ความลับในเหตุการณ์ '14 ตุลา'
เป็นเรื่องบังเอิญที่ "ผู้กุมความลับเดือนตุลา" เจ้าของวลีที่ว่า "ความลับเหตุการณ์เดือนตุลาจะตายไปกับตัว"เสียชีวิตไปแล้ว เมื่อ 24 ตุลาคม 2555
- บทความย้อนหลัง จากคอลัมน์ "แกะรอยการเมือง" ตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ ฉบับวันที่ 11 ตุลาคม 2556 -
บุคคลผู้นั้นคือ พล.ต.อ.วิฑูรย์ ยะสวัสดิ์ อดีตผู้ช่วยอธิบดีกรมตำรวจ (หลังเหตุการณ์ 14 ตุลา) ซึ่งเป็นเจ้าของวลีที่ว่า "ความลับเหตุการณ์เดือนตุลาจะตายไปกับตัว"
ก่อนหน้าปี 2516 ไม่ค่อยมีใครรู้จัก พล.ต.อ.วิฑูรย์ หรือ พล.ท.วิฑูรย์ ที่มีชื่อรหัสว่า "นายพลเทพ" หรือ "เทพ 333" ผู้นำกองกำลังทหารเสือพรานปฏิบัติการลับในลาว 9 ปี ด้วยการสนับสนุนของซีไอเอ
แต่หลังเกิดเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 พล.ท.วิฑูรย์ ได้กลับมารับราชการในตำแหน่งผู้ช่วยอธิบดีกรมตำรวจ ซึ่งมี พล.ต.อ.ประจวบ สุนทรางกูร เป็นอธิบดีกรมตำรวจ
"วิฑูรย์" หัวหน้าใหญ่ทหารรับจ้าง กลับมาผงาดในกรมตำรวจ ยุค "เจ้าพ่อเกียกกาย" พล.ต.อ.ประเสริฐ รุจิรวงศ์ อดีตอธิบดีกรมตำรวจ ที่ส่งไม้ต่อให้ "พล.ต.อ.ประจวบ" ตัวแทนของกลุ่มเกียกกาย
อุบัติเหตุ 14 ตุลา ส่งผลให้ "จอมพลถนอม-จอมพลประภาส" ต้องไปลี้ภัยอยู่ในต่างแดน เวลาเดียวกันก็เกิด "ศูนย์อำนาจใหม่" อันประกอบด้วย พล.อ.กฤษณ์ สีวะรา ผู้บัญชาการทหารบก , พล.ต.อ.ประเสริฐ รุจิรวงศ์ อดีตอธิบดีกรมตำรวจ และ พล.อ.อ.ทวี จุลละทรัพย์ อดีตผู้บัญชาการทหารอากาศ
พล.อ.กฤษณ์ สีวะรา เป็นขุนศึกอยู่ในสายเดียวกันกับ "จอมพลถนอม-จอมพลประภาส" ที่ถูกวางตัวให้สืบทอดอำนาจจากจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์
แต่ พล.อ.กฤษณ์ เป็นรองผู้บัญชาการทหารบก มาตั้งแต่ปี 2509 จนถึงเดือนตุลาคม 2516 จึงได้เป็น "ผู้บัญชาการทหารบก" นั่นหมายความว่า เขาเป็นรองผู้บัญชาการทหารบกยาวนานถึง 7 ปี
เหตุที่เป็นเช่นนี้ เพราะการผูกขาดอำนาจของ จอมพลถนอม กิตติขจร ในตำแหน่งผู้บัญชาการทหารสูงสุด และ จอมพลประภาส จารุเสถียร ในตำแหน่งผู้บัญชาการทหารบก ทำให้นายทหารคนอื่นหมดโอกาสขยับ
เมื่อ 7-8 ปีที่แล้ว พ.อ.ณรงค์ กิตติขจร ได้มอบหมายให้นักวิชาการคนหนึ่งเขียน "ประวัติศาสตร์ 14 ตุลา" ฉบับใหม่ โดยพุ่งเป้าไปที่ 2 เหตุการณ์คือ การปะทะหน้าสวนจิตรลดา เช้าวันที่ 14 ตุลาคม 2516 และกรณี "ชายชุดดำ" บนหลังคาตึกกองสลากกินแบ่ง ในตอนสายวันเดียวกัน
"พ.อ.ณรงค์" ปักใจเชื่อว่า พล.อ.ประจวบ สุนทรางกูร ที่รับคำสั่งจาก พล.อ.กฤษณ์ สีวะรา ให้สั่ง พล.ต.ท.มนต์ชัย พันธุ์คงชื่น ผู้บัญชาการตำรวจนครบาลในขณะนั้น ให้ใช้ความรุนแรงกับนักศึกษาที่สลายตัว และเดินออกไปบริเวณหน้าสวนจิตรลดา
พูดภาษาชาวบ้านก็ว่า คดีพลิกกลายเป็นว่า ฝ่ายของ พล.อ.กฤษณ์ สีวะรา เป็นผู้จุดชนวนเหตุการณ์นองเลือดเมื่อตุลาคม 2516 รวมทั้งกรณีชายชุดดำ ก็พาดพิงถึง "ทหารเสือพราน" ที่อยู่ในการบัญชาการของ "เทพ 333" แต่ไม่มีหลักฐานที่ชัดเจนใดๆ
ทำให้ "คนรุ่นนั้น" มองว่า พ.อ.ณรงค์ กิตติขจร พยายามจะให้ "คนอื่น" ตกเป็นจำเลยในคดี 14 ตุลา แทนสองจอมพล และหนังสือประวัติศาสตร์ 14 ตุลาเล่มนั้น ได้ถูกตีโต้จากฝ่ายคนเดือนตุลาอย่างหนัก
จริงๆ แล้ว "ผู้กุมความลับเดือนตุลา" คนแรกคือ พล.อ.กฤษณ์ สีวะรา เนื่องจากหลังวันมหาวิปโยค เขาได้กลายเป็น "ผู้มีบารมี" คอยค้ำยัน "รัฐบาลสัญญา ธรรมศักดิ์" และวางแผนจัดตั้งรัฐบาลผสม 11 พรรค ที่มี ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช เป็นนายกรัฐมนตรี
หลังเกษียณอายุราชการ เมื่อ 30 กันยายน 2518 "พล.อ.กฤษณ์" เดินเกม "ล้มคึกฤทธิ์" โดยอาศัยพรรคสังคมชาตินิยม ของประสิทธิ์ กาญจนวัฒน์ และพรรคธรรมสังคม ของ พล.อ.อ.ทวี จุลละทรัพย์ เป็นตัวประสานพรรคอื่นๆ แต่ "หม่อมคึกฤทธิ์" ไม่ยอมถอย และชิงประกาศยุบสภา หักหลังฝ่าย พล.อ.กฤษณ์
การเลือกตั้งปี 2519 "พล.อ.กฤษณ์" สนับสนุนพรรคประชาธิปัตย์ สะกัด "หม่อมคึกฤทธิ์" จนเป็นผลสำเร็จ แต่ในเดือนเมษายน 2519 "พล.อ.กฤษณ์" ได้ถึงแก่กรรมอย่างมีเงื่อนงำ หลังจากที่ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นรัฐมนตรีกลาโหมในรัฐบาล ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช
ความตายของ พล.อ.กฤษณ์ และ พล.ต.อ.วิฑูรย์ ยังคงทำให้ความลับเดือนตุลา..เป็น "ความลับ" ต่อไป!