‘อาเซียนซัมมิท’ ชูธง ‘กรีนมิตติ้ง’ เต็มรูปแบบ
การประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 35 และการประชุมที่เกี่ยวข้อง ซึ่งจะมีขึ้นในระหว่างวันที่ 31 ตุลาคม – 4 พฤศจิกายน 2562 มีคอนเซปต์ที่ชัดเจน ในการเป็นเวทีการประชุมที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม หรือกรีนมิตติ้ง (Green Meeting)
งานนี้ได้ศูนย์วิจัยและนวัตกรรมเพื่อความยั่งยืน หรืออาร์ไอเอสซี (Research & Innovation for Sustainability Center - RISC) ภายใต้บริษัท แมกโนเลีย ควอลิตี้ ดีเวล็อปเม้นต์ คอร์ปอเรชั่น ร่วมเป็นพาร์ทเนอร์ที่สำคัญ ตอกย้ำบทบาทประเทศไทยในเรื่องการพัฒนาที่ยั่งยืน
สฤกกา พงษ์สุวรรณ ผู้อำนวยการศูนย์อาร์ไอเอสซีให้สัมภาษณ์พิเศษว่า อาร์ไอเอสซีได้เข้าไปมีบทบาทในการให้คำปรึกษาและสนับสนุนการดำเนินงานของกระทรวงการต่างประเทศ ในเรื่องการนำแนวคิดเรื่อง “ความยั่งยืน”ซึ่งเป็นองค์ประกอบสำคัญของธีมหลักในปีที่ไทยเป็นประธานอาเซียนที่ว่า “ร่วมมือ ร่วมใจ ก้าวไกล ยั่งยืน” มาทำการดัดแปลงเป็นรายละเอียดแผนงานด้านการดูแลและต้อนรับในการประชุมอาเซียนซัมมิทให้เห็นเป็นรูปธรรมมากที่สุด
การจัดประชุมครั้งนี้เป็นเวทีการประชุมที่เรียกว่า กรีนมิตติ้ง ซึ่งต้องดีกับสุขภาพ และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ตามแนวทางการสร้างระบบเศรษฐกิจหมุนเวียนเพื่อก้าวบรรลุเป้าหมายเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs)
สฤกกา เล่าว่า ทางคณะผู้จัดงานได้จัดทำแผนงานอย่างละเอียดตั้งแต่การเลือกประเภทอาหารว่า จะต้องไม่เป็นโทษต่อสุขภาพของผู้นำ และแขกที่มาร่วมงาน ขณะเดียวกัน ภาชนะบรรจุภัณฑ์ที่ใช้ก็ต้องเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม หรือหากเป็นไปได้จะต้องไม่ใช้ภาชนะที่ใช้แบบครั้งเดียว (No to single-use) ซึ่งอาร์ไอเอสซีต้องการให้ใช้ภาชนะบรรจุภัณฑ์ที่เป็นธรรมชาติโดยมุ่งลดการใช้พลาสติกให้มากที่สุด
ขณะที่งานด้านประชาสัมพันธ์ จะเห็นว่า ในการจัดประชุมอาเซียนตลอดทั้งปีมีการทำป้ายประชาสัมพันธ์จำนวนมาก ซึ่งทางอาร์ไอเอสซีกับกระทรวงการต่างประเทศได้มองถึงความเป็นไปได้ ในการลดใช้ป้ายประชาสัมพันธ์แบบพลาสติกไวนิลให้มากที่สุด
แม้ว่า ป้ายประชาสัมพันธ์ส่วนใหญ่เปลี่ยนมาใช้เป็นป้ายดิจิทัลแทน แต่พื้นที่บางจุดยังจำเป็นต้องใช้ป้ายพลาสติกแบบเดิมอยู่บ้าง แต่นั่นหมายถึงคณะผู้จัดงานมีความมุ่งมั่นให้การประชุมอาเซียนเป็นต้นแบบงานประชุมที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ยืนยันประเทศที่มีบทบาทนำตามแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน ร่วมผลักดัน 10 ประเทศสมาชิกอาเซียนสู่เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของยูเอ็น
“ในการประชุมแต่ละครั้ง จะเห็นได้ว่า มีอาหาร น้ำดื่ม ภาชนะใส่อาหารรวมไปถึงป้ายประชาสัมพันธ์ที่ใช้ผ้าใบไวนิลถูกนำมาใช้และเหลือทิ้งมากมาย ดังนั้นการจัดประชุมแบบกรีนมิตติ้งจะต้องเป็นไปตามแนวทาง 3 R ประกอบด้วย Reduce Reuse Recycle คือการลดใช้พลาสติกที่ทิ้งแล้วเป็นขยะ การนำกลับมาใช้ใหม่ และการนำวัสดุเหลือใช้นำมาแปรสภาพและเพิ่มคุณค่าจากเดิม” ผู้อำนวยการอาร์ไอเอสซี กล่าวย้ำ
