แผนอนุรักษ์พะยูนแห่งชาติผ่านการพิจารณาคณะกรรมการนโยบายและแผนฯ ทะเล
เตรียมผลักดัน 7 โครงการรวมทั้งการดูแลพื้นที่อาศัยพะยูน 12 แห่ง
คณะกรรมการนโยบายและแผนการบริหารจัดการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งแห่งชาติได้ประชุมครั้งที่ 2 ในวันนี้ โดยมี พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุม
ซึ่งในที่ประชุมได้มีการพิจารณาแผนอนุรักษ์พะยูนแห่งชาติ ซึ่งวางเป้าหมายเพิ่มประชากรพะยูนจาก 250 ตัว เป็น 280 ตัว ในเวลา 3 ปี โดยจะมีโครงการต่าง ๆ จำนวน 7 โครงการให้หน่วยงานและภาคส่วนต่าง ๆที่เกี่ยวข้อง นำแผนไปดำเนินการต่อไป รวมทั้งแผนการดูแลพื้นที่อาศัยพะยูน 12 แห่งแบบองค์รวม รวมถึงกิจกรรมการท่องเที่ยวในพื้นที่เพื่อทดแทนการลดการรบกวนพะยูนจากการทำประมง, แผนศูนย์ช่วยชีวิตหลัก 2 แห่ง และรอง 5 แห่ง, แผนการสร้างพิพิธภัณฑ์สัตว์หายากและศูนย์เรียนรู้ฯ และการรณรงค์การอนุรักษ์พะยูนและการประกาศวันพะยูนแห่งชาติ
ที่ประชุมได้รับรายงานว่า ในปีนี้ พบพะยูนเกยตื้นรวม 18 ตัว โดยพบเป็นซากเกยตื้น 16 ตัว และพบการเกยตื้นแบบมีชีวิต 2 ตัว คือ “มาเรียม” และ “ยามีล” ก่อนที่จะตายลงทั้งคู่จากการเจ็บป่วย
หลังการพิจารณาของคณะกรรมการฯ แผนอนุรักษ์พะยูนฯ จะถูกนำเข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรีเพื่อให้ความเห็นชอบต่อไป
ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ คณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติฯ และคณะกรรมการปฏิรูปสิ่งแวดล้อม ด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้โพสต์ข้อความในเฟสบุ๊คระบุถึงความสำเร็จในการผลักดันแผนดังกล่าวแบบองค์รวม ว่า แผนอนุรักษ์พะยูนแห่งชาติดังกล่าว ถือว่าเป็นแผนที่ใหญ่ที่สุดตั้งแต่ประเทศไทยทำเรื่องนี้มา และนอกจากพะยูนจะได้ประโยชน์แล้ว ยังช่วยสัตว์ทะเลหายากอื่นๆ รวามทั้งคนท้องถิ่นอีกด้วย
แผนดังกล่าวยังตรงกับแผนยุทธศาสตร์ชาติด้านทะเลและแผนปฏิรูปประเทศ เพราะคณะผู้จัดทำแผนฯ เป็นชุดเดียวกัน โดย ดร.ธรณ์ เป็นหนึ่งในคณะผู้จัดทำ ร่วมกับเจ้าหน้าที่จาก ทช.
นอกจากนี้ ที่ประชุม ยังพิจารณาการเสนอ “วันป่าชายเลนประจำปีของชาติ” โดยคณะอนุกรรมการด้านบริหารจัดการทรัพยากรป่าชายเลนและป่าชายหาด ภายใต้คณะกรรมการนโยบายฯ ได้มีการประชุมพร้อมมีมติเห็นชอบให้วันที่ 10 พฤษภาคม ของทุกปีเป็นวันป่าชายเลนประจำปีของชาติ
นายจตุพรกล่าวว่า ทั้งนี้ เนื่องจากเป็นวันที่พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงมีพระราชดำรัสเกี่ยวกับป่าชายเลนเป็นครั้งแรก และจากพระราชดำรัสที่ทรงแสดงถึงความห่วงใยต่อป่าชายเลน ส่งผลให้รัฐบาล หน่วยงานทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน นักเรียน นักศึกษา และประชาชนทุกหมู่เหล่า ได้ร่วมกันปลูกฟื้นฟูป่าชายเลนมาอย่างต่อเนื่อง จนมาถึงในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว พระองค์ทรงห่วงใยผืนป่าชายเลนที่ถูกบุกรุกและทำลายจากนายทุนที่แสวงหาประโยชน์ส่วนตน รวมถึงภัยพิบัติทางธรรมชาติที่เกิดขึ้นอยู่บ่อยครั้ง
พระองค์จึงมีพระราชปณิธานในการที่จะสืบสาน รักษา ต่อยอด สานงานต่อจากในหลวงรัชกาลที่ 9 เพื่อให้ผืนป่าชายเลนมีความอุดมสมบูรณ์และอยู่คู่กับผืนแผ่นดินไทยสืบไป นายจตุพรกล่าว
ภาพ ซากพะยูนเกยตื้นที่เกาะลิบงเมื่อวันที่ 18 กันยายนที่ผ่านมา/ อส.