'ช่วยสุดใจ ณ ห้องฉุกเฉิน' ความจริงในสิ่งที่ผู้ป่วยไม่รู้
บางแง่มุมเกี่ยวกับห้องฉุกเฉินที่หลายคนอาจไม่ทราบ เช่น คนไทยเข้ารับบริการที่ห้องฉุกเฉินปีละ 30-40 ล้านครั้ง โดย 60% เป็นผู้ป่วย "ไม่ฉุกเฉิน!”
"อยากให้เข้าใจว่า ถ้าคนไข้ที่พอรอได้เข้าไปรับการรักษาโดยเร็วแล้วปล่อยให้คนไข้ที่เจ็บป่วยถึงแก่ชีวิตรอแทน ก็จะทำให้คนไข้ที่อาการหนักเสียชีวิตได้"
นพ.ไพโรจน์ เครือกาญจนา รองผู้อำนวยการ และหัวหน้ากลุ่มงานเวชศาสตร์ฉุกเฉิน รพ.ราชวิถี ให้ข้อมูลเกี่ยวกับสถานการณ์จริงที่ห้องฉุกเฉินว่า ห้องฉุกเฉินของรพ.ทั่วประเทศเปิดให้บริการ 24 ชั่วโมง ไม่มีโอกาสปิด เว้นแต่เกิดวิกฤติทำงานไม่ได้ แต่เมื่อคนใช้บริการแบบไม่มีความเข้าใจ ก็ส่งผลเสียกลับมาที่ห้องฉุกเฉิน เช่น นึกว่าห้องฉุกเฉินเป็นห้องที่เปิดให้บริการ 24 ชั่วโมง เมื่อใครเจ็บป่วยเป็นอะไรก็จะมาที่ห้องฉุกเฉิน ทำให้แนวโน้มของคนใช้บริการห้องฉุกเฉินสูงขึ้นเรื่อยๆ ปัจจุบันไทยมีการใช้บริการที่ห้องฉุกเฉินทั่วประเทศไทยปีละราว 30-40 ล้านครั้ง คิดเป็น 10% ของคนไข้ที่ทั้งหมดใช้บริการรพ.ทั่วประเทศ
“สิ่งสำคัญอยากให้คนไทยเข้าใจถึงการใช้บริการที่ห้องฉุกเฉินมากขึ้น โดยคิดถึงว่าถ้าคนไข้ที่มีอาการหนัก ใกล้ตาย บาดเจ็บหนักรุนแรง ซึ่งเป็นกลุ่มที่มีเวลาจำเป็นต้องได้รับการรักษาอย่างรวดเร็ว ทำให้มีโอกาสรอดและไม่พิการ ขณะที่คนไข้ที่เข้ามาที่ห้องฉุกเฉินอีกส่วนหนึ่งเป็นคนไข้ที่พอรอได้ เพราะฉะนั้น ถ้าคนไข้ที่พอรอได้เข้าไปรับการรักษาโดยเร็วแล้วปล่อยให้คนไข้ที่เจ็บป่วยถึงแก่ชีวิตรอแทน ก็จะทำให้คนไข้ที่อาการหนักเสียชีวิตได้” นพ.ไพโรจน์กล่าว
ระบบคัดแยกคนไข้ที่ห้องฉุกเฉินของประเทศไทย จะแบ่งเป็น 5 ระดับ ได้แก่ 1.ระดับจะเป็นจะตาย ผู้ป่วยหนักที่เป็นอันตรายถึงแก่ชีวิต ต้องได้รับการตรวจรักษาเร็วที่สุด ภายใน 5 นาที 2.ผู้ป่วยที่พอรอได้ ต้องเข้ารับการตรวจใน 15-30 นาที 3.ผู้ป่วยที่รอได้ในเวลา 1 ชั่วโมง 4.ผู้ป่วยที่รอได้มากกว่า 1 ชั่วโมง ก็ไม่มีปัญหาอะไรเกิดขึ้น เพียงแต่ความฉุกเฉินของรพ.ไม่เท่ากัน เช่น ผู้ป่วยเด็กร้องไห้กระจองอแง ผู้ปกครองก็จะมองว่าเป็นความฉุกเฉินมหาศาล
แต่เจ้าหน้าที่ประเมินอาการแล้วเด็กไม่ได้เป็นอะไรมาก รพ.ก็จะมองว่าไม่ฉุกเฉิน เป็นต้น และ5.ผู้ป่วยที่ไม่ควรมารับการรักษาที่ห้องฉุกเฉิน เช่น คนไข้ยาหมดแล้วไม่มารพ.ก่อนนัดจึงมาห้องฉุกเฉินเพื่อขอรับยา หรือคนไข้มาขอใบรับรองแพทย์เพราะไม่ได้ไปทำงาน ซึ่งพบประปรายอยู่เสมอ ทั้งนี้ ผู้ป่วยที่อยู่ในระดับ 1 และ 2 ที่มาใช้บริการที่ห้องฉุกเฉินจะอยู่ที่ประมาณ 10 % ผู้ป่วยระดับที่ 3 ประมาณ 50-60 % และผู้ป่วยระดับที่ 4 และ 5 อีกราว 30 %
