ถอดคัมภีร์ฉบับ 'ภาณุ อิงควัต' สืบทอดธุรกิจ 'เกรฮาวด์'
การปลุกปั้นธุรกิจให้แจ้งเกิดในตลาดครองใจผู้บริโภคกลุ่มเป้าหมาย ไม่ใช่เรื่องง่าย แต่หากทุ่มเทแรงกายและใจจนกิจการเป็นที่รับรู้ มีชื่อเสียงแล้ว เชื่อว่าผู้ก่อตั้งจำนวนไม่น้อยต้องการเห็น “อาณาจักร” ธุรกิจจะเล็กหรือใหญ่เติบโตเป็น “ตำนาน” ส่งต่อรุ่นสู่รุ่น
ทว่า หากธุรกิจที่ไร้ “ทายาท” มาสืบทอด เจ้าของกิจการจะทำอย่างไร ถอดคัมภีร์ ภาณุ อิงคะวัต ผู้ก่อตั้งและผู้บริหารกลุ่มบริษัท เกรฮาวด์ จำกัด(Greyhound) ซึ่งเปลี่ยนบทบาทจาก “เจ้าของ” แบรนด์เสื้อผ้าแฟชั่น ร้านอาหาร คาเฟ่ เกรฮาวด์ ส่งต่อให้ “พันธมิตร” ใหม่เคลื่อนธุรกิจ
ในงานทายาทรุ่น 2 ที่จัดโดย เดอะคลาวด์ เมื่อเร็วๆนี้ ภาณุ เท้าความถึงการทำธุรกิจแฟชั่นและร้านอาหาร จากการผนึกเพื่อนๆเพื่อก่อตั้งธุรกิจเป็นของตัวเอง หลังคร่ำหวอดในแวดวงโฆษณา กับเอเยนซีระดับโลก มีประสบการณ์สร้างแบรนด์มากมาย ทว่าการจะทำให้ธุรกิจดำรงอยู่ในระยะยาวมีหลายทางเลือก ซึ่งสำหรับเกรฮาวด์แล้ว เลือกที่จะหาพันธมิตรที่ “เคมีตรงกัน” มาซื้อกิจการ
5 ปีก่อน เกรฮาวด์ จึงเปลี่ยนมือไปอยู่ภายใต้ “บริษัท มัดแมน จำกัด(มหาชน)” ด้วยมูลค่าดีล 1,853.50 ล้านบาท !!
“เราคุยกันในกลุ่มเพื่อนว่าจะทำงานกันถึงเมื่อไหร่ และตอบโดยไม่คิดว่า ถ้าสนุกอยู่ก็ทำไปเรื่อยๆอีกใจก็คิดว่าจะเกิดอะไรขึ้น หากเราอายุ 70-80 ปี หรือหมดสภาพในการทำงาน จะเกิดอะไรขึ้นกับบริษัทนี้ สิ่งที่รักและทำตลอด 30 กว่าปีจะกลายเป็นอากาศธาตุหรือ?”
การตัดสินใจให้ทุนใหม่เข้ามาบริหารกิจการต่อ สิ่งที่เกรฮาวด์เตรียมตัว คือ ศึกษาสิ่งที่บริษัทถือครองอยู่ ได้แก่ ธุรกิจ(Business) ประกอบด้วย ทรัพย์สินที่มีมูลค่าไม่ว่าจะเป็นอาคาร โรงงาน ที่ดิน เครื่องจักรฯ เหล่านี้ดีดลูกคิดรางแก้วได้ และแบรนด์(Brand) ซึ่งการตีมูลค่าค่อนข้างที่ “พอใจ” ทั้ง 2 ฝ่าย ไม่ง่าย เพราะแบรนด์ดัง บริโภครู้จักในวงกว้าง(Mass) จะยิ่งทำให้มูลค่าดีลแพงขึ้นไปอีก ตัวอย่างแบรนด์แฟชั่นชื่อก้องโลกอย่าง หลุยส์ วิตตอง แอร์เมส ฯ เจ้าของสามารถใส่ตัวเลขตามต้องการเพราะแบรนด์มีคนรู้จักและเป็นที่ต้องการของตลาดอย่างมาก
เกรฮาวด์ทำวิจัยแบรนด์เพื่อวัดความดังของตัวเองเทียบกับแบรนด์แฟชั่นทั้ง Local และ Global พบว่ามีการรับรู้(Awareness) และแทรกตัวอยู่ในใจผู้บริโภคได้ จึงเป็นการ Established หรือมีตัวตนของแบรนด์ สินค้าและบริการอย่างเป็นทางการ
ทั้งนี้ หากถามผู้บริโภคโดยทั่วไปถึงความหมายของแบรนด์ อาจได้คำตบว่า..ฉันไม่สนหรอก ไม่ได้บ้าหรือยึดติดกับแบรนด์ แต่หากถามใหม่ว่า จะซื้อรถ รองเท้าคู่ใหม่ เท่านั้นแหละ “ชื่อแบรนด์” จะโผล่มาเพียบ
“เพราะแบรนด์คือพลังเงียบที่ซ่อนอยู่โดยที่เราไม่รู้ตัว เราอาจพูดว่าไม่สนใจแบรนด์ แต่จริงๆต้องเป็นสาวกของแบรนด์ๆหนึ่งอย่างแน่นอน สิ่งเหล่านี้ทรงอิทธิพลต่อพฤติกรรม และการตัดสินใจของเราไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง” เขาย้ำและยกตัวอย่าง แอปเปิล ที่สตีฟ จ๊อบ ปั้นขึ้นมา คุณค่าแบรนด์ไม่ใช่แค่ผลิตภัณฑ์คีย์บอร์ด มือถือ ที่ดีไซน์โดดเด่น แต่เป็นการ “เปลี่ยนโลก” จากการ “คิดต่าง” และสะท้อนถึงผู้บริโภคกลุ่มเป้าหมายที่ใช้ผลิตภัณฑ์ของแอปเปิล คือคนที่ต้องการนำไอเดียต่อยอดให้เกิดประโยชน์
นอกจากนี้ การพิจารณามูลค่าแบรนด์และโอกาสธุรกิจในอนาคตสำคัญมาก โดยเฉพาะการ “เติบโต” เพราะหากผู้รับไม้ต่อไม่สามารถขยายกิจการ สร้างยอดขายและ “กำไร” ย่อมไม่มีใครต้องการเข้ามาลงทุน
อย่างไรก็ตาม เกรฮาวด์มีแบรนด์คอนเซปต์ Basic with a twist หรือเรียบง่ายแต่เต็มไปด้วยลูกเล่น ไม่ว่าจะเป็นสินค้าแฟชั่น ร้านอาหารจะ “ทวิตส์” ให้เกิดความสนุก สร้างประสบการณ์ให้กับผู้บริโภคอย่างมีสไตล์ เช่น นำกระดาษมาตัดเสื้อผ้า ทำให้การซักทุกครั้งจะได้เสื้อใหม่ ข้าวผัดปูยอดนิยม ทวิตส์เป็นปูผัดข้าว สลับสัดส่วนอาหารดึงดูดผู้บริโภค
ทว่า การสร้างมูลค่าแบรนด์ไม่ได้เกิดขึ้น “ชั่วข้ามคืน” เพราะเกรฮาวด์สำรวจตัวเอง 3 ปีให้พร้อมก่อนส่งต่อกิจการ
“การจะขายกิจการให้ผู้อื่น ต้องสร้างแบรนด์ให้แกร่ง แผนงานชัดเจน ถอยออกมาอย่าให้ธุรกิจขึ้นอยู่กับคนๆเดียว สร้างคนใหม่เข้าไปบริหารสืบทอดต่อ สร้างระบบ สร้างบริษัทให้แข็งแรง พิสูจน์ว่ายอดขายสามารถเติบโตต่อได้ เลือกที่ปรึกษาทางการเงินให้ดี รู้และเข้าใจธุรกิจเซ็กเตอร์เราจริงๆ แล้วตัดสินใจว่าจะขายกิจการทั้งหมด หรือถือหุ้นบางส่วน การถือหุ้น 51% และ 49% มีความต่างกันในการออกสิทธิ์ออกเสียงต่างๆ สุดท้ายเลือกคู่ที่เคมีตรงกัน มีจุดแข็งมาต่อยอดธุรกิจอย่างไร หากเรายังรักแบรนด์เรา อย่าเอาเงินเป็นตัวตั้ง ซึ่งเกรฮาวด์สร้างขึ้นมาเพราะความเชื่อและ Passion ไม่ใช่เหตุผลเพราะเงิน รวมถึงอย่ามองแค่ผลบวกให้มองลบด้วย”