กรมควบคุมโรค ย้ำคนปลอดภัย จากโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร
กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข เน้นย้ำคนปลอดภัย จากโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร โรคนี้เป็นโรคที่ติดต่อในสุกรและหมูป่าเท่านั้น ยังไม่มีรายงานติดสัตว์ชนิดอื่นและไม่มีรายงานติดต่อสู่คน แต่ขอให้ประชาชนยึดหลัก “สุก ร้อน สะอาด” เพื่อป้องกันโรคติดต่อทางอาหารและน้
นายแพทย์อัษฎางค์ รวยอาจิณ รองอธิบดีและโฆษกกรมควบคุมโรค กล่าวว่า โรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร หรือ ASF (African Swine Fever) เป็นโรคติดต่อในสุกร ยังไม่มีวัคซีนป้องกันและไม่มียารักษาในสุกร เชื้อไวรัสมีความทนทาน สามารถอยู่ในผลิตภัณฑ์จากสุกรได้นาน โรคนี้เป็นโรคที่ติดต่อในสุกรและหมูป่าเท่านั้น ยังไม่มีรายงานติดสัตว์ชนิดอื่นและไม่มีรายงานติดต่อสู่คน โดยในช่วงปี 2561–2562 พบการระบาดของโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร ทั้งสิ้น 27 ประเทศ ประกอบด้วย ทวีปยุโรป 12 ประเทศ, ทวีปแอฟริกา 5 ประเทศ และทวีปเอเชีย 10 ประเทศ ยังไม่มีรายงานในประเทศไทย
ปัจจุบันยังไม่พบรายงานการติดต่อของโรคจากสัตว์สู่คน จึงสามารถบริโภคเนื้อสุกรปรุงสุกได้อย่างปลอดภัย อย่างไรก็ตาม คนสามารถเป็นพาหะในการนำโรคได้ ผ่านเสื้อผ้าที่ปนเปื้อนเชื้อ รวมถึงยานพาหนะ เครื่องมือและเครื่องใช้ที่ปนเปื้อน นอกจากนี้ กรมควบคุมโรคได้มีการทำงานร่วมกับกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ ในการประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนมีความรู้ความเข้าใจในการป้องกันตนเองที่ถูกต้อง พร้อมช่วยในการเฝ้าระวังโรคผ่านเครือข่ายอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.)
นายแพทย์อัษฎางค์ กล่าวต่อไปว่า กรมควบคุมโรค ขอความร่วมมือประชาชน ห้ามไม่ให้นำสุกรที่ป่วยตายหรือสงสัยว่าติดเชื้อ รวมถึงสุกรรวมฝูงนั้น มาชำแหละเพื่อปรุงเป็นอาหาร เนื่องจากขั้นตอนการปรุงอาหารอาจทำให้ผู้ชำแหละได้รับเชื้อ และอาจเป็นพาหะนำเชื้อไปสู่สุกรตัวอื่นได้ ในกรณีที่ต้องสัมผัสกับสุกรที่เลี้ยงไว้หรือต้องเกี่ยวข้องกับการทำลายสุกรที่ป่วยหรือตาย ให้มีการป้องกันตนเองด้วยการใส่หน้ากากอนามัย สวมถุงมือ สวมแว่นตาที่สามารถป้องกันมิให้ของเหลวจากสัตว์กระเด็นเข้าตา ใส่เสื้อผ้ามิดชิด ล้างมือให้บ่อย อาบน้ำหลังการสัมผัสสัตว์ และทำความสะอาดหรือซักล้างเสื้อผ้าด้วยสารซักล้างหรือน้ำยาฆ่าเชื้อ อย่างไรก็ตาม ถึงแม้โรคนี้จะไม่ติดต่อมาสู่คน แต่ขอให้ประชาชนยึดหลัก “สุก ร้อน สะอาด” ไม่รับประทานเนื้อหมูสุกๆ ดิบๆ เนื่องจากมีความเสี่ยงต่อการรับเชื้อก่อโรคติดต่อทางอาหารและน้ำชนิดต่างๆ เช่น เชื้อแบคทีเรียก่อโรคไข้หูดับ โรคอาหารเป็นพิษ และโรคอุจจาระร่วง เป็นต้น
หากพบการป่วยการตายของสุกร โดยมีอาการไอ ไข้สูง นอนสุมกัน ขาหลังไม่มีแรง ผิวหนังแดง มีจุดเลือดออก มีรอยช้ำที่ผิวหนัง บริเวณใบหูและท้อง ท้องเสียเป็นเลือด และแม่สุกรมีการแท้ง ขอให้รีบแจ้งเจ้าหน้าที่ปศุสัตว์ในพื้นที่ อาสาสมัครสาธารณสุข (อสม.) กำนัน หรือผู้ใหญ่บ้านโดยทันที หรือแจ้งสายด่วนกรมปศุสัตว์ โทร 063 225 6888 และแอปพลิเคชั่น DLD 4.0 เพื่อประโยชน์ในการเฝ้าระวังโรคและควบคุมโรคในสุกร มิให้มีความเสี่ยงในการแพร่กระจายโรคออกไป