุษย์ ฟอกเงิน เป็นธุระจัดหา ทั้งเด็กต่ำกว่า 18 ปี และต่ำกว่า 15 ปี รวม 12 ข้อหา
ถือเป็นคดีนโยบายหลักของรัฐบาล ที่จะเร่งสร้างผลงานในขณะนั้น
ตร.สอบข้ามวันข้ามคืน อีกทั้งต้องไปให้การกับดีเอสไอหลายรอบ จนศาลท่านอนุมัติหมายจับเจ้าของที่แท้จริง จนท้ายสุดเลือกวิธีหนีคุกหายเข้ากลีบเฆมไปก่อน
ความแตกต่างที่ผมบอก คือ คนติดคุก สู้ด้วยกระบวนการกฎหมายที่มี แต่คนหนีคุก รอจังหวะให้เรื่องเงียบ สักปีสองปี วางแผนย่องกลับด้วยกระบวนการ “ถอนหมายจับ” เพื่อให้ไม่ต้องขึ้นศาล
เมื่อเรื่องเงียบ อะไรมันก็ง่าย ออกหมายจับได้ ก็ถอนหมายจับได้ อีกหน่อยเครือเดอะลอร์ด วิคตอเรีย ซีเครท ก็คงกลับมาเปิดได้เหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้น
ที่รุมแห่กันไปจับเป็นข่าวใหญ่โต คนก็ลืมกันหมดแล้ว เรื่องแบบนี้ผมเห็นมาซ้ำแล้วซ้ำเล่า เอกสาร หลักฐานที่พบในสถานที่ รวมถึงเส้นทางการเงินที่เข้าบัญชี เครื่องรูดบัตร พยาน ก็ไม่มีความหมายอะไร
ส่วนที่ติดคุกไป ก็แค่พวกกระจิบกระจอก แต่เจ้าของรอดหน้าตาเฉย ขอหนีไปก่อนแล้วค่อยๆ แก้ อาศัยเงินหลักระดับ 100 ล้าน ง้างได้ทุกอย่าง เพราะเคลียร์นอกคุก ดีกว่าไปเคลียร์ในคุก ปัจจัยมันต่างกันแยะ
หากใช้เงินซื้อได้ ความไม่เท่าเทียมกันของกระบวนการกฎหมาย ย่อมทำให้เกิดความแตกต่าง ระหว่างคนที่ยอมติดคุก กับคนที่หนีคุก
เพราะคนที่ยอมติดคุก เมื่อได้ออกมา จะทำอะไรระมัดระวัง ไม่กล้าไปทำผิดซ้ำอีก
แต่คนที่หนีคุก จะไม่มีวันสำนึกผิด เพราะคิดว่าใช้เงินซื้อได้ เมื่อซื้อได้แล้ว ก็ย่อมซื้อได้อีก ไม่เกรงกลัวกฎหมาย
ยิ่งหากมีคนในวงการกฎหมายให้ความช่วยเหลือเสียเอง แทนที่ผิดจะว่าไปตามผิด กลับไปทำให้ผิดกลายเป็นถูก
แล้วสังคมนี้จะอยู่อย่างไร? ถ้าทุกอย่างซื้อได้ด้วยเงิน หากมีใครหาว่าผมอิจฉา ว่าเขารวยแล้วใช้เงินเป็นต้องยอมรับว่า มันน่าอิจฉาเสียจริงๆ