สฤกกา กล่าวอีกว่าการจัดเตรียมของขวัญของชำร่วยสำหรับมอบให้กับผู้นำ และแขกที่มาร่วมงานประชุมอาเซียนซัมมิทก็เป็นงานที่มีความสำคัญไม่แพ้กัน ซึ่งทางทีมผู้จัดงานยังคงตั้งโจทย์สำคัญไว้ในเรื่องความยั่งยืนไว้ดังนั้นอาร์ไอเอสซีได้เกิดไอเดียจะจัดของขวัญของชำร่วยผู้นำจากวัสดุเหลือใช้ในการประชุมอาเซียนที่จัดขึ้นก่อนหน้านี้ ในลักษณะการต่อยอดเพิ่มมูลค่า
นี่จึงเป็นที่มาของการนำแผ่นป้ายประชาสัมพันธ์ไวนิลที่มองว่าเป็นขยะไร้ค่านำกลับมาใช้ใหม่ ด้วยการออกแบบ ตัดเย็บเพื่อประดิษฐ์เป็น “กระเป๋ารีไซเคิลที่สะท้อนแนวคิดรักษาสิ่งแวดล้อมและความยั่งยืน” ให้กับผู้นำประเทศต่างๆที่จะเดินทางมาร่วมการประชุมอาเซียนซัมมิทครั้งที่35
ทางกระทรวงการต่างประเทศได้รวบรวมป้ายประชาสัมพันธ์ไวนิลจากการประชุมสุดยอดอาเซียนครั้งที่ 34 และประชุมที่เกี่ยวข้องซึ่งจัดขึ้นก่อนหน้านี้ นำมาให้กับอาร์ไอเอสซี เพื่อออกแบบและตัดเย็บเป็นกระเป๋าที่มีกลิ่นไอแนวสตรีทแฟชั่น คล้ายกับสไตล์กระเป๋าแบรนด์ไฟร-ทาร์ก(Freitag) ซึ่งขึ้นชื่อว่า เป็นกระเป๋ารักษ์โลกที่วัยรุ่นทั่วโลกกำลังนิยมมากอยู่ตอนนี้
“กระเป๋ารีไซเคิลจากป้ายประชาสัมพันธ์ไวนิลของการประชุมอาเซียนได้ทำขึ้นมาให้ตอบโจทย์ในเรื่องการรีไซเคิลสิ่งของเหลือใช้ใและเพิ่มมูลค่าในตัวเองแต่ด้วยคุณสมบัติความเป็นผืนผ้าใบไวนิลไม่ได้รองรับน้ำหนักมากเท่าไรนัก ดังนั้นอาร์ไอเอสซีจึงต้องทำการออกแบบจัดวางแพทเทิร์นกระเป๋าให้คงทนแข็งแรงขึ้น มีรูปแบบน่าใช้งาน ฟังก์ชันต้องดี และมีคุณค่าต่อความรู้สึกของผู้รับ รวมไปถึงสามารถนำมาใช้ในหลายๆโอกาสต่อไป” สฤกกาเล่า
สิ่งสำคัญของการจัดทำกระเป๋ารีไซเคิลจากป้ายไวนิล คือการทำให้ผู้นำอีก 9 ชาติสมาชิกอาเซียนได้เห็นว่า ป้ายประชาสัมพันธ์จากการประชุมอาเซียนซัมมิทครั้งที่34 ถูกนำมาใช้ประโยชน์ เห็นเป็นรูปธรรมจับต้องได้ ใช้งานได้จริง และมีคุณค่ามากขึ้นกว่าเดิม เพราะการที่สามารถทำให้ผู้รับรู้สึกอยากใช้กระเป๋านี้ก็นับว่าประสบความสำเร็จแล้ว
สำหรับกระเป๋าที่จัดทำขึ้นมามี 2 รูปแบบ ได้แก่ กระเป๋าสำหรับใส่คอมพิวเตอร์โน้ตบุ๊ค และกระเป๋าถือพร้อมสะพายไหล่ สามารถใช้ได้ทั้งผู้ชายผู้หญิง ซึ่งจัดทำเพียง 200 ใบเท่านั้น สิ่งสำคัญที่สุด อาร์ไอเอสซีต้องการอยากให้ผู้รับได้นำไปใช้ประโยชน์ได้จริง เพราะถ้าหากนำไปมอบให้แล้ว และถูกวางทิ้ง ก็จะกลายเป็นขยะ ผิดคอนเซปต์ที่วางไว้
ในตอนท้ายสฤกกา กล่าวว่า กระเป๋าที่จัดทำขึ้นมามีเพียงแบบละหนึ่งใบในโลก และยิ่งเป็นกระเป๋าที่จัดทำขึ้นเฉพาะให้กับผู้นำ เป็นความท้าทายให้กับอาร์ไอเอสซีต้องคิดดีไซน์และตัดเย็บอย่างปราณีต เพื่อวางแพทเทิร์นจัดเรียงลวดลายทั้งตราสัญลักษณ์อาเซียนที่เป็นรูปพวงมาลัยสีเปลือกมังคุดและภาพธงชาติของประเทศนั้นๆในตำแหน่งที่เหมาะสม ถือว่าเป็นขั้นตอนยากที่สุด แต่สร้างความประทับใจให้กับผู้รับมากที่สุดเช่นกัน