สทนช.เร่งแผนบริหารฯทรัพยากรน้ำและแผนปฏิบัติการ 5 ปีลุ่มน้ำยมภายในก.พ.63
เล็งเป้าลดผลกระทบท่วม-แล้งระยะยาว, ย้ำภาคประชาชนต้องมีส่วนร่วมก่อนคลอดแผน
สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ติดตามความก้าวหน้าโครงการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำพื้นที่ลุ่มน้ำยม รวมทั้งโครงการสะเอียบโมเดล ทางเลือกในการสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้นที่ถูกคัดค้านในพื้นที่และต้องระงับไป เพื่อติดตามความก้าวหน้าโครงการจัดการน้ำชุมชนขนาดเล็ก ที่กระจายทั่วในพื้นที่ลุ่มน้ำยม เพื่อแก้ไขปัญหาภัยแล้งและอุทกภัยอย่างยั่งยืน
โดยเลขาธิการสทนช. ดร.สมเกียรติ ประจำวงษ์เปิดเผยว่า รัฐบาลมีนโยบายบริหารจัดการทรัพยากรน้ำเพื่อลดความเหลื่อมล้ำ ซึ่งแบ่งกรอบการแก้ปัญหาเป็น 2 ส่วนได้แก่การแก้ปัญหาเฉพาะหน้าและการวางรากฐาน
ซึ่งการแก้ปัญหาระยะยาวนี้ จะกําหนดพื้นที่ที่มีปัญหาท่วม-แล้งซ้ำซากและพื้นที่พัฒนาพิเศษ เป็นการบริหารจัดการน้ำเชิงพื้นที่(Area Based) 66 พื้นที่ครอบคลุมพื้นที่35.09 ล้านไร่ ซึ่งต่างไปจากการแบ่งพื้นที่โดยทางปกครองเพราะเป็นไปตามสภาพธรรมชาติลุ่มน้ำและปัญหา โดยสทนช. ให้ความสำคัญในการแก้ไขปัญหาในระดับลุ่มน้ำที่จำเป็นต้องมีการศึกษาเพื่อวางแผนให้เหมาะสมและเกิดประสิทธิภาพสูงสุด
ขณะนี้ สทนช.อยู่ระหว่างดำเนินโครงการศึกษาเพื่อจัดทำ"แผนหลักการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ" กลุ่มลุ่มน้ำเจ้าพระยาใหญ่ ซึ่งประกอบด้วยลุ่มน้ำสาละวิน โขงเหนือ ปิง วัง ยม น่าน เจ้าพระยาท่าจีน สะแกกรัง และป่าสัก และ"แผนปฏิบัติการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ5 ปี"โดยมีกำหนดแล้วเสร็จภายในกุมภาพันธ์2563 ซึ่งสอดคล้องตามแผนแม่บทการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ20 ปี
ทั้งนี้ จากการประชุมรับฟังความคิดเห็นจากทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องจำนวน2 ครั้ง และการประชุมคณะกรรมการลุ่มน้ำ ซึ่งถือว่าเป็นส่วนสำคัญในการพิจารณาความเหมาะสมของโครงการพัฒนาแหล่งน้ำในพื้นที่ สทนช. จะนำมาประกอบการพิจารณาจัดทำแผนหลักการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำกลุ่มลุ่มน้ำเจ้าพระยาใหญ่ โดยจัดลำดับความสำคัญของโครงการตามที่สทนช.รวบรวมจากหน่วยงานต่างๆที่เกี่ยวข้องกลุ่มเจ้าพระยาใหญ่ ซึ่งมีทั้งหมด 19,234 โครงการ โดยอยู่ในลุ่มน้ำยม1,263 โครงการ
ทั้งนี้ สทนช. จะนำผลการพิจารณาหลักเกณฑ์ที่จะนำไปจัดลำดับความสำคัญของโครงการในพื้นที่ลุ่มน้ำยม และจัดทำแผนหลักในการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำลุ่มน้ำยมที่เหมาะสมให้แล้วเสร็จภายในเดือนกุมภาพันธ์2563 เพื่อนำไปสู่แผนปฏิบัติการและขับเคลื่อนโดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในแก้ไขปัญหาด้านน้ำของลุ่มน้ำยมโดยเร็วต่อไป
“แม้ว่าลุ่มน้ำยมยังคงประสบปัญหาทั้งน้ำท่วมและน้ำแล้ง จากสภาพพื้นที่และอากาศที่เปลี่ยนแปลงในปัจจุบัน โดยพื้นที่ตอนบนของลุ่มน้ำยมมีพื้นที่เสี่ยงภัยแล้งและน้ำท่วมประมาณ1.4 ล้านไร่ และพื้นที่เสี่ยงน้ำท่วม4 ล้านไร่ แต่ก็มีแนวโน้มความเสียหายที่ลดลงจากอดีตเนื่องจากการพัฒนาระบบการบริหารจัดการน้ำในระหว่างที่รอโครงการขนาดใหญ่" ดร.สมเกียรติกล่าว
ดร.สมเกียรติกล่าวต่อว่า รัฐบาลได้จัดทำโครงการทุ่งรับน้ำหลากตั้งแต่ปี2560 ในพื้นที่ลุ่มน้ำยมซึ่งไม่มีเขื่อนขนาดใหญ่ ได้แก่ โครงการบางระกำโมเดล มีพื้นที่รวมประมาณ530,000 ไร่สามารถหน่วงน้ำได้สูงสุด550 ล้านลูกบาศก์เมตร เพื่อบรรเทาปัญหาน้ำท่วมและน้ำแล้ง
ขณะเดียวกัน ยังมีแผนการดำเนินการระยะยาวโดยสร้าง"เครื่องมือการบริหารจัดการน้ำ" เพื่อแก้ไขปัญหาน้ำท่วม-น้ำแล้งในอนาคตที่สำคัญตามแผนแม่บทฯที่ช่วยบรรเทาปัญหาน้ำท่วม-น้ำแล้งในพื้นที่ลุ่มน้ำยม จำนวน 1,267 โครงการ ซึ่งจะสามารถบรรเทาพื้นที่ภัยแล้งได้220,000 ไร่ และบรรเทาพื้นที่น้ำท่วม160,000 ไร่ อาทิโครงการปรับปรุงคลองยม-น่าน โครงการเพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำคลองฝั่งซ้ายและคลองฝั่งขวาเชื่อมแม่น้ำยมจ.สุโขทัย เป็นต้น
ซึ่งจังหวัดแพร่ มีแผนงานตามแผนแม่บทที่ช่วยบรรเทาปัญหาน้ำท่วม-น้ำแล้งจำนวน 327 โครงการ สามารถบรรเทาพื้นที่ภัยแล้งได้62,000 ไร่ และบรรเทาพื้นที่น้ำท่วม18,000 ไร่ ดร.สมเกียรติกล่าว