มูลค่ากัลฟ์- ปตท. พุ่ง หลังคว้าสัญญามาบตาพุดเฟส 3
กลายเป็นกลุ่มทุนที่คว้าสัญญาแรกในพื้นที่อีอีซีที่มีถึง 5 โครงการมูลค่าร่วม 2 แสนกว่าล้านบาท กับโครงการท่าเรือมาบตาพุดเฟส 3 ตกเป็นของ บริษัท กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) หรือ GULF จับมือกับ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) หรือ PTT
ท่ามกลางไร้คู่แข่งในการประมูลจนทำให้โครงการดังกล่าวจึงตกมาอยู่ในมือของสองกลุ่มทุนนี้ได้อย่างง่ายดาย เมื่อเปรียบเทียบกับโครงการอื่นๆในอีอีซี ไม่ว่ารถไฟฟ้าความเร็วสูงคู่แข่งแข็งเกินเบอร์ เมื่อชนะประมูลแล้วกลุ่มซีพียังยื้อเซ็นสัญญาจนถึงทุกวันนี้ หรือ
แม้แต่การประมูลท่าเรือแหลมฉบังเฟส 3 ที่กลุ่มกัลฟ์และปตท.จะจับมือกันประมูลเหมือนเดิมแต่ดันเจอคู่แข่งที่แข็งเช่นกันคือกลุ่ม NCP เป็นการรวมกันของ บริษัทลูก พลังงานบริสุทธิ์ จำกัด (มหาชน) หรือ EA ,บริษัท พริมา มารีน จำกัด (มหาชน) หรือ PRM และทุนจากจีนซึ่งถูกตัดสินกรณีกรอกข้อมูลไม่ครบถ้วนช่วงยื่นซองประมูลจนยื้ดเยื้อไปถึงศาลปกครองให้พิจารณาคืนสิทธิการประมูลใหม่
ขณะที่การเดินหน้าท่าเรือมาบตาพุดเฟส 3 กลับราบรื่นและจรดปากกาสัญญาอย่างเป็นทางการไปแล้วเมื่อวานนี้ (1 ต.ค.) ภายใต้การลงทุนทั้งโครงการรวม 55,400 ล้านบาท ระยะเวลา 30 ปี โดยมีบริษัมร่วมทุนดำเนินการ บริษัท กัลฟ์ เอ็มทีพี แอลเอ็นจี เทอร์มินอล จำกัด ประกอบไปด้วย กัลฟ์ถือหุ้น 70 % คิดเป็นสัดส่วนลงทุน 13,000 ล้านบาท และปตท. ถือลงทุน 30 % คิดเป็นสัดส่วนลงทุน 9,100 ล้านบาท
ความน่าสนใจอยู่ที่ทำไมสองยักษ์ใหญ่ในวงการพลังงานของไทยและพลังงานทดแทนถึงสนใจเข้าร่วมประมูลในครั้งนี้ และขุมทรัพย์จากโครงการดังกล่าวส่งผลดีอย่างไรต่อทั้งสองกลุ่ม ซึ่งภาพที่ชัดเจนคือกลุ่ม ปตท. ย่อมได้ประโยชน์อย่างชัดเจนจากในหลายมิติ
จากการเป็นขาใหญ่ในพื้นที่ในอีอีซี ซึ่งเป็นจุดยุทธศาสตร์ใหญ่ของกลุ่มปตท. ที่ต้องมีชื่อเข้าร่วมไม่ทางตรงก็ต้องทางอ้อมด้วย เนื่องจากทั้งเครือมีการลงทุนในธุรกิจปิโตรเคมี ธุรกิจโรงกลั่น ธุรกิจก๊าซ ท่อก๊าซ มูลค่ามหาศาลในพื้นทีดังกล่าว นอกจากนี้ยังมีธุรกิจบริหารท่าเรือในหลายประเภท ทั้งท่าเรือขนส่งสินค้าเหลว ท่าเรือรับ-ส่งก๊าซธรรมชาติ และท่าเรือตู้สินค้า ขณะที่ท่าเรือแหลมฉบังคือท่าเทียบเรือตู้ขนส่งสินค้า ซึ่งปัจจุบัน ปตท.มีการส่งออกสินค้าในท่าเทียบเรือตู้ขนส่งสินค้าปริมาณมากอยู่แล้ว จึงทำให้ปตท. กล้าที่จะเสี่ยงต้องอยากชนะการประมูลในโครงการนี้