“ในการประเมินคัดแยกคนไข้ จะวัดหลายๆส่วนประกอบกัน เพราะคนไข้บางโรค เช่น กรณีเส้นเลือดในสมองตีบหรือแตก บางรายอาจดูเหมือนปกติในช่วงแรก แต่สัญญาณชีพหรืออาการที่แพทย์ซักถาม วิเคราะห์แล้วจำเป็นต้องได้รับการช่วยเหลือรักษาในทันที ก็จะให้การรักษาคนไข้กลุ่มนี้ก่อน“ นพ.ไพโรจน์กล่าว
เพราะฉะนั้น ในส่วนของคำถามที่ผู้ป่วยและญาติมักจะเกิดขึ้นเสมอเมื่อเข้ารับบริการที่ห้องฉุกเฉินคือ “ทำไมคนมาก่อนต้องรอคิว คนมาทีหลังได้เข้ารักษาก่อน” นพ.ไพโรจน์ อธิบายว่า เมื่อคนไข้มาถึงห้องฉุกเฉิน พยาบาลจะทำการประเมินอาการในรอบแรกก่อน แล้วคัดแยกผู้ป่วยตามอาการ เพราะในช่วงเวลานั้นๆ แพทย์และบุคลากรทางการแพทย์กำลังให้การดูแลช่วยเหลือรักษาผู้ป่วยที่มีอาการหนักกว่าในระดับ 1 และ 2 ยังไม่เสร็จ ดังนั้น คนไข้ในระดับ 3 และ 4 ก็จะต้องรอก่อน ซึ่งในส่วนนี้หากคนไข้หรือญาติมีความสงสัยก็สามารถสอบถามจากบุคลากรได้ แต่ขอให้สอบถามด้วยความเข้าใจกันและกันไม่ใช้อารมณ์ใส่กัน
อย่างไรก็ตาม หลังพยาบาลคัดแยกคนไข้แล้วและอยู่ระหว่างรอรับการรักษา ญาติสามารถมีส่วนร่วมในการช่วยดูแลคนไข้ได้ โดยช่วยสังเกตอาการคนไข้ หากพบว่ามีการเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม แย่ลง หรือผิดปกติ ให้รีบแจ้งพยาบาล เพื่อจะได้รีบเข้ามาประเมินอาการซ้ำและวัดสัญญาณชีพว่าเปลี่ยนแปลงไปหรือไม่ หรือหากเห็นว่ารอนานเกินสมควรแล้วก็สามารถเดินเข้าไปบอกเจ้าหน้าที่ได้ เช่น รอเกิน 1 ชั่วโมง แต่คนไข้บางรายก็รอ 4-10 ชั่วโมงเพราะอาการคนไข้ไม่ได้เป็นอะไรมาก เจ้าหน้าที่ก็ต้องดูแลช่วยเหลือคนไข้รายอื่นก่อน
นพ.ไพโรจน์ บอกด้วยว่า ปัจจุบันการก่อเหตุความรุนแรงในห้องฉุกเฉินระหว่างคนไข้ หรือญาติมีแนวโน้มมากขึ้น จึงอยากขอให้คนไทยได้คิดว่า การมาใช้บริการที่ห้องฉุกเฉินจะมีคนไข้อื่นนอนรอรับการรักษาอยู่อีกจำนวนมาก หากก่อเหตุทะเลาะวิวาทและสร้างความเสียหาย จะส่งผลร้ายต่อคนไข้รายอื่น เช่น แพทย์อาจจะกำลังปั๊มหัวใจคนไข้อยู่ เมื่อมีการตีกันเกิดขึ้นเจ้าหน้าที่ก็กระเจิง คนไข้รายนั้นก็อาจเสียชีวิตได้
“ขอย้ำว่าห้องฉุกเฉินเป็นสถานที่ที่ผู้ไม่เกี่ยวข้องไม่ควรเข้าไป เพราะมีโอกาสสร้างความวุ่นวายเกิดขึ้นได้ โดยเฉพาะหากเป็นคนที่มีสติอยู่ขอร้องอย่าเข้าไปวุ่นวาย แต่หากเป็นคนเมาที่ขาดสตินั้น เจ้าหน้าที่มีมาตรการในการรับมืออยู่แล้ว”นพ.ไพโรจน์กล่าว
สิ่งเหล่านี้ คือ สถานการณ์ที่เกิดขึ้นจริง ณ ห้องฉุกเฉินในรพ.ของประเทศไทย ที่แพทย์ซึ่งปฏิบัติงาน ต้องการที่จะสะท้อนให้เกิดความเข้าใจเกี่ยวกับการเข้ารับบริการและการให้บริการที่ห้องฉุกเฉิน และกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) มีนโยบายที่จะมีการปรับปรุงการให้บริการห้องฉุกเฉินทั่วประเทศในอนาคต