นักช้อปโสมขาวปลื้มแบรนด์ญี่ปุ่นไม่เลิก
สินค้าญี่ปุ่นครองใจลูกค้าทั่วโลกมานาน ไม่เว้นแม้แต่ในเกาหลีใต้ คู่อริดั้งเดิมตั้งแต่ก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2 แม้เกิดกระแสคว่ำบาตรสินค้าแดนซากุระ แต่ไม่อาจเปลี่ยนใจลูกค้าที่ภักดีกับแบรนด์ได้
เว็บไซต์เซาท์ไชน่ามอร์นิงโพสต์ รายงานว่า “คิม ซัง จิน” เคยเข้าร้านยูนิโคล่ในกรุงโซล เกาหลีใต้อยู่เป็นประจำ พนักงานออฟฟิศอย่างเขาชอบสไตล์ของเสื้อยืดที่นี่ ใส่แล้วพอดีตัว แต่ช่วงไม่กี่เดือนหลังเกิดกระแสต่อต้านสินค้าญี่ปุ่น ทำให้คิมรู้สึกถูกกดดันไม่ให้เข้าไปซื้อสินค้าในร้านโปรด
เมื่อซื้อยูนิโคล่ในเกาหลีใต้ไม่ได้ เขาก็นำพาความชื่นชอบไปไกลอีกขั้น แอบจองตั๋วไปญี่ปุ่นอย่างน้อยเดือนละครั้ง
“ผมไปร้านยูนิโคล่ในโตเกียวเพื่อซื้อเสื้อยืด 1 ตัว เพราะการซื้อสินค้าญี่ปุ่นในเกาหลีเป็นเรื่องที่สังคมรับไม่ได้ ไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะช้อปในประเทศ” คิมเล่าถึงทริปญี่ปุ่นครั้งล่าสุด
คิมไม่แชร์รูปการเดินทางบนโซเชียลมีเดีย ไม่บอกให้เพื่อนร่วมงานรู้ แต่เล่าให้ครอบครัวและเพื่อนฝูงฟัง
“ผมบอกพวกเขาว่า ผมเกลียดรัฐบาลญี่ปุ่น แต่ไม่ได้เกลียดญี่ปุ่น”
แม้การเดินทางไปต่างประเทศเพื่อซื้อเสื้อยืดอาจดูเป็นเรื่องประหลาด แต่ชาวเกาหลีใต้ทำแบบนี้มากขึ้นทุกทีและคิมก็เป็นหนึ่งในนั้น สื่อท้องถิ่นเรียกพวกเขาว่า “นักช้อปขี้อาย” ต้องแอบซื้อสินค้าและบริการของญี่ปุ่นไม่ให้ใครเห็น
ปรากฏการณ์นี้ถูกโหมกระพือด้วยความขัดแย้งทางการค้าระหว่างสองประเทศ ที่ปกติความสัมพันธ์ก็ไม่ราบรื่นอยู่แล้ว ชนวนเหตุย้อนไปตั้งแต่สมัยญี่ปุ่นยึดครองคาบสมุทรเกาหลีเป็นอาณานิคม ช่วงต้นศตวรรษที่ 20 เมื่อเดือน ก.ค. ความสัมพันธ์ยิ่งเลวร้ายลงเมื่อญี่ปุ่นประกาศว่าจะควบคุมการส่งออกวัตถุดิบไฮเทคให้เกาหลีใต้ ซึ่งรัฐบาลโซลมองว่า ความเคลื่อนไหวนี้ญี่ปุ่นทำเพื่อตอบโต้ที่เกาหลีใต้เรียกร้องให้บริษัทญี่ปุ่นจ่ายเงินชดเชยให้กับชาวเกาหลีใต้ ผู้ตกเป็นเหยื่อถูกบังคับใช้แรงงานในช่วงสงคราม
ชาวโสมขาวหลายคนจึงตอบโต้ด้วยการคว่ำบาตรสินค้าญี่ปุ่นทุกชนิด ตั้งแต่เบียร์ไปจนถึงเครื่องเขียน ร้านค้าพากันเลิกขาย
คนที่ตกที่นั่งลำบากก็คือผู้บริโภคเกาหลีใต้ที่นิยมสินค้าญี่ปุ่น เช่น แบรนด์ค้าปลีกไลฟ์สไตล์อย่างมูจิและยูนิโคล่ ร้านสินค้าราคาถูกอย่างไดโซ รวมถึงล็อตเต้ บริษัทยักษ์ใหญ่ญี่ปุ่น-เกาหลีใต้
คิม ซัง จิน และคนอื่นจำนวนมากพบว่า การคว่ำบาตรสินค้าญี่ปุ่นทำได้ยากขึ้นทุกที
