60มหา'ลัยระดับโลก ร่วมมธ.ดันเศรษฐกิสร้างสรรค์ รับยุทธศาสตร์ชาติ
มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โดยคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี ดึงมหาวิทยาลัยชั้นนำกว่า 60 แห่งทั่วโลกในเครือข่ายพันธมิตรทางการบริหารเข้าประชุมนานาชาติครั้งแรกในไทย รับลูกรัฐผลักดันเศรษฐกิจสร้างสรรค์ ตอบโจทย์ยุทธศาสตร์ชาติ
หวังหาแนวทางที่เหมาะสมและสร้างเครือข่ายทั่วโลกผ่านการแลกเปลี่ยนประสบการณ์ของผู้บริหารและนักบริหารการศึกษาระดับสูง
รองศาสตราจารย์ ดร.พิภพ อุดร คณบดีคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เปิดเผยว่าคณะพาณิชย์ฯ จะเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมนานาชาติเครือข่ายพันธมิตรการบริหารระหว่างประเทศ (Partnership in International Management-PIM) ในระหว่างวันที่ 23-25 ตุลาคม 2562 เพื่อระดมสมองผู้บริหารระดับสูงและนักการศึกษาจากมหาวิทยาลัยชั้นนำทั่วโลกจำนวนกว่า 120 คนจาก 60 มหาวิทยาลัยชั้นนำเพื่อร่วมกันแสวงหาแนวทางเศรษฐกิจสร้างสรรค์สำหรับประเทศไทยและตอบโจทย์ยุทธศาสตร์ชาติระยะ 20 ปีของรัฐบาล
ต้องยอมรับว่าเศรษฐกิจสร้างสรรค์มีขนาดใหญ่มากและมีการเติบโตอย่างรวดเร็วตามการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยี เมื่อ 20 ปีก่อนหน้านี้ธุรกิจหลายอย่างไม่เคยปรากฏให้เห็นมาก่อนเลย แต่บัดนี้ธุรกิจในกลุ่มนี้ได้กลายมาเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตเราไปแล้ว ทั้งในภาคการค้า การเงิน การบันเทิง การบริการ รวมทั้งธุรกิจการแบ่งปัน ธุรกิจต่างๆ เหล่านี้ถือได้ว่าเป็นธุรกิจสร้างสรรค์ที่ดึงดูดการลงทุนมหาศาลจากการที่ตลาดขยายตัวอย่างรวดเร็วทั้งระดับภูมิภาคและระดับโลก เราอยากจะเห็นการเกิดขึ้นของธุรกิจอย่างนี้ในประเทศไทย ขณะนี้นับว่าเรายังค่อนข้างช้าเมื่อเทียบกับประเทศเพื่อนบ้านในการสร้างธุรกิจในกลุ่มนี้ให้กลายเป็นธุรกิจขนาดใหญ่ที่สามารถระดมทุนได้ในระดับพันล้านเหรียญ หรือระดับ “ยูนิคอร์น”
"ด้วยเหตุที่คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เป็นสถาบันการศึกษาเพียงแห่งเดียวในประเทศไทยที่ได้รับเลือกให้เป็นสมาชิกของ PIM หรือเครือข่ายพันธมิตรการบริหารระหว่างประเทศที่ประกอบด้วยสมาชิกที่เป็นมหาวิทยาลัยชั้นนำทั่วโลกรวม 65 แห่ง เราจึงจะเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมนานาชาติในกลุ่มพันธมิตรที่กรุงเทพในระหว่างวันที่ 23-25 ตุลาคมนี้ เพื่อระดมความคิดและประสบการณ์จากผู้บริหารสถาบันการศึกษาชั้นนำเหล่านี้มาช่วยผลักดันการสร้างเศรษฐกิจเชิงสร้างสรรค์สำหรับประเทศไทย” ดร.พิภพ อุดร กล่าว
