Green Pulse l การค้าสัตว์ป่าพุ่งทะยานกว่าที่คิด

Green Pulse l การค้าสัตว์ป่าพุ่งทะยานกว่าที่คิด

ลักลอบค้า คึกคักทั่วโลก

การค้าสัตว์ป่า ทวีความรุนแรงมากขึ้นจนกลายเป็นอาชญากรรมข้ามชาติ โดยเฉพาะในช่วง 5-10 ปี มานี้ และจีน ซึ่งเป็นประเทศมหาอำนาจ มีการเติบโตทางเศรษฐกิจเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง มีความต้องการผลิตภัณฑ์จากสัตว์ป่าอย่างช้าง แรด ลิ่นและเสือ เพื่ออุปโภคและบริโภคสูงตามไปด้วย ส่งผลให้วิกฤตล่าสัตว์ป่าครั้งใหญ่ในแอฟริกากลับมาอีกครั้ง

 

ตลาดการค้าสัตว์ป่าข้ามชาติเติบโตสูงเป็นอันดับ 4 ในการจัดอันดับอาชญากรรมข้ามชาติ มีเส้นทางการค้าถึง 67 ประเทศทั่วโลก ประกอบไปด้วยประเทศต้นทาง ประเทศส่งผ่าน และประเทศปลายทาง ในส่วนของประเทศไทย แม้จะเป็นประเทศทางผ่าน แต่ยังพบผู้ซื้อสัตว์ป่าและผลิตภัณฑ์จากสัตว์ป่าอยู่ โดยเฉพาะการซื้อผ่านสื่อออนไลน์

 

ล่าสุด บรรดานักวิทยาศาสตร์จากมหาวิทยาลัยต่างๆ ในสหรัฐและสหราชอาณาจักร ร่วมจัดทำรายงานวิจัยเกี่ยวกับการลักลอบค้าสัตว์ป่าอย่างผิดกฏหมายทั่วโลกพบว่า อย่างน้อยหนึ่งในห้าของสัตว์ที่มีกระดูกสันหลังสายพันธุ์ต่างๆ บนโลกยังคงถูกจับและนำมาขายตามช่องทางต่างๆ ในตลาดโลก หรือมีการลักลอบค้าสัตว์ป่าเพิ่มขึ้นประมาณ 50% จากที่เคยคาดการณ์ไว้ก่อนหน้านี้

 

การค้าสัตว์ป่า รวมถึง เขาสัตว์ งาช้างและสัตว์ป่าแปลกๆ เป็นต้นเหตุอันดับหนึ่งที่ทำให้สัตว์ป่าสูญพันธุ์ นอกเหนือจากการพัฒนาที่ดินของเหล่านายทุน ซึ่งศาสตราจารย์เดวิด เอ็ดวาร์ด จากมหาวิทยาลัยเชฟฟิลด์ ซึ่งร่วมทำรายงานวิจัยชิ้นนี้ มีความเห็นว่า “การซื้อขายสัตว์ป่าหลากหลายสายพันธุ์กันอย่างครึกโครมทั่วโลกทุกวันนี้ เพิ่มความเสี่ยงมากขึ้นเรื่อยๆว่าสัตว์ป่าสายพันธ์ุต่างๆจะสูญพันธุ์”

 

รายงานวิจัยชิ้นนี้ ซึ่งตีพิมพ์ในวารสารไซอัน (Science) ที่เผยแพร่ในอาทิตย์นี้ จำแนกแยกแยะจุดฮอทสปอตสำหรับการค้านก สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม สัตว์ครึ่งบก-ครึ่งน้ำ และสัตว์เลื้อยคลานตั้งแต่เทือกเขาแอนดิส ป่าดิบชื้นอเมซอน ซับ-สะฮาราในแอฟริกา เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และออสเตรเลีย พร้อมทั้งระบุถึงสัตว์ป่าสายพันธุ์ต่างๆอีก 3,000 สายพันธุ์หรือมากกว่านี้ ที่เตรียมถูกนำไปขายในตลาดต่างๆทั่วโลกในอนาคต โดยอาศัยที่ว่าผู้ซื้อและผู้ขายมีความคุ้นเคยกัน หรือไว้เนื้อเชื่อใจกันเป็นอย่างดี เช่นพ่อค้าอาจนำขนนกสีสันสดใส หรือเขาสัตว์แปลกๆ ไปนำเสนอขายให้ลูกค้าที่ปกติก็ซื้อขายชิ้นส่วนสัตว์ป่า หรือ สัตว์ป่าเป็นตัวๆ กันอยู่แล้ว

 

“ถ้ามีการซื้อขายสัตว์ป่าสายพันธุ์ใดสายพันธุ์หนึ่งอยู่แล้ว ก็มีโอกาสสูงที่การซื้อขายจะพัฒนาไปยังลูกหลานของสัตว์ป่าสายพันธุ์นั้นๆ ต่อไป เมื่อเราค้นพบการค้าสัตว์ป่ารูปแบบนี้ เราก็อาจจะพัฒนาการติดตามรูปแบบใหม่ที่ช่วยให้เราคาดการณ์ได้ว่าสัตว์ป่าสายพันธุ์ใดมีแนวโน้มที่จะถูกจับและลักลอบนำไปขายในตลาดโลกในอนาคต แม้ว่าตอนนี้ สัตว์ป่าเหล่านี้ยังไม่มีใครลักลอบขายก็ตาม ”ดร. เบรทท์ เชฟเฟอร์ส จากมหา่วิทยาลัยแห่งฟลอริดา กล่าว

 

ในส่วนของประเทศไทยนั้น องค์การสหประชาชาติ (ยูเอ็น) รวมถึงองค์การต่างประเทศ โดยเฉพาะมูลนิธิฟรีแลนด์ (ประเทศไทย) สนับสนุนให้ประเทศไทยมีการบังคับใช้กฎหมายในการปราบปรามการค้าสัตว์ป่า เนื่องจากไทยเป็นประเทศทางผ่านในการลักลอบขนส่งและค้าสัตว์ป่า ที่มีเงินหมุนเวียนกว่า 20,000 ล้านดอลลาร์

 

ขณะที่ ทราฟฟิก (TRAFFIC) ซึ่งเป็นองค์กรต่อต้านการค้าสัตว์ป่าระหว่างประเทศ เผยแพร่รายงานวิจัยการลักลอบค้าสัตว์ป่าในยุคดิจิทัลในปีนี้ ระบุว่า ตลาดซื้อขายสัตว์ป่าออนไลน์ในประเทศไทยมีขนาดใหญ่และขยายตัวอย่างรวดเร็ว และสัตว์ต่างถิ่นบางชนิดไม่อยู่ในบัญชีสัตว์คุ้มครอง เพราะมีช่องโหว่ด้านการบังคับใช้กฎหมาย

 

รายงานวิจัยของทราฟฟิก บ่งชี้ว่า ไทยเป็นประเทศที่ตลาดลักลอบซื้อขายสัตว์ป่าออนไลน์เติบโตเร็วที่สุดแห่งหนึ่งในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

 

นักวิจัยและผู้เชี่ยวชาญด้านสัตว์ป่าของทราฟฟิกและเครือข่ายพันธมิตร ร่วมกันสังเกตการณ์เพื่อเก็บข้อมูลกลุ่มต่างๆ ในเฟซบุ๊คในประเทศไทย ซึ่งทำหน้าที่เป็นตลาดซื้อขายสัตว์ป่าอย่างผิดกฎหมาย โดยช่วงเดือน มิ.ย. ปี2559 พบว่า มีสัตว์ 1,521 ตัวจาก 200 ชนิดพันธุ์ถูกเสนอขายในกลุ่มเหล่านี้ และสัตว์ปีกพันธุ์ต่างๆ ถูกเสนอขายมากที่สุด รวม 516 ตัว รองลงมา คือ นางอาย หรือลิงลม ถูกเสนอขาย 139 ตัว และเต่าเดือยแอฟริกัน หรือเต่าซูลคาตารวม 115 ตัว

 

ทราฟฟิก ยังระบุในรายงานวิจัยว่า กว่าครึ่งของสัตว์ที่ถูกเสนอขาย เป็นชนิดพันธุ์ที่ได้รับการคุ้มครองตามกฎหมายในประเทศไทย ภายใต้พระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2535 (พ.ร.บ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า 2535) และส่วนใหญ่ยังเป็นสัตว์ที่ได้รับการประเมินโดยสหภาพนานาชาติเพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติและทรัพยากรธรรมชาติ (ไอยูซีเอ็น)

 

การค้าตัวนิ่ม หรือ ลิ่น เป็นตัวอย่างหนึ่งของการค้าสัตว์ป่าที่สูงถึง 20 ตันต่อปี ลิ่นจะถูกจับมาจากอินโดนีเซีย มาเลเซีย แอฟริกา ลิ่นที่มีชีวิตหรือเกล็ดลิ่น จะถูกส่งให้ลูกค้าในจีนและเวียดนาม ซึ่งประเทศไทยอยู่ใกล้กับตลาดมืดเหล่านี้ ทำให้อาชญากรลักลอบลำเลียงลิ่นโดยผ่านประเทศไทยสู่ประเทศปลายทางขยายตัวอย่างมาก

 

โครงการสัตว์ป่าเอเชียของยูเสด (USAID Wildlife Asia)กล่าวว่า ผลิตภัณฑ์นอแรด ช้างป่า ซากลิ่น เกล็ดลิ่น ถูกยึดในประเทศไทย โดยเฉพาะท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ในขณะที่สิ่งเหล่านี้ถูกยึดได้ในปริมาณมาก แต่อาชญากรกลับไม่ได้รับโทษแต่อย่างใด

 

ตัวนิ่ม หรือลิ่น ที่มีชีวิต มีมูลค่าซื้อขายประมาณ 500 บาท/กิโลกรัม และราคาจะขึ้นเป็น 6 เท่า หรือประมาณ 3,000บาท เมื่อมาถึงลาว และราคาจะพุ่งสูงขึ้นเป็น 4,000 บาท เมื่อไปถึงตลาดจีน แต่หากเป็นลิ่นที่ตายแล้ว จะเหลือราคาซื้อขายในจีนเพียง 1,000 บาท/กิโลกรัม

 

แต่บรรดานักวิทยาศาสตร์ ย้ำถึงความจำเป็นในการดำเนินกลยุทธป้องกันมากกว่าปราบปราม ซึ่งครอบคลุมถึงการขึ้นบัญชี“จับตามอง”สัตว์ป่าสายพันธ์ที่เสี่ยงว่าจะสูญพันธุ์ ซึ่งจะให้ผลลัพธ์ดีกว่าการตรวจจับหรือแกะรอยกระบวนการนำเข้าสัตว์ป่าอย่างผิดกฏหมาย ต่อกรกับการคอร์รัปชัน และทำงานกับคนในท้องถิ่นเพื่ออนุรักษ์สัตว์ป่าเหล่านั้น

 

ศาสตราจารย์เอ็ดวาร์ด กล่าวว่า ถ้ารัฐบาลแต่ละประเทศไม่มีมาตรการเร่งด่วนออกมาใช้เพื่อสกัดการค้าสัตว์ป่าทั้งสองทางคือ ทางด้านอุปทานและอุปสงค์ ก็จะมีความเสี่ยงสูงมากที่สัตว์ป่าที่ถูกลักลอบขายกันทั่วโลกจะสูญพันธุ์ ซึ่งแต่ละคนสามารถช่วยกันคนละไม้ละมือได้ ด้วยการไม่ซื้อสัตว์ป่าที่ถูกนำมาขายในประเทศต่างๆอย่างผิดกฏหมาย รวมทั้งตรวจสอบสัตว์เลี้ยงสายพันธุ์แปลกที่ซื้อมาว่าเป็นสัตว์ที่ถูกจับมาจากป่าอย่างผิดกฏหมายหรือเปล่า

 

ทีมงานวิจัยร่วมระหว่างผู้เชี่ยวชาญด้านสัตว์ป่าจากสหรัฐและอังกฤษชุดนี้ พบว่า ทุกวันนี้มีสัตว์ 5,579 ชนิดที่ถูกลักลอบขายในประเทศต่างๆทั่วโลก ในจำนวนนี้ แยกเป็นสัตว์ที่มีกระดูกสันหลังในสัดส่วน 18% และสัตว์ป่า 3,196 สายพันธุ์อยู่ในสถานะเสี่ยง

ภาพ ช้างป่าแอฟริกา photo credit: Salvatore Amato/USAID Wildlife Asia