ชุมชนบ้านมดตะนอย เกาะลิบง กับการจัดการขยะ สู่หมู่บ้านปลอดโฟม

ชุมชนบ้านมดตะนอย เกาะลิบง กับการจัดการขยะ สู่หมู่บ้านปลอดโฟม

จากคำพูดเปรยของคนนอกชุมชนเกี่ยวกับปัญหาขยะในชุมชนบ้านมดตะนอย สู่การหันมาตระหนักถึงเรี่องการจัดการขยะเพื่อให้ชุมชนสวยสะอาดน่ามอง ด้วยการร่วมมือกันทั้งภาครัฐ เอกชน และภาคประชาสังคม สู่การได้รับการรับรองจากกรมอนามัยให้เป็น “หมู่บ้านปลอดโฟม” ในปี 2560

“ชุมชนบ้านมดตะนอย” ตั้งอยู่ หมู่ 3 ต.เกาะลิบง อ.กันตัง จ.ตรัง เป็นชุมชนหนึ่งที่มีพื้นที่ติดทะเล คลองบ้านมดตะนอย และคลองลัดเจ้าไหม มีประชากรทั้งสิ้น 1,084 คน จำนวน 303 ครัวเรือน  ส่วนใหญ่นับถือศาสนาอิสลาม และทำอาชีพประมงชายฝั่งทะเล ทั้งนี้ ขยะในชุมชนบ้านมดตะนอยมีที่มาจากหลายส่วน ทั้งขยะที่เกิดจากการกิน ในครัวเรือน การประกอบอาชีพ ขยะติดเชื้อ และด้วยความที่มีพื้นที่ติดทะเล ทำให้มีขยะลอยมาติดบริเวณชายฝั่งด้านต่างๆ ซึ่งในช่วงแรกชมุชนยังไม่มีการจัดการขยะ เนื่องจากรู้สึกว่าตนเองไม่ได้เป็นคนทิ้ง และการเก็บขยะควรเป็นหน้าที่ของหน่วยงานของรัฐที่ต้องจัดการ

157164866158

------------------------------

สภากาแฟ จุดประเด็นขยะ

------------------------------

            ในปี 2557 เกิดการพูดคุยเรื่องการจัดการปัญหาขยะในกลุ่มคนเล็กๆ ในสภากาแฟ ถอดบทเรียนการจัดการขยะของชุมชนที่ผ่านมา พบว่า มีการดำเนินการเรื่องขยะมาแล้วกว่า 10 ปีแต่ไม่สำเร็จ นำมาซึ่งการสร้างการมีส่วนร่วมของชุมชน ผ่านเวทีประชาสังคม เกิดเป็นข้อตกลงของชุมชน 6 ข้อ ได้แก่ 1.ทุกครัวเรือนมีการทำความสะอาดบ้านตนเองทุกวันศุกร์ 2.ร่วมรณรงค์การจัดการขยะในชุมชนเดือนละ 1 ครั้ง 3.ทุกครัวเรือนมีการคัดแยกขยะ 4.ทุกครัวเรือนมีการปลูกผักกินเองอย่างน้อย 5 ชนิด 5. ลดการใช้ภาชนะประเภทพลาสติก กล่องโฟม และ 6.ทุกบ้านที่มีโอ่งน้ำต้องใส่ปลากินลูกน้ำตัวผู้ 1 ตัว เมื่อชาวบ้านเริ่มเห็นว่าหมู่บ้านสะอาดขึ้น จึงร่วมมือร่วมใจเข้าร่วมและขยายผลไปทั้งหมู่บ้าน

157164908172

------------------------------

ร้านค้าปลอดโฟม ลดขยะ ให้ดาว

------------------------------

หนึ่งหทัย สกุลส่องบุญศิริ พยาบาลวิชาชีพชำนาญการ ประจำโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) บ้านมดตะนอย เล่าว่า ในปี 2558 มีการตรวจพบคนไข้ที่เป็นมะเร็งเต้านม ทำให้ชุมชนสนใจหาสาเหตุของการเกิดโรค และพบข้อสันนิษฐานว่า น่าจะมาจากการใช้โฟมบรรจุอาหารเป็นระยะเวลานาน ทำให้คนในชุมชนสนใจเลิกใช้โฟมอย่างจริงจัง มีการขอความร่วมมือกับร้านค้าในโรงเรียน ร้านขายของในชุมชน และรถซาเล้งที่มาขายอาหารในหมู่บ้าน เลิกใช้โฟมบรรจุอาหาร และให้เด็กๆ และชาวบ้านนำภาชนะมาใส่อาหาร เครื่องดื่มแทน

กระทั่งในปี 2559 ชุมชนบ้านมดตะนอยได้ประกาศเป็นหมู่บ้านปราศจากโฟม และได้รับรองจากกรมอนามัยให้เป็นหมู่บ้านปลอดโฟมในปี 2560 นอกจากนี้ ยังได้รับการสนุนสนุนจากภาคเอกชนอย่าง “เอสซีจี” ที่เข้ามาให้ความรู้เรื่องการกำจัดขยะแบบองค์รวม รณรงค์ใช้ถุงผ้าแทนการใช้ถุงพลาสติก จัดค่ายเยาวชนเสริมสร้างพลังเด็กสู่การกำจัดขยะแบบยั่งยืน

157164866063

เกิดเป็น “โครงการทำดีให้ดาว” โดยทาง รพ.สต. ได้ประสานกับร้านค้า 15 ร้านในชุมชน ให้ “1 ดาวประเภทปกติ” แก่เด็กๆ ที่นำถ้วย แก้วน้ำ หรือถุงผ้า มาใส่อาหาร เครื่องดื่ม สามารถสะสมดาวไปแลกของรางวัล เช่น แก้วน้ำ กล่องใส่ข้าว ถุงผ้าได้ที่ รพ.สต. รวมถึง “ดาวทอง 3 แต้ม” เมื่อทำกิจกรรมสร้างจิตสำนึกเรื่องการจัดการขยะ เช่น การจัดการโดยใช้ขวดพลาสติกในการเก็บขยะแบบพกพา เมื่อขยะเต็มขวดสามารถนำมาแลกดาวได้

 

                “เราเริ่มจากการสร้างจิตสำนึกให้เด็ก เมื่อเด็กทำได้ ผู้ใหญ่ก็ต้องทำได้ ทั้งนี้ ในชุมชนยังมีร้านค้ากว่า 30 ร้าน เข้าร่วมร้านค้าปลอดโฟม ลด ปฏิเสธ พลาสติก โดยให้คนในชุมชนนำแก้ว ถุง และภาชนะมาใส่ของ จะได้รับคูปองเพื่อลุ้นรางวัลทุกวันที่ 15 ของเดือน สำหรับซาเล้งที่มาขายในหมู่บ้าน หากใช้โฟมเราจะไม่ให้ขายอย่างเด็ดขาด เรื่องขยะถ้าทำเป็นนิสัย เราจะสามารถเปลี่ยนได้อย่างถาวร” หนึ่งหทัย กล่าว

157164866186

               

นอกจากนี้ ยังมี “โครงการการจัดการขยะชุมชนชายฝั่งทะเล” โดยให้แต่ละครัวเรือนคัดแยกขยะเป็น 4 ประเภท เพื่อนำไปสร้างมูลค่าและใช้ประโยชน์ในรูปแบบต่างๆ ได้แก่ ขยะทั่วไป เช่น นำเศษอวนมาทำถุงคัดแยกขยะแทนถุงดำ นำลูกมะพร้าวและยางรถยนต์เก่ามาทำเป็นกระถางปลูกพืชผักสวนครัว ขยะอินทรีย์ เช่น นำเปลือกปู เปลือกกุ้ง ไปทำน้ำหมักชีวภาพ

ขยะรีไซเคิล นำไปแปรรูปเป็นของใช้ เช่น หลอดกาแฟนำไปทำไส้หมอนให้ผู้สูงอายุ ส่วนพลาสติกที่ไม่สามารถใช้ประโยชน์ได้จะนำไปใส่ขวดน้ำเพื่อทำ Eco-Brick ส่งให้กลุ่ม Trash Hero  ขยะอันตราย จะนำส่ง อบต.เกาะลิบง เพื่อกำจัดอย่างถูกวิธี  นอกจากนี้ คณะกรรมการขยะชุมชนยังแบ่งโซนพื้นที่ในหมู่บ้าน เพื่อตรวจตรา ตรวจเยี่ยม และรับผิดชอบการจัดการขยะในพื้นที่ที่ได้รับมอบหมายด้วย

157164890258

มาลิสา ทะเลลึก หัวหน้ากลุ่มโซนดุหยง กล่าวถึงการจัดการขยะของบ้านโซนริมทะเลว่า ชุมชนมีการจัดโซนในการดูแล ได้แก่ โซนหอยชักตีน โซนแมงกะพรุน โซนปะการัง และโซนดุหยง แต่ละกลุ่มโซนมีการบริหารขยะแตกต่างกัน เช่น โซนดุหยง หน้ามรสุมจะเจอขยะเยอะ แต่ก่อนเก็บขยะไปทิ้งที่ฝั่งเพราะไม่รู้ว่าใช้ประโยชน์ได้ แต่ปัจจุบันมีการแยกขยะริมทะเล 4 ประเภท ได้แก่ ไฟแชค รองเท้า พลาสติก และโฟม ซึ่งเป็นขยะที่นิยมพบมากที่สุด ที่ผ่านมาเคยเก็บไฟแชค 2 กก. รองเท้า 13 กก. พลาสติก 2 กก. และโฟม 3 กก. ภายใน 1 วัน

ณัฐวัฒน์ ทะเลลึก ผู้ใหญ่บ้านมดตะนอย กล่าวว่า จากความร่วมมือดังกล่าวทำให้เกิดผลอย่างเป็นรูปธรรม คือ ชุมชนสามารถลดขยะโฟมให้เป็นศูนย์ ลดขยะทั่วไปได้ร้อยละ 53 ลดขยะอินทรีย์ได้ร้อยละ 82 ลดขยะรีไซเคิลได้ร้อยละ 54 ลดขยะอันตรายได้ร้อยละ 34 และลดการใช้พลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวทิ้งได้ประมาณร้อยละ 30 โดยชุมชนได้ตั้งเป้าว่าภายในปี 2565 บ้านมดตะนอยจะเป็นชุมชนปลอดขยะร้อยละ 100 และพร้อมที่จะเป็นผู้แบ่งปันความรู้ แนวคิด และการปฏิบัติด้านการจัดการขยะให้ผู้สนใจต่อไป”

157164897326

ด้าน ศาณิต เกษสุวรรณ ที่ปรึกษาธุรกิจซีเมนต์และผลิตภัณฑ์ก่อสร้าง เอสซีจี กล่าวเสริมว่า เอสซีจีเชื่อว่า การบริหารจัดการขยะที่มีประสิทธิภาพต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน และเป็นหน้าที่ของทุกคน จึงได้มุ่งส่งเสริมและสนับสนุนตั้งแต่ระดับชุมชนให้มีความตระหนักรู้และการจัดการขยะที่ถูกต้องตามแนวทาง “ใช้ให้คุ้ม แยกให้เป็น ทิ้งให้ถูกเพื่อให้สามารถใช้ประโยชน์จากทรัพยากรได้อย่างคุ้มค่าและเกิดประโยชน์สูงสุด

157164866083