ยธ.นัดแถลงปิดเกม 'กำไลEM' ผิดทีโออาร์พรุ่งนี้!
![ยธ.นัดแถลงปิดเกม 'กำไลEM' ผิดทีโออาร์พรุ่งนี้!](https://image.bangkokbiznews.com/image/kt/media/image/news/2019/09/19/847825/750x422_847825_1568881403.jpg?x-image-process=style/LG)
"สมศักดิ์" นัดแถลงผลสอบ จบปัญหา "กำไลEM" ผิดทีโออาร์ ยธ.ส่อยกเลิกสัญญา หลังเอกชนแก้ไขข้อบกพร่องไม่ได้ กำไล 2,000 ชิ้น ถอดง่ายพรุ่งนี้!
เมื่อวันที่ 19 ก.ย.62 แหล่งข่าวจากกระทรวงยุติธรรม เปิดเผยว่า ในวันพรุ่งนี้( 20 ก.ย.) เวลา 11.00 น.นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม นัดแถลงผลการตรวจสอบอุปกรณ์ติดตามตัวอิเล็กทรอนิกส์ หรือกำไลอีเอ็ม ภายหลังกรมคุมประพฤติและกระทรวงยุติธรรม ตรวจสอบพบว่า ระบบการทำงานของกำไลอีเอ็มมีความบกพร่อง ผิดไปจากเงื่อนไขที่กำหนดไว้ในทีโออาร์ตามสัญญาเช่าใช้ ซึ่งกรมคุมประพฤติได้แจ้งให้บริษัทสุพรีม ดิสทิบิวชั่น (ประเทศไทย) จำกัด แก้ไขข้อบกพร่องให้ตรงตามทีโออาร์ภายในเวลา 15 วัน ผลปรากฎว่า ไม่สามารถแก้ไขได้ เนื่องจากกำไลอีเอ็มจะต้องถอดออกได้ยาก และมีสัญญาณแจ้งเตือนเมื่อถูกถอดออก ไม่ว่าจะสวมที่ข้อมือหรือข้อเท้า
นอกจากนี้ในการตรวจสอบกำไลอีเอ็มจำนวน 4,000 ชุด วงเงินจำนวน 74 ล้านบาท ยังพบว่ากำไลอีเอ็ม จำนวน 2,000 ชิ้น สามารถถอดออกได้ กรมคุมประพฤติจึงต้องแจ้งยกเลิกสัญญาที่ทำไว้กับบริษัทดังกล่าวเป็นเวลา 23 เดือน ส่วนจะดำเนินการเปิดประมูลใหม่อย่างไร เป็นขั้นตอนที่กระทรวงยุติธรรมและกรมคุมประพฤติจะต้องเข้ามาดำเนินการให้เป็นไปตามมาตรฐาน
สำหรับข้อบกพร่องของระบบกำไลอีเอ็มที่ตรวจสอบพบ มี 3 ประเด็น คือ อุปกรณ์ติดตามตัวอิเล็กทรอนิกส์ (EM) สามารถถอดออกจากข้อมือได้โดยไม่ต้องใช้การตัดสายรัดหรืออุปกรณ์พิเศษในการถอด ผู้ถูกคุมประพฤติที่สวมใส่ หลายรายเกิดอาการแพ้ โดยบางรายเกิดผื่นสีแดงขึ้นบริเวณข้อมือ หรือมีผิวหนังแห้งบริเวณข้อมือ หรือมีแผลติดเชื้อบริเวณข้อมือ ซึ่งอาจไม่เป็นไปตามที่กำหนดไว้ในขอบเขตของงาน (Term of Reference : TOR) ทั้งๆที่มีการกำหนดไว้ว่าอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์จะต้องได้รับการรับรองจากสถาบันที่น่าเชื่อถือหรือจากผู้ผลิตว่าเมื่อสวมใส่แล้วจะไม่ก่อให้เกิดอาการแพ้แก่ผู้สวมใส่ได้โดยง่าย (Hypo-allergenic) และกำไลอีเอ็มมีการแจ้งเตือนบ่อยครั้ง และอาจจะกระทบต่อความน่าเชื่อถือของสัญญาณแจ้งเตือนและประสิทธิภาพของอุปกรณ์
ทั้งนี้ จากการตรวจสอบข้อมูลสถิติจากศูนย์ควบคุมการติดตามตัวผู้กระทำความผิดในงานคุมประพฤติด้วยอุปกรณ์เครื่องมืออิเล็กทรอนิกส์ ตั้งแต่เริ่มดำเนินโครงการนี้เมื่อ 1มกราคม 2562 ถึงปัจจุบัน พบว่า มีผู้ถูกคุมประพฤติที่เข้ารับการติดตั้งอุปกรณ์ติดตามตัวในแต่ละเดือนอยู่ที่ 200-700 คน แต่มีการแจ้งเตือนว่าอุปกรณ์ถูกทำลายสูงกว่า 1,000-100,000 ครั้งต่อเดือน หรือ ไม่มีสัญญาณสูงกว่า 20,000-170,000 ครั้งต่อเดือน เป็นต้น