2 ปียูเซ็ป ขอใช้สิทธิ 3 แสน เข้าเกณฑ์ 3 หมื่น
เผยนโยบายยูเซ็ปใช้มา 2 ปี มีคนใช้บริการในระบบ 2-3 แสนคน เข้าเกณฑ์ใช้สิทธิได้แค่ 3 หมื่นราย ใช้งบฯราว 1,000 ล้านบาท ระบุชาวยลดความเลื่อมล้ำด้านการรักษาพยาบาลของประชาชน เล็งหารือร่วมสธ.-3กองทุนต้องปรับนโยบายหรือไม่ อย่างไร
จากการที่นโยบาย “เจ็บป่วยฉุกเฉินวิกฤต มีสิทธิทุกที่”หรือยูเซ็ป (Universal Coverage for Emergency Patients : UCEP)เริ่มประกาศใช้ตั้งแต่เมื่อวันที่ 1 เม.ย.2560 โดยเป็นให้ผู้ป่วยในทุกสิทธิ์การรักษาที่เจ็บป่วยฉุกเฉินวิกฤต สามารถเข้ารับการรักษายังโรงพยาบาลที่อยู่ใกล้ที่สุด ณ จุดเกิดเหตุได้ รวมถึงโรงพยาบาลเอกชน ในช่วงเวลา 72 ชั่วโมงแรกส่วนการเบิกจ่ายค่ารักษาพยาบาล สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ( สปสช.)จะประมวลผลค่ารักษาพยาบาล กรณีที่เป็นผู้ป่วยสิทธิรักษาพยาบาลสวัสดิการข้าราชการและประกันสังคม สปสช.จะส่งข้อมูลเบิกจ่ายไปยังกองทุนตามสิทธิของผู้ป่วย โดยแต่ละกองทุนจะจ่ายค่ารักษากับโรงพยาบาลที่รับดูแลผู้ป่วยภายใน 15 วัน
ล่าสุด สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.)จัดประชุม ชี้แจงนโยบายและแนวทางในการดําเนินงานระบบการแพทย์ฉุกเฉินประจำปี 2563 โดยมีตัวแทนจากโรงพยาบาลเครือข่าย ตัวแทนท้องถิ่น รวมถึงตัวแทนเจ้าหน้าที่ ที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วมการประชุมกว่า 300 คนเมื่อเร็วๆนี้ ร.อ.อ.นพ.อัจฉริยะ แพงมา เลขาธิการสพฉ. กล่าวว่า นโยบายเรื่องยูเซ็ปคงดำเนินการเรื่องนี้ต่อไป โดยมีการคุ้มครองค่ารักษาพยาบาลจากกองทุนต่างๆ อยู่แล้ว ทั้งโรงพยาบาลรัฐและเอกชน ถ้าโรงพยาบาลรัฐจะมีทุกกองทุนจ่ายตามสิทธิการรักษาพยาบาล แต่โรงพยาบาลเอกชนกองทุนจะจ่าย เฉพาะฉุกเฉินวิกฤติ ส่วนจะปรับนโยบายหรือไม่อย่างไร คงต้องมีการหารือกับกระทรวงสาธารณสุขและกองทุนต่างๆอีกที ที่ผ่านมา 2 ปี ตั้งแต่ 1 เม.ย. 2560 - 31 มี.ค. 2562 มีคนมาใช้บริการในระบบ ประมาณ 2-3 แสนคน ผู้ป่วยที่เข้าเกณฑ์ใช้สิทธิได้ มีประมาณ 3 หมื่นราย หรือราว 10% งบประมาณที่ใช้ไปประมาณกว่า 1,000 ล้านบาท
