แผนสร้างโรงไฟฟ้าตะวันตกคืบ ราชกรุ๊ป มั่นใจได้พันธมิตรสิ้นปีนี้
“ราช กรุ๊ป” ยังไม่สรุปแผนจัดหาก๊าซฯป้อน 2 โรงไฟฟ้าภาคตะวันตก แย้มเจรจารายหลาย ไม่ใช่แค่ ปตท. พร้อมเล็งนำเข้าหากรัฐเปิดเสรีเต็มรูปแบบ คาดสิ้นปีนี้สรุปพันธมิตรร่วมถือหุ้น พร้อมลุ้นปิดดีลซื้อโรงไฟฟ้าเพิ่มอย่างน้อย 1 โครงการ
นายกิจจา ศรีพัฑฒางกุระ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ราช กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ RATCH เปิดเผยว่า แผนการจัดซื้อก๊าซธรรมชาติ เพื่อป้อนเป็นเชื้อเพลิงในโครงการโรงไฟฟ้าหินกอง ต.หินกอง อ.เมือง จ.ราชบุรี กำลังผลิต 1,400 เมกะวัตต์ ที่บริษัทได้รับสิทธิจากภาครัฐให้เป็นผู้ดำเนินการก่อสร้างโรงไฟฟ้าเพื่อความมั่นคงในพื้นที่ภาคตะวันตก ที่กำหนดจ่ายไฟฟาเข้าระบบเชิงพาณิชย์(COD) ปี 2567-2568 ตามแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศ ปี2561-2580(PDP 2018)นั้น
ขณะนี้ บริษัทยังไม่ตัดสินใจลงนามสัญญาซื้อขายก๊าซธรรมชาติ(Gas Sales Agreement : GSA) กับ บริษัท ปตท.จำกัด(มหาชน) เพราะยังอยู่ระหว่างเจรจาเงื่อนไขที่ดีสุดเพื่อให้มีต้นทุนผลิตไฟฟ้าต่ำสุด ซึ่งบริษัทไม่ได้เจรจาซื้อก๊าซฯกับปตท.เพียงรายเดียว แต่มีผู้ที่เสนอขายก๊าซธรรมชาติเหลว(LNG) เข้ามาหลายราย ขณะเดียวกันบริษัท ยังมองถึงโอกาสที่จะนำเข้าLNGเองด้วย หากรัฐมีแผนเปิดเสรีก๊าซฯเต็มรูปแบบ คาดว่าต้องใช้ระยะเวลาพอสมควรจึงจะมีความชัดเจนในเรื่องนี้
ส่วนความคืบหน้าการหาพันธมิตรร่วมลงทุนใน 2โ รงไฟฟ้าดังกล่าว คาดว่า จะได้สรุปโครงสร้างผู้ถือหุ้นภายในสิ้นปีนี้ โดยปัจจุบัน โครงการดังกล่าวอยู่ระหว่างจัดทำรายงานผลกระทบผลกระทบเพื่อสิ่งแวดล้อม(EIA)ทั้งในส่วนโรงไฟฟ้าและท่อก๊าซฯใหม่ คาดว่าจะได้รับใบอนุญาตในปีหน้า จากนั้นจะดำเนินการก่อสร้างให้แล้วเสร็จตามกำหนด
สำหรับแผนการเข้าซื้อกิจการโรงไฟฟ้า คาดว่า จะได้ข้อสรุปอย่างน้อย 1 โครงการ ซึ่งปัจจุบัน ยังมองหาโอกาสเข้าร่วมประมูลโครงการใหม่ทั้งพลังงานทดแทน และเชื้อเพลิงฟอสซิล โดยจะเน้นการเข้าซื้อกิจการที่เป็นโครงการโรงไฟฟ้าที่ได้รับใบอนุญาตซื้อขายไฟฟ้า(PPA)แล้ว แต่ยังไม่ได้ก่อสร้าง หรือ อยู่ระหว่างดำเนินการก่อสร้าง เพื่อสร้างรายได้ในทันที รวมถึง บริษัทยังสนใจลงทุนโรงไฟฟ้าทุกรูปแบบในประเทศเวียดนาม เนื่องจากมีความต้องการใช้ไฟฟ้าเติบโตอีกมาก ขณะนี้อยู่ระหว่างเจรจาในหลายโครงการ คาดว่าจะมีความัดเจนในปีหน้า
นายกิจจา ยังกล่าวถึง กรณีบริษัท ไทยลาวลิกไนท์ จำกัด เป็นโจทก์ยื่นฟ้องคดีแพ่ง โดยกล่าวอ้างว่าบริษัทราชกรุ๊ป ละเมิดความลับทางการค้าของโจทย์ในการดำเนินโครงการโรงไฟฟ้าพลังความร้อนหงสาในประเทศลาว เป็นวงเงิน 6,457.09 ล้านบาทนั้น ทางบริษัท จะยื่นข้อมูลต่อศาลในต้นเดือนตุลาคมนี้ และในเดือนถัดไป ศาลจะเรียกโจทย์เพื่อสอบคดี โดยยืนยันว่า บริษัท ไม่ได้กระทำการตามที่โจทย์กล่าวอ้างในคำฟ้อง ฉะนั้น ยังไม่ได้มีการตั้งสำรองเงิน หรือบันทึกประมาณการหนี้สินที่อาจจะเกิดขึ้นไว้ในบัญชีของบริษัทแต่อย่างใด
สำหรับ โรงไฟฟ้าหงสา ปัจจุบัน เดินเครื่องผลิตได้ตามเป้าหมายที่วางไว้ 85-86% ของกำลังการผลิต และในปี2563 จะมีการปิดซ่อมบำรุงโรงไฟฟ้าใหญ่ราว 50-60 วัน
ส่วนโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานน้ำเซเปียน-เซน้ำน้อย ในประเทศลาว กำลังผลิต 410 เมกะวัตต์ มั่นใจว่า จะสามารถ COD ได้ภายในสิ้นปีนี้ จากกำหนดการเดิมในเดือนก.พ. 2562 หลังเกิดเหตุการณ์เขื่อนดินกั้นช่องเขาส่วน D (saddle Dam D)แตก เมื่อวันที่ 23 ก.ค.2561 ที่ผ่านมา โดยโครงการนี้มีสัญญาซื้ขายไฟฟ้าให้กับ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแหงประเทศไทย(กฟผ.) ปริมาณ 350 เมกะวัตต์ ซึ่งจะทำให้บริษัทเริ่มทยอยรับรู้รายได้ตั้งแต่ไตรมาส 4ปีนี้ ตามสัดส่วนการถือหุ้น และรับรู้รายได้เต็มปีในปีหน้า
ทั้งนี้ โครงสร้างการถือหุ้นโรงไฟฟ้าเซเปียน-เซน้ำน้อย ประกอบด้วย ผลิตไฟฟ้าราชบุรี 25% SK Engineering & Construction Company Limited สัดส่วน 26% Korea Western Power Company Limited สัดส่วน 25% และรัฐบาลลาว 24%