ที่สำคัญปตท. ยังเป็นรายเดียวที่นำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลว หรือ LNG แต่เพียงผู้เดียวจึงทำให้ขุมทรัพย์ที่ใหญ่ขนาดนี้ไม่มีทางที่ ปตท. จะปล่อยให้หลุดมือไป เนื่องจากโครงการท่าเรือมาบตาพุดจะมีการก่อสร้าง ท่าเทียบเรือก๊าซและสถานีรับ-จ่ายก๊าซธรรมชาติเหลวที่สามารถขยายกำลังการขนส่งไปได้ถึง 10.8 ล้านตันต่อปี
ตามโครงการมีการลงทุนเป็น 2 ช่วง ช่วงแรก 47,900 ล้านบาท เอกชนลงทุน 35,000 ล้านบาท ซึ่งกัลฟ์ประเมินงานก่อสร้างประมาณ 40,900 ล้านบาท แบ่งเป็น 1 งานออกแบบและก่อสร้าง โครงสร้างพื้นฐาน (Infrastructure) ได้แก่ งานขุดลอกและถมทะเลในพื้นที่ประมาณ 1,000 ไร่ มูลค่าประมาณ 12,900 ล้านบาท ใช้เวลาก่อสร้างไม่เกิน 3 ปีหรือแล้วเสร็จภายในปี 2566
และช่วงที่ 2 สิทธิก่อสร้างท่าเทียบเรือก๊าซและสถานีรับ-จ่ายก๊าซธรรมชาติเหลว (Superstructure) บนพื้นที่ถมทะเลประมาณ 200 ไร่ ลงทุนประมาณ 7,500 ล้านบาท เพื่อรองรับปริมาณการขนถ่ายก๊าซธรรมชาติเหลวไม่ต่ำกว่า5 ล้านตันต่อปี(สำหรับท่าเรือก๊าซส่วนแรก) และส่วน ขยายไปจนถึง 10.8 ล้านตันต่อปี โดยท่าเรือก๊าซส่วนแรกมีมูลค่าประมาณไม่เกิน 28,000 ล้านบาท ซึ่งคาดว่าจะ พร้อมเปิดดำเนินการประมาณปี 2568
ด้าน กัลฟ์ ประกาศชัดเจนต้องการเข้ามาเพิ่มพอร์ตรายได้จากการลงทุนว่าจะเป็นโครงการในอีอีซี โครงการทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง (มอเตอร์เวย์) สายบางปะอิน-นครราชสีมา (M6) และสายบางใหญ่- กาญจนบุรี (M81) ซึ่งร่วมกับกลุ่มบีทีเอสและพันธมิตร
โดยเฉพาะธุรกิจ LNG ที่แทบไม่มีคู่แข่งมีเพียงแค่ ปตท. ที่กินส่วนแบ่งทั้งหมด ซึ่งจะกลายเป็นสตอรี่ให้กับธุรกิจเชิงหุ้นเติบโตในอนาคตจากโครงการจะแล้วเสร็จในปี 2566 และ 2568ตามลำดับ ซึ่งระหว่างนี้กัลฟ์ยังมีประเด็นขยายกำลังผลิตไฟฟ้า ทะลุ 5,000 เมกะวัตต์ ใน 5 ปีข้างหน้าปัจจุบันที่ 2,583 เมกะวัตต์ขึ้นเป็น 6,878 เมกะวัตต์ ไว้ให้นักลงทุนเก็งกำไรหุ้นกันต่อ