เรื่องเศรษฐกิจสร้างสรรค์นับว่าเป็นความหวังของประเทศและของรัฐบาลในการสร้าง S-Curveใหม่ตามแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ซึ่งถือเป็นหนทางความอยู่รอดของประเทศ ไม่อย่างนั้นประเทศไทยจะถูกทิ้งไว้ข้างหลัง และไม่สามารถยกระดับรายได้ของประชาชน ความสำเร็จจะเกิดได้ต้องเดินไปพร้อมกันทั้งการพัฒนาเทคโนโลยี ทรัพยากรมนุษย์ และปัจจัยเกื้อหนุนอื่นๆ ที่แวดล้อม
"ในฐานะสถาบันการศึกษาถือว่าเรามีบทบาทสำคัญในการผลักดันทั้งด้านการผลิตบุคลากร และการสร้างเครือข่ายจากทั้งในและต่างประเทศเพื่อระดมกำลังในการสนับสนุน ไม่เช่นนั้นเศรษฐกิจสร้างสรรค์ก็จะยากจะประสบความสำเร็จ” คณบดีคณะพาณิชย์ฯ กล่าว
ทั้งนี้เครือข่ายพันธมิตรการบริหารระหว่างประเทศ (PIM) ก่อตั้งมาตั้งแต่ปี 1973 เป็นที่รวมของสมาชิกสถาบันการศึกษาด้านการบริหารธุรกิจชั้นนำของโลก แต่ละประเทศจะมีเพียงสถาบันการศึกษาเดียวที่ได้รับคัดเลือกให้เป็นสมาชิก และในอาเซียนเองก็มีแค่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และ SMU ของสิงคโปร์เท่านั้นที่เป็นสมาชิก ที่ผ่านมาเครือข่ายของ PIM ได้สร้างความร่วมมือระหว่างกันไปทั่วโลกทั้งการแลกเปลี่ยนนักศึกษา อาจารย์ การร่วมวิจัย การแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ในเรื่องการบริหาร การแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเชิงธุรกิจจากแต่ละภูมิภาค โดยกิจกรรมที่ทำทุกปีคือการประชุมประจำปีเพื่อแบ่งปันความรู้ระหว่างกัน กิจกรรมในระหว่างปีก็จะมีการสำรวจข้อมูลระหว่างกันเพื่อขยายช่องทางความร่วมมือด้านบริหารธุรกิจระหว่างกันด้วย
ด้าน ผศ. ดร.สุรัตน์ ทีรฆาภิบาล รองคณบดีฝ่ายวิเทศน์สัมพันธ์ ชี้แจงว่า การประชุมนานาชาติของ PIM ครั้งนี้เป็นครั้งที่ 46 และเป็นครั้งแรกที่ประเทศไทยได้รับการคัดเลือกให้เป็นเจ้าภาพ ถือได้ว่าคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ได้รับความเชื่อมั่นอย่างสูงจากมวลสมาชิก หลังจากที่คณะฯ ได้รับการรับรองมาตรฐานการศึกษาจาก 3 สถาบันระดับโลกหรือการรับรองระดับสามมงกุฎ (Triple Crown Accreditation) ทั้งจากสหรัฐอเมริกา สหภาพยุโรป และสหราชอาณาจักร
“ธรรมศาสตร์ถือโอกาสใช้การประชุมนานาชาติครั้งนี้เป็นเวทีระดมความคิดเรื่องเศรษฐกิจสร้างสรรค์ซึ่งจะเป็นประโยชน์อย่างมากสำหรับประเทศไทย เพราะเราจะได้ถอดบทเรียนจากสมาชิกกว่า 60 ประเทศมาสร้างกลไกผลักดันให้เศรษฐกิจสร้างสรรค์ของประเทศไทยเกิดได้อย่างเข้มแข็ง สมาชิกที่เข้าร่วมประชุมราว 120 คนส่วนใหญ่เป็นระดับอธิการบดี และคณบดีจากสถาบันการศึกษาชั้นนำ เป็นผู้ที่มีประสบการณ์หลากหลาย หลายท่านมาจากนักธุรกิจที่ประสบความสำเร็จและมีประสบการณ์ก่อตั้งหรือร่วมลงทุนในธุรกิจสร้างสรรค์ด้วย นับว่าจะเป็นประโยชน์อย่างมาก” ดร.สุรัตน์ กล่าวในที่สุด