หวั่นค่าไฟแพง สหภาพปตท.ร้องสอบนำเข้าก๊าซ
สหภาพปตท. ร้องผู้ตรวจการแผ่นดิน ยื่นศาลรธน.-ศาลปค.วินิจฉัยกฟผ.นำเข้าก๊าซ LNG ขัดรธน. หวั่นปชช.เดือดร้อนจ่ายเพิ่มค่าไฟ เปิดช่องเอกชนนำเข้าพลังงานได้
เมื่อวันที่ 27 ก.ย.62 สำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน สหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจบริษัทปตท.จำกัด (มหาชน) นำโดย น.ส.อัปสร กฤษณะสมิต ประธานสหภาพ และเป็นผู้ถือหุ้นในบริษัทปตท. เข้ายื่นหนังสือต่อผู้ตรวจการแผ่นดิน ขอให้พิจารณาและมีความเห็นเสนอศาลรัฐธรรมนูญหรือศาลปกครองวินิจฉัยว่า การที่คณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.)อนุมัติให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย ( กฟผ.) เข้ามาประกอบธุรกิจซื้อขายและนำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) จากเดิมที่บริษัท ปตท. เป็นผู้รับผิดชอบดำเนินการซื้อและนำเข้าก๊าซดังกล่าวเพียงรายเดียวเข้าข่ายเป็นการละเมิดพ.ร.บ.จัดตั้งกฟผ. และขัดกับรัฐธรรมนูญมาตรา 75 วรรคสองที่กำหนดห้ามมิให้รัฐและนิติบุคคลมหาชนเข้าประกอบกิจการในทางธุรกิจที่มีลักษณะเป็นการแข่งขันกับเอกชนอย่างชัดเจนหรือไม่
น.ส.อัปสร กล่าวว่า ก่อนหน้านี้รัฐบาลมีมติให้ปตท.เป็นผู้ดำเนินการจัดหาก๊าซธรรมชาติเหลวดังกล่าว โดยปตท.ได้ใช้งบประมาณมหาศาลลงทุนในการสร้างท่าเทียบเรือ ท่อขนส่ง ถังเก็บ และมีการจัดหาก๊าซดังกล่าวจากแหล่งต่างๆ มา.ให้กับหน่วยงานต่างๆ ที่ต้องใช้ทั้งประเทศ ซึ่งปี 58 เกิดสถานการณ์ปริมาณก๊าซธรรมชาติสำรองในอ่าวไทยลดลง เหตุเพราะความไม่แน่นอนในการต่อสัญญาหรือเปิดประมูลใหม่ก๊าซธรรมชาติในแหล่งบงกช และเอราวัณ ทางกฟผ.ก็รายงานการประเมินความจำเป็นของการใช้ ก๊าซธรรมชาติเหลวในอนาคตว่าว่าประเทศอาจจะต้องใช้เพิ่มอีกปีละ 9 ล้านตัน โดยชี้หากขาดแคลนจะกระทบกับการผลิตไฟฟ้า
ทางกบง.จึงอนุญาตให้กฟผ.เตรียมการนำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลวจากต่างประเทศได้เพิ่มขึ้นโดยไม่เกิน 1.5 ล้านตันต่อปี แต่ต่อมาสถานการณ์เปลี่ยนก๊าซธรรมชาติเหลวในอ่าวไทยมีอยู่เพียง แต่กบง.ก็ยังมีมติเมื่อวันที่ 30 ส.ค. ให้กฟผ.ลงนามสัญญานำเข้าก๊าชธรรมชาติเหลวจากบริษัทปิโตรนาส ของประเทศมาเลเซียเต็มจำนวน 1.5 ล้านตัน ทำให้ประชาชนอาจต้องแบกรับผลกระทบจากปรับขึ้นค่าไฟหน่วยละ 2 สตางค์ ซึ่งเมื่อไปตรวจสอบพ.ร.บ.การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยพ.ศ. 2511 มาตรา 6กำหนดวัตถุประสงค์การดำเนินกิจการไว้ 4 ข้อ ซึ่งไม่มีเรื่องของการจัดหาก๊าซธรรมชาติ จึงเห็นว่าการนำเข้าก๊าซของกฟผ.ตามมติกบง.ไม่ชอบด้วยกฎหมาย