มาโน ลี นักเขียนอิสระผู้ใช้ชีวิตอยู่ในกรุงโซล ต้องกลืนไม่เข้าคายไม่ออกเมื่อเธอต้องการซื้อเสื้อยืดดำ ที่ขายในร้านยูนิโคล่ที่เดียวเท่านั้น แต่อย่างไรเสียเธอก็อ้างว่า สนับสนุนการบอยคอตต์ ที่ต้องซื้อเสื้อยืดยูนิโคล่เพราะไม่มีทางเลือก เธอแอบหลบเข้าไปในร้านใกล้ๆ ซื้อปุ๊บออกปั๊บ
“ซื้อแล้วก็ต้องซ่อนถุงไม่ให้คนใกล้ตัวเห็น เพราะมีโลโก้ยูนิโคล่ปรากฏอยู่” นักเขียนเล่าเทคนิคการลักลอบซื้อสินค้าญี่ปุ่น
ส่วนนักช้อปขี้อายคนอื่นๆ ที่ยังใจไม่กล้าพอ เลือกชอปปิงออนไลน์แทน แนวโน้มนี้ทำให้ชุมชนชาวเน็ตและกลุ่มแช็ตเติบโตขึ้น เป็นที่ที่นักช้อปได้มาพูดคุยแลกเปลี่ยนข้อมูลเรื่องการซื้อสินค้ายูนิโคล่ออนไลน์ แนะนำกลเม็ดหลบเลี่ยงบริษัทขนส่งสินค้าที่ปฏิเสธไม่ยอมส่งสินค้าญี่ปุ่น
ผลที่ตามมาคือ แม้ยอดขายยูนิโคล่ในร้านค้าได้รับผลกระทบอย่างหนัก เดือน ก.ค.บริษัทรายงานว่ากำไรจากการปฏิบัติการลดลง 40% และต้องปิดสาขาในเกาหลีใต้ 4 สาขาช่วงฤดูร้อน แต่ยอดขายออนไลน์กลับดีกว่าเดิม
ยูนิโคล่ไม่ได้เปิดเผยยอดขายจากออนไลน์ แต่สื่อโสมขาวรายงานว่า ยูนิโคล่ “ยู” ที่ออกแบบโดยทีมงานนักออกแบบคุณภาพระดับสากล นำทีมโดยดีไซน์เนอร์ชื่อดัง “คริสตอฟ เลอแมร์” ขายหมดเกลี้ยง
“มีแรงกดดันจากเพื่อนๆ ไม่ให้ซื้อสินค้าญี่ปุ่น แต่เห็นได้ชัดว่าถ้าสินค้านั้นดีจริง ชาวเกาหลีก็ไม่เลิกซื้อ” คิม จิน ยัง อาจารย์สาขาเศรษฐศาสตร์มหภาคประยุกต์ มหาวิทยาลัยเกาหลีอธิบาย
จากปัญหาในปัจจุบัน จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่ยูนิโคล่หันมาใช้กลยุทธ์ดิจิทัล เช่น มหกรรมลดราคาออนไลน์ฉลองครบรอบ 15 ปี สินค้าใหม่นานาชนิดลดราคามากถึง 50% เสื้อสเวตเตอร์ผ้าแคชเมียร์คอเต่าบนเว็บไซต์ยูนิโคล่ฮ่องกงขายในราคา 106,000 วอน แต่บนเว็บไวต์ยูนิโคล่เกาหลีใต้ขายเพียง 69,900 วอน
ยูนิโคล่ไม่ได้ให้ความเห็นเรื่องกระแสนักช้อปขี้อายที่กำลังเพิ่มขึ้น โฆษกบริษัทฟาสต์รีเทลลิง เจ้าของแบรนด์เผยว่า บริษัทกำลังจับตาสถานการณ์ในเกาหลีใต้อย่างใกล้ชิดเพื่อดูผลกระทบในระยะยาว
แต่อาจารย์เศรษฐศาสตร์อย่างคิมมองว่า ท้ายที่สุดแล้วผู้บริโภคอาจเป็นผู้ตัดสิน
“ผมไม่คิดว่าการบอยคอตต์จะทำได้นาน ยอดขายสินค้าจะบ่งบอกถึงตัวสินค้าเอง”
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
-'ประธานเจโทร กรุงเทพ' ชี้นักลงทุนญี่ปุ่นยังมั่นใจลงทุนในไทย
-Japanification: เมื่อโลกจะกลายเป็นญี่ปุ่น
-นักช้อปแดนมังกรเมินค้าปลีกญี่ปุ่น
-ยูนิโคล่ขยายสาขาในเกาหลีใต้