" ล่าสุดสพฉ.ได้รับรางวัลรางวัลเลิศรัฐ จากสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (ก.พ.ร.) ซึ่ง หัวข้อที่ได้รับรางวัลคือ การให้บริการประชาชน เรื่องของยูเซ็ป เจ็บป่วยฉุกเฉินวิกฤต มีสิทธิทุกที่เพราะตั้งแต่เริ่มโครงการตามนโยบาย ได้ลดความเลื่อมล้ำด้านการรักษาพยาบาลของประชาชนในกรณีเจ็บป่วยฉุกเฉินวิกฤต ทำ ให้ผู้ป่วย ฉุกเฉินวิกฤต ได้รับการคุ้มครองสิทธิในการเข้าถึงบริการทางการแพทย์ โดยไม่มีเงื่อนไขในการเรียกเก็บค่า รักษาพยาบาล ได้รับการรักษาโดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายภายใน 72 ชั่วโมง "เลขาฯสพฉ.กล่าว
ร.อ.อ.นพ.อัจฉริยะ กล่าวอีกว่า สำหรับนโยบายการปฏิรูปการแพทย์ฉุกเฉิน มีเรื่องหลักๆ คือ การปรับระบบการให้บริการ โดยเฉพาะ การลดความแออัดของห้องฉุกเฉินร่วมกับสถานพยาบาลภาครัฐ การผลักดันให้องค์กรปกครองท้องถิ่น(อปท.)เข้ามามีบทบาทในการดำเนินการด้านการแพทย์ฉุกเฉิน โดยให้องค์การบริหารส่วนจังหวัด(อบจ.)เป็นหน่วยรับแจ้งเหตุฉุกเฉิน ให้องค์การบริหารส่วนตำบล(อบต.)/เทศบาลเป็นหน่วยออกรถฉุกเฉินดูแลพี่น้องประชาชนอย่างใกล้ชิด การพัฒนาบุคลากรด้านการแพทย์ฉุกเฉินขั้นสูง ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของหลายโครงการที่สพฉ.กำลังจะช่วยให้พี่น้องประชาชนได้รับการบริการที่รวดเร็วขึ้น แผนพัฒนาต่อไปหลัก ไม่ใช่เพียงแค่การขับเคลื่อนหน่วยอื่นเท่านั้น สพฉ.เองต้องมีการพัฒนาด้วย โดยขณะนี้อยู่ระหว่างการปรับตัวให้เข้าสู่มาตรฐานสากล ซึ่งกำลังดำเนินการเข้าสู่การตรวจรับรอง ISO 9001:2015 หากผลตรวจผ่านมาตรฐาน ถือเป็นบันไดขั้นแรก ในการพัฒนาไปสู่มาตรฐานสากล
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับอาการเจ็บป่วยที่สามารถใช้สิทธิยูเซ็ป ตามเกณฑ์การคัดแยกผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤติ (สีแดง) ของ สพฉ.แบ่งเป็น 6 อาการ ได้แก่ 1.หมดสติ ไม่รู้สึกตัว ไม่หายใจ 2.หายใจเร็ว หอบเหนื่อยรุนแรง หายใจติดขัดมีเสียงดัง 3.มีอาการซึม เหงื่อแตก ตัวเย็น หรือมีอาการชักร่วม 4.เจ็บหน้าอกเฉียบพลัน รุนแรง 5.แขนขาอ่อนแรงครึ่งซีก พูดไม่ชัด หรือชักต่อเนื่อง และ 6.มีอาการที่มีผลต่อการหายใจ ระบบการไหลเวียนโลหิต หรือระบบสมอง โดยที่ผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤต (สีแดง) ทุกคนมีสิทธิรับการรักษาพยาบาลจากสถานพยาบาลภาครัฐ และเอกชนทุกแห่งโดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายใดๆทั้งสิ้นในระยะเวลา 72 ชั่วโมงแรก แต่หากพ้นระยะเวลา 72 ชั่วโมง หรือผู้ป่วยพ้นจากขีดอันตรายแล้ว สถานพยาบาลสามารถส่งตัวผู้ป่วยไปรักษายังโรงพยาบาลตามสิทธิของผู้ป่วยเพื่อเข้าสู่ระบบปกติของการรักษาพยาบาลจากกองทุนสุขภาพต่างๆ