ผู้เชี่ยวชาญแนะวิธีป้องกัน 'การติดเกม'

ผู้เชี่ยวชาญแนะวิธีป้องกัน 'การติดเกม'

กรมสุขภาพจิตและโรงพยาบาลรามาธิบดี แนะวิธีป้องกัน "การติดเกม" ที่อาจนำไปสู่พฤติกรรมก้าวร้าว ชี้ไม่ควรปล่อยเป็นเรื่องของเด็กฝ่ายเดียว แต่เป็นเรื่องที่ทั้งครอบครัวต้องช่วยกันจัดการ

เพจ กรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข โพสต์แนะนำวิธีป้องกันปัญหาการติดเกม ระบุว่า ควรป้องกันตั้งแต่เริ่มต้น ง่ายกว่าการแก้ไขในภายหลัง เพราะเรื่องติดเกมไม่ใช่ปัญหาของแค่ตัวเด็ก แต่เป็นปัญหาของทั้งครอบครัวที่ต้องร่วมกันจัดการ

"ครอบครัวควรทำความรู้จักกับเกมที่เด็กกำลังให้ความสนใจ ไม่ใช่แค่เพียงแต่ตัวเนื้อหาในเกม แต่รวมไปถึงสื่อข้างเคียง เช่น youtuber และ caster ที่เด็กรับชมและติดตามอีกด้วย"

3 แนวทางป้องกันการติดเกมที่กรมสุขภาพจิตแนะนำ ได้แก่ 1.แบ่งเวลาเล่นให้เหมาะสม 1-2 ชั่วโมงต่อวันและไม่ควรเล่นในช่วงเวลาเรียนหรือกลางคืน 2.เนื้อหาเกมต้องไม่มีความรุนแรงและไม่นำไปสู่แหล่งข้อมูลการใช้ความรุนแรง และ 3.พฤติกรรมการเล่นเกมต้องไม่นำไปสู่การใช้เงินฟุ่มเฟือย การโดดเรียน หรือการใช้กิริยาและวาจาที่ก้าวร้าวรุนแรง

ก่อนหน้านี้ เพจ รามาแชนแนล RAMA Channel ของคณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล เคยโพสต์วิธีป้องกันปัญหาเด็กเล็กติดเกม โดยแนะนำให้ผู้ปกครองหรือพ่อแม่ต้องปรับทัศนคติในการเลี้ยงลูก เป็นตัวอย่างที่ดีให้กับลูก ไม่เลี้ยงลูกด้วยมือถือ และพยายามหากิจกรรมทำกับลูกอยู่เสมอ

นอกจากนั้นยังแนะนำให้ผู้ปกครองสังเกตพฤติกรรมของเด็กระหว่างเล่นมือถือ ควรระวังเมื่อมีอาการตัดขาดจากโลกภายนอก โกรธเมื่อถูกจำกัดเวลาหรือห้ามเล่นเกม และกิน-นอนไม่เป็นเวลาเพราะห่วงเล่นเกม

  • ติดเกม = ป่วย?

เมื่อเดือน พ.ค. ที่ผ่านมา องค์การอนามัยโลก (ดับเบิลยูเอชโอ) ลงมติว่า การติดเกมเป็นอาการป่วยชนิดหนึ่ง โดยให้มีผลตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. 2565 เป็นต้นไป ถือเป็นการดับความหวังของอุตสาหกรรมวีดิโอเกมทั่วโลกที่พยายามคัดค้านเรื่องนี้ เพราะวิตกว่าจะทำให้การเล่นเกมเป็นเรื่องเลวร้าย ซึ่งจะส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมเกมโดยรวม

ดับเบิลยูเอชโอ ได้ให้คำนิยามอาการติดเกมว่าเป็นพฤติกรรมเล่นเกมที่ขาดการควบคุม ให้ความสำคัญกับเกมมากกว่ากิจกรรมอื่น และหมกมุ่นกับการเล่นเกมจนถึงขั้นเลือกเล่นเกมก่อนความสนใจหรือกิจวัตรประจำวัน และยังคงเล่นต่อเนื่องหรือมากขึ้นแม้จะมีผลเสียตามมา

ที่ผ่านมา ตัวแทนอุตสาหกรรมวีดิโอเกมทั่วโลกพยายามคัดค้านร่างฉบับนี้ โดยเรียกร้องให้มีการศึกษาอย่างละเอียด พร้อมทั้งระบุว่า พฤติกรรมติดเกมอาจเป็นแค่อาการแสดงออกอย่างหนึ่งจากปัญหาสุขภาพจิตอื่นที่ซ่อนอยู่

157164682560

  • จีนนำร่องจำกัดเวลาเล่นเกม

เมื่อปี 2560 "เทนเซ็นต์" ค่ายเกมออนไลน์รายใหญ่ที่สุดในจีน ออกมาตรการจำกัดระยะเวลาการเล่นเกมออนไลน์ “คิง ออฟ กลอรี่” ซึ่งเป็นเกมแนวผู้เล่นหลายคนเชิงต่อสู้บนสนามรบ (โมบา) บนสมาร์ทโฟนซึ่งกำลังเป็นที่นิยมอย่างสูงทั่วโลก

ระบบดังกล่าวกำหนดให้เด็กที่มีอายุต่ำกว่า 12 ปีเล่นเกมส์ได้แค่ 1 ชั่วโมงต่อวันเท่านั้น และจะไม่ให้เข้าระบบเล่นเกมส์หลังเวลา 21.00 น.เป็นต้นไป ส่วนเด็กที่มีอายุมากกว่า 12 ปีจะเล่นเกมส์ได้ไม่เกิน 2 ชั่วโมงต่อวัน

ในจีน มีเยาวชนกว่า 40 ล้านคนบริหารเวลาในการเล่นเกมไม่เป็น ทั้งยังเกิดกรณีการเสียชีวิตจากการเล่นเกมติดต่อกันเป็นเวลานาน ซึ่งก่อนที่เทนเซ็นต์ประกาศจำกัดเวลาเล่นเกม มีวัยรุ่นอายุ 17 ปีในมณฑลกวางตุ้ง เล่นเกมจนหัวใจวายเสียชีวิต หลังเล่นเกมติดต่อกัน 40 ชั่วโมง

157164681160

อย่างไรก็ตาม ผู้เล่นส่วนใหญ่มองว่า มาตรการของเทนเซ็นต์อาจไม่ได้ผล เนื่องจากเด็กที่เล่นเกมนี้ส่วนใหญ่มักใช้ข้อมูลของพ่อแม่ในการลงทะเบียนอยู่แล้ว แต่บางส่วนก็มองว่า การใช้มาตรการนี้อาจเห็นผล เพราะหากปิดระบบเกมในช่วงเวลาต่าง ๆ ตามต้องการได้ จะช่วยลดปัญหาเด็กติดเกมส์มากขึ้น