อช.เขาใหญ่ เตรียมเดินเท้าเข้าพื้นที่ทดลองเก็บกู้ซากช้างตกน้ำตกเหวนรกตัวแรก
เตรียมใช้โดรนช่วยโรยปูนขาวบริเวณรอบๆ ป้องกันการแพร่เชื้อโรคของซากช้าง
นายครรชิต ศรีนพวรรณ หัวหน้าอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ ได้เปิดเผยว่า เจ้าหน้าที่อุทยานฯ และจิตอาสาวางแผนที่จะทดลองเข้าพื้นที่เพื่อไปยังซากช้างตัวแรกและทดลองทำการเก็บกู้ในวันพรุ่งนี้ หลังจากพบว่า ซากช้างตัวแรกได้ไหลลงมาเกินกว่าครึ่งทางระหว่างตัวน้ำตกกับอ่างเก็บน้ำแล้ว โดยระยะทางทั้งหมดมีประมาณ 5 กิโลเมตร
ทางอุทยานฯ จึงตัดสินใจที่จะลองดำเนินการเก็บกู้ซากโดยไม่ต้องรอให้ซากช้างไหลลงมาติดตาข่ายที่ได้วางเอาไว้ปากลำห้วยคลองต้นไทรที่อยู่ติดกับเขื่อนขุนด่านปราการชล โดยเกรงว่า ถ้าเอาแต่รอ อาจถูกตำหนิว่าไม่ทำอะไรเลย นายครรชิตกล่าว
อาสาสมัครจากสมาคมต่อต้านภัยพิบัติแห่งประเทศไทยได้ทดลองใช้โดรนบินสำรวจซากช้างตามลำน้ำตั้งแต่วันเสาร์ที่เกิดเหตุ และเมื่อเย็นวันจันทร์ ได้พบว่ามีซากช้างตายเพิ่มอีก 5 ตัว กระจายตามลำน้ำ ทั้งนี้ ทางเจ้าหน้าที่และอาสาฯ ได้นำโดรนขึ้นบินสำรวจซากช้างป่าที่ทราบแล้วว่าตกน้ำตกตายก่อนหน้านั้น 6 ตัว เพื่อวางแผนจัดการซาก โดยทำการบินตั้งแต่หน้าผาถึงท้ายน้ำ ระยะทางประมาณ 4 กิโลเมตร ในระดับการบินที่ต่ำราว 15 เมตรจากลำน้ำ จนกระทั่งได้พบซากช้างป่าเพิ่มอีก 5 ตัว
ซึ่งทางอุทยานฯ จึงได้เปิดแถลงข่าวหลังจากนำภาพถ่ายจากโดรนมาตรวจสอบพร้อมกับทางทีมสัตวแพทย์ เพื่อยืนยันว่าสิ่งที่พบในลำน้ำคือซากช้าง อย่างไรก็ตามในช่วงแรกเจ้าหน้าที่ยังไม่สามารถเดินเท้าเข้าพิสูจน์ทราบการเสียชีวิตในพื้นที่ได้ เพราะกระแสน้ำยังแรงมาก
ก่อนหน้านี้ ทางอุทยานฯ ได้รับข้อสั่งการจากกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืชให้ดำเนินการเก็บกู้ซากช้างขึ้นมาจากลำน้ำ เนื่องจากเกรงว่าอาจเกิดการแพร่กระจายของเชื้อโรคหากปล่อยให้ย่อยสลายไปตามธรรมชาติ ทั้งนี้ เนื่องจากมีแหล่งน้ำสำคัญสำหรับการอุปโภคบริโภคอยู่ทางท้ายน้ำ คือเขื่อนขุนด่านปราการชล ทำให้เกิดความกังวลของผู้ใช้น้ำ และทำให้มีข้อสั่งการให้ชัดเจนในการดำเนินการกับซากดังกล่าว
นายครรชิตได้กล่าวเพิ่มเติมอีกว่า ไม่สามารถระบุได้ว่า ซากช้างจะไหลลงมาจนถึงตาข่ายตามแผนเก็บกู้เมื่อไหร่อย่างไร และแผนดำเนินการอาจถูกปรับเปลี่ยนไปตามสถานการณ์
สำหรับเหตุการณ์ช้างป่าเกือบทั้งโขลงที่พลัดตกน้ำตกในครั้งนี้ ได้ถูกเปิดเผยโดยอุทยานฯ ว่า เมื่อวันที่ 3 ถึง 4 ตุลาคม เจ้าหน้าที่ชุดผลักดันช้าง บริเวณถนนสาย3077 ปราจีนบุรี (เนินหอม - ที่ทำการอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่) รายงานเข้ามาว่า มีฝูงช้างออกเป็นจำนวนมากบริเวณถนนสาย 3077 ทางลงจังหวัดปราจีนบุรี และเมื่อราวตีสามของวันนี้ เจ้าหน้าที่ประจำหน่วยพิทักษ์อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ ขญ.20 (น้ำตกเหวนรก) ได้ยินเสียงช้างร้องบริเวณลำห้วยสมอปูนที่ไหลไปสู่น้ำตกเหวนรก
ต่อมาราวหกโมงเช้า เจ้าหน้าที่จึงเข้าไปตรวจสอบบริเวณลำห้วยจนถึงน้ำตกเหวนรก จึงพบลูกช้างป่าจำนวน 1 ตัว อายุประมาณ 3 ปี จมน้ำบริเวณชั้นแรกของน้ำตก และพบช้างอีก 2 ตัว อยู่บนฝั่งหน้าผาของน้ำตก พยายามที่จะลงไปช่วยลูกช้างที่อยู่ในน้ำตก และมีสภาพอ่อนแรง
และเมื่อได้ตรวจสอบตามน้ำตก ลงไปจนถึงชั้นล่าง ได้พบช้างป่าอีกจำนวน 5 ตัว จมน้ำเสียชีวิต รวมช้างป่าเสียชีวิตในคราวแรก 6 ตัว
ทางอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ จึงได้ประกาศปิดการท่องเที่ยวบริเวณน้ำตกเหวนรก และมอบหมายให้เจ้าหน้าที่ชุดผลักดันช้าง ชุดกู้ภัยอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ และสัตวแพทย์ ร่วมดำเนินการช่วยเหลือช้างที่ยังลอยคออยู่ในน้ำสองตัวจนสำเร็จ
สำหรับช้างป่าอีกสองตัวที่รอดตายจากการพลัดตกน้ำตกในวันเดียวกันนี้ มีรายงานการพบเห็นช้างสองตัวดังกล่าวเดินป้วนเปี้ยนเข้ามากินกล้วยบริเวณจุดบริการนักท่องเที่ยวน้ำตกเหวนรก ทำให้คาดกันว่าช้างทั้งหมดอาจเป็นโขลงเดียวกันที่มีจำนวนประมาณ 13 ตัว
เหตุสลดครั้งนี้ ซ้ำรอยเหตุการณ์ช้างป่าจำนวนไล่เลี่ยกันที่พลัดตกน้ำตกเดียวกันนี้ในปี 2535 นำไปสู่การตั้งคำถามถึงการตัดถนนและการพัฒนาอื่นๆ ในผืนป่าที่ตัดป่าออกเป็นส่วนๆ และรบกวนถิ่นอาศัยของสัตว์ป่า ส่งผลต่อเส้นทางหากินของช้างป่าและสัตว์ป่าอื่นๆ
ทางอุทยานฯได้พยายามลดผลกระทบดังกล่าว โดยสร้างสิ่งกีดขวางทางเดินที่เสี่ยงของช้างบริเวณน้ำตก แต่กลับพบว่า มีช้างเข้ามาใช้เส้นทางบริเวณนี้อีก จนกลายเป็นเหตุสลดดังกล่าว
ภาพมุมสูงจากสมาคมตอบโต้ภัยพิบัติแห่งประเทศไทย