แนะการเรียนรู้โลกอนาคตต้องผ่านการสืบสอบ-รวมพลัง
EDUCA 2019 "พลังของชุมชนแห่งการเรียนรู้" พัฒนาครูเป็นผู้นำด้านการจัดการเรียนรู้ ปัญญาสังคม นักการศึกษาระดับโลกชี้ชัดการเรียนรู้โลกอนาคตต้องผ่านการสืบสอบ รวมพลัง ระบุทักษะการพูดจุดเริ่มต้นการเรียนรู้ ช่วยเด็กจนมีความสามารถเท่าเทียมเด็กรวย
วันนี้ (16 ต.ค.2562) บริษัท ปิโก(ไทยแลนด์) จำกัด (มหาชน) จัดงาน "มหกรรมทางการศึกษาเพื่อพัฒนาวิชาชีพครู ครั้งที่ 12 หรือ EDUCA 2019" ภายใต้แนวคิด "พลังของชุมชนแห่งการเรียนรู้" โดยมีนายศีลชัย เกียรติภาพันธ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ปิโก (ไทยแลนด์) จำกัด(มหาชน)และผู้จัดงานมหกรรมทางการศึกษาเพื่อพัฒนาวิชาชีพครู(EDUCA) กล่าวเปิดงานว่า การจัดงาน EDUCA ได้ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่องเข้าสู่ปีที่ 12
โดยปีนี้ได้จัดขึ้นภายใต้แนวคิด พลังของชุมชนแห่งการเรียนรู้ (The Power of Learning Communication) ซึ่งมุ่งหวังให้สังคมตระหนักถึงความสำคัญของพลังในการเรียนรู้ร่วมกันด้วยการส่งเสริมให้ทุกภาคส่วนร่วมกันพัฒนาและสร้างความแข็งแกร่งให้กับการศึกษาไทย
ยังเป็นการประชุมนานาชาติโรงเรียนในฐานะชุมชนแห่งการเรียนรู้ ครั้งที่ 7 (The 7th International Conference of School Learning Community 2019) มาจัดที่ EDUCA2019 ด้วยแนวคิดการสืบสอบและความร่วมมือรวมพลังทั้งในห้องเรียนและห้องทำงานของครู
"ปิโกได้ให้ความสำคัญกับการพัฒนาครูไทยมาโดยตลอด เพราะตระหนักว่าครู คือ ผู้ให้ ผู้นำ และผู้หล่อหลอมความแข็งแกร่งและอนาคตของประเทศชาติ ซึ่งงาน EDUCA เป็นแพลตฟอร์มเพื่อสื่อสาร แบ่งปันความรู้ และประสบการณ์ด้านการศึกษาที่ดีที่สุดทั้งจากนักวิชาการระดับโลก และครูนักปฎิบัติที่เชี่ยวชาญ เพื่อความก้าวหน้าในการพัฒนาตนเองของครูทั่วประเทศ"นายศีลชัย กล่าว
สำหรับปีนี้แนวทางการสร้างพลังของชุมชนการเรียนรู้ในงานครั้งนี้ เริ่มจากการพัฒนาครูเป็นผู้นำทั้งด้านการจัดการเรียนรู้ และเป็นผู้นำทางปัญญาของสังคมผ่านการเรียนรู้กันในชุมชนทางวิชาการ เพื่อสร้างพื้นฐานที่แข็งแกร่งให้ครูและบุคลากรทางการศึกษาได้ทำงานอย่างมีกลยุทธ์ และเรียนรู้นวัตกรรมการสอนที่เท่าทันการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยี พร้อมทั้งสนับสนุนให้ทุกภาคส่วนมีส่วนร่วมในการปฎิรูปโรงเรียนตามศักยภาพของตน โดยเริ่มต้นจากพลังภายในท้องถิ่นในการสร้างครูและโรงเรียนคุณภาพ เพื่อความยั่งยืนของสังคม
ศ.มานาบุ ซาโต ผู้คิดค้นแนวคิด SLC และประธานเครือข่ายนานาชาติโรงเรียนในฐานะชุมชนแห่งการเรียนรู้ ญี่ปุ่น กล่าวว่าแนวคิดการทำให้โรงเรียนกลายเป็นชุมชนแห่งการเรียนรู้นั้น ต้องมีปรัชญา 3 ด้านด้วยกัน คือปรัชญาว่าด้วยสาธารณะ หรือการเปิดเผยและเกิดความร่วมมือร่วมกัน ปรัชญาว่าการทำให้โรงเรียนกลายเป็นชุมชนแห่งการเรียนรู้ด้วยประชาธิปไตย โดยมีเด็ก ครู ผู้ปกครองทุกคนเป็นตัวแสดงหลักและประชาธิปไตยเป็นวิธีการที่ทุกคนใช้ชีวิตอยู่ด้วยร่วมกันด้วยความเคารพเจตบุคคลที่หลากหลายและเป็นเรื่องของการฟัง
ปรัชญาว่าด้วยการเป็นเลิศ ซึ่งความเป็นเลิศในที่นี้ไม่ใช่หมายถึงดีที่สุด แต่เป็นความท้าทายที่ต้องพยายามทำให้ดีที่สุด ทั้งในด้านการสอนและเรียนรู้ ดังนั้น ลักษณะของโรงเรียนในฐานะชุมชนการเรียนรู้ ไม่มีสูตรหรือเทคนิคอะไรที่เป็นตายตัว ชุมชนสามารถร่วมมือกันสร้างการเรียนรู้ โดยตระหนักถึงสิทธิมนุษยชนของเด็ก ผู้ใหญ่ และครู ทุกคนเป็นเครือข่ายร่วมกัน
"ตอนนี้ประเทศญี่ปุ่นอยู่ในยุคการปฎิรูปอุตสาหกรรม ซึ่งมีการกล่าวไว้ว่า 49% ของแรงงานญี่ปุ่นจะเปลี่ยนเป็นปัญญาประดิษฐ์ หรือ AI ฉะนั้น การเรียนการสอนจึงต้องเปลี่ยนให้สอดรับกับการเปลี่ยนแปลงดังกล่าว และจะเป็นการเรียนรู้เพื่อความเข้าใจอย่างอดีตไม่ได้ อนาคตต้องเป็นการเรียนรู้ผ่านการสืบสอบและการรวมพลังกัน"ศ.มานาบุ กล่าว
อีกทั้งการปฎิรูปโรงเรียนไม่ได้อยู่ในเฉพาะชั้นเรียน แต่ต้องบูรณาการการสืบสอบและความร่วมมือทั้งในห้องเรียนและห้องพักครูเข้าด้วยกัน เพราะการสืบสอบและการร่วมพลังเป็นเสาหลักในการเรียนรู้ที่มีคุณภาพสูงใน SLC เด็กแต่ละคน สืบสอบผ่านการร่วมมือก็สามารถเรียนรู้วิธีการคิดต่อยอด และเรียนรู้ที่จะนำไปสู่การสร้างองค์ความรู้ให้แก่เด็ก ฉะนั้น งานของครูจึงไม่ใช่การสอน แต่เป็นการออกแบบเพื่อให้เด็กเกิดการทำและการเรียนรู้ได้
ศ.พีท ดัดเลย์ นักวิชาการจากมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ สหราชอาณาจักร กล่าวถึงชุมชนแห่งการเรียนรู้ข้ามโรงเรียน บนฐานการศึกษาบทเรียน สร้างความยุติธรรมทางสังคมจากประสิทธิภาพในการสื่อสาร ว่า ทักษะการพูดในโรงเรียน เป็นการใช้ภาษาพูดให้เกิดประสิทธิผล ซึ่งทำให้เกิดการเรียนรู้ เพราะคนเราจะไม่ได้ยินเสียงที่อยู่ในสมองของแต่ละคนหากไม่มีการพูดออกมา โรงเรียนจะเน้นเรื่องการอ่าน การเขียน และการคิดเลข
ซึ่งการพูดเป็นเสมือนพี่สาวของการอ่านการเขียน และการคิดเลข เพราะหากไม่มีการพูดก็จะไม่สามารถเริ่มการอ่าน การเขียน และการคิดเลขได้ เนื่องจากต้องใช้การพูดในการถกเถียง การแสดงความคิดเห็น
อีกทั้งการที่เด็กทุกคนมีทักษะการพูด พูดเป็น พูดอย่างมีประสิทธิภาพยังทำให้เกิดการพัฒนาตนเอง เด็กที่มาจากครอบครัวฐานะยากจนถ้ามีทักษะการพูดอย่างมีประสิทธิภาพ พูดเพื่อเรียนรู้ แลกเปลี่ยนการเรียนการสอน เสริมสร้างนวัตกรรมร่วมกัน พัฒนาชุมชน สังคม จะ ทำให้เกิดภาวะคนจนสามารถพัฒนาตนเองให้เท่าเทียมคนฐานะดีได้
"เสียงในสมองของเราที่ถ่ายทอดพูดออกมาจะเชื่อมโยงร่วมกัน และแก้ปัญหาร่วมกัน ทำให้เกิดการคิดร่วมกัน ทักษะการพูดจึงเป็นเครื่องมือในการเรียนรู้ มีความสำคัญต่อพัฒนาการของมนุษย์"ศ.พีท กล่าว