แพทย์เตือน! ดื่มยาดองสัตว์มีพิษ อันตรายถึงตาย
กรมการแพทย์ เตือนผู้ที่ชอบนำสุรามาดองกับสัตว์มีพิษดื่ม เป็นอันตรายมาก มีฤทธิ์รุนแรงอาจถึงขั้นทำให้เสียชีวิตได้
นายแพทย์มานัส โพธาภรณ์ รองอธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า สุรา คือเครื่องดื่มที่มีเอทิลแอลกอฮอล์เป็นส่วนประกอบที่สำคัญ มีฤทธิ์กดระบบประสาทส่วนกลาง เมื่อดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์เข้าสู่ร่างกาย จะถูกดูดซึมและกระจายไปทุกส่วนของร่างกาย มีผลต่อการทำงานของระบบต่างๆ ในร่างกาย การดื่มสุราเป็นระยะเวลานานส่งผลกระทบต่อผู้ติดสุราทำให้เสียสุขภาพ เสียสัมพันธภาพกับคนในครอบครัวและเสียการงาน ซึ่งการสูญเสียเหล่านี้ส่งผลกระทบต่อความเป็นอยู่ของผู้ติดสุรา ส่วนพิษสุราแบบเฉียบพลัน ทำให้ขาดสติ ควบคุมตัวเองไม่ได้ อาจทำให้เกิดอุบัติเหตุหรือทะเลาะวิวาทได้ง่าย หลังการดื่มอย่างหนักเช้าตื่นมาจะเมาค้าง ทำให้อ่อนเพลีย คลื่นไส้ ปวดศีรษะ หัวใจเต้นเร็ว การดื่มสุราปริมาณมากในระยะเวลาสั้นๆ อาจทำให้เกิดภาวะแอลกอฮอล์เป็นพิษเฉียบพลัน อันตรายถึงขั้นเสียชีวิตได้ และพิษแบบเรื้อรัง จะหมกมุ่นกับการหาสุราดื่มตลอดเวลา ทำให้สุขภาพร่างกายทรุดโทรม ขาดความรับผิดชอบ การทำหน้าที่ในชีวิตบกพร่อง ทั้งนี้หากมีการผสมสารพิษในสุราจะยิ่งทำให้เกิดอาการพิษทางร่างกายอย่างรุนแรงและอาจเสียชีวิตได้
นายแพทย์สรายุทธ์ บุญชัยพานิชวัฒนา ผู้อำนวยการสถาบันบำบัดรักษาและฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติดแห่งชาติบรมราชชนนี กล่าวเพิ่มเติมว่า การดื่มสุราส่งผลต่อสุขภาพทำลายตับ เหยื่อบุกระเพาะ ลำไส้อักเสบ เป็นแผลในกระเพาะอาหาร และในกลุ่มผู