ธุรกิจแห่ลงทุนอาเซียน ดันสินเชื่อรายใหญ่'ซีไอเอ็มบี'พุ่ง
"ซีไอเอ็มบีไทย" เผยธุรกิจรายใหญ่แห่ลงทุนอาเซียนเพิ่มขึ้น ดันสินเชื่อที่เกี่ยวกับอาเซียนโตสูง หนุนพอร์ตสินเชื่อรายใหญ่พุ่ง 20 % จากปีก่อนโตเพียง 15 % คาดพอร์ตสินเชื่อรายใหญ่แตะ1แสนล้านภายใน 1-2ปีข้างหน้านี
นายพรชัย ปัทมินทร รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ ธุรกิจขนาดใหญ่ บรรษัทธุรกิจและวาณิชธนกิจ ธนาคารซีไอเอ็มบี ไทย จำกัด (มหาชน) หรือ CIMBT กล่าวว่า แนวโน้มการปล่อยสินเชื่อรายใหญ่ปีนี้ เชื่อว่าจะเติบโตได้ประมาณ 18-20% จากช่วงปีที่ผ่านมาสินเชื่อรายใหญ่เติบโตเพียง 14-15%
โดยการเติบโตของสินเชื่อดังกล่าว มาจากการเติบโตของทั้งสินเชื่อในประเทศ และสินเชื่อต่างประเทศ โดยเฉพาะสินเชื่อที่เกี่ยวเนื่องกับอาเซียน ที่คาดว่าปีนี้จะเติบโตมากขึ้น หรือเติบโตกว่า 15 % จากปีก่อน เป็นผลมาจากภาคธุรกิจไทยหันไปลงทุนขยายกิจการในต่างประเทศมากขึ้น เพื่อสร้างการเติบโตให้กับธุรกิจ โดยประเทศที่ภาคธุรกิจไทยสนใจเข้าไปลงทุนมากที่สุด เช่น ประเทศเวียดนาม อินโดนีเซีย กัมพูชา และมาเลเซีย เป็นต้น
เขากล่าวต่อว่า จากการเติบโตต่อเนื่องของสินเชื่อรายใหญ่ในประเทศ และสินเชื่อของธุรกิจข้ามประเทศ จะหนุนให้พอร์ตสินเชื่อรายใหญ่ของธนาคารในอีก 1-2 ปีข้างหน้า แตะระดับ100,000 ล้านบาทได้จากปัจจุบันพอร์ตสินเชื่อรายใหญ่ของธนาคารอยู่ที่ 80,000 ล้านบาท
“ธุรกิจอาเซียนของซีไอเอ็มบี มีความโดดเด่น เพราะมีความเชี่ยวชาญ ทำให้ธุรกิจนี้ในแต่ละปีมีการเติบโตไม่น้อยกว่า 15% จากช่วงที่ผ่านมามีการเติบโตเฉลี่ยต่อปีประมาณ 10-15% ส่วนสินเชื่อในประเทศ ก็ขยายตัวดีเช่นกัน จากกลยุทธ์ที่ตรงจุด ซึ่งจะช่วยหนุนให้สินเชื่อคงค้างมีโอกาสแตะ 1แสนล้านบาทได้เร็วขึ้นในปีอีก 1-2 ปีข้างหน้าได้"
ส่วนภาพรวมหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) ของสินเชื่อรายใหญ่อยู่ในระดับที่ต่ำมาก โดยปัจจุบันอยู่ที่1% และยังมีแนวโน้มอยู่ในระดับต่ำต่อเนื่อง เนื่องจากพอร์ตสินเชื่อรายใหญ่ ค่อนข้างมีความแข็งแกร่ง หากเทียบกับธุรกิจกลุ่มอื่นๆ ทำให้มีความทนทานในการรับผลกระทบที่เกิดขึ้นจากทั้งในและต่างประเทศ
นายพรชัย กล่าวอีกว่า ธุรกิจรายใหญ่ไม่ได้เติบโตเฉพาะในด้านสินเชื่อเท่านั้น แต่ในด้านสายงานวาณิชธนกิจของธนาคารในปีนี้ยังมีทิศทางเติบโตต่อเนื่อง คาดว่าจะเติบโตได้ราว 25 % สูงกว่าปีก่อนที่เติบโตเพียงระดับ 20 % เท่านั้น โดยสายงานวาณิชธนกิจธนาคาร ครอบคลุมทั้งการทำดีลออกหุ้นกู้ ควบรวมกิจการ เป็นที่ปรึกษาทางการเงิน การขายเสนอขายหุ้นต่อประชาชนทั่วไปครั้งแรก(ไอพีโอ) และจัดตั้งกองทรัสต่างๆ
โดยการทำดีลที่ผ่นมา เช่น การเป็นที่ปรึกษาในการขายหุ้นไอพีโอ ให้กับบริษัท เอส โฮเทล แอนด์ รีสอร์ท จำกัด (มหาชน) หรือ SHR และบริษัทในเครือของบริษัท สิงห์ เอสเตท จำกัด (มหาชน) หรือ S รวมถึงมีการเพิ่มทุนกองทรัสต์เพื่อการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์และสิทธิการเช่าดุสิตธานี (DREIT) มูลค่าประมาณ 2,400 ล้านบาท ซึ่งเหล่านี้เป็นดีลที่เข้ามาให้เห็นเรื่อยๆตั้งแต่ต้นปี โดยบางส่วนจะสามารถรับรู้รายได้ได้ทันทีภายในปีนี้ และยังมีบางส่วนที่จะทยอยรับรู้ไปถึงปีหน้า ทำให้สายงานวาณิชธนกิจเติบโตต่อเนื่อง
“ในส่วนสายงานวาณิชธนกิจ ธนาคารให้ความสำคัญ เพราะเป็นส่วนสำคัญที่สร้างรายได้ให้กับแบงก์ โดยปีก่อนธนาคารมีการออกหุ้นกู้ในกับลูกค้าขนาดใหญ่หลายราย ส่วนปีนี้ก็มีงาน ไอพีโอเข้ามาเพิ่มเติม ร่วมถึงกองทรัสต์ด้วย ส่วนแนวโน้มการออกหุ้นกู้ให้กับลูกค้าก็มีเข้ามาเรื่อยๆ เป็นทั้งการออกใหม่ และการออกเพื่อทดแทนหุ้นกู้ที่ครบกำหนดไถ่ถอน ” นายพรชัย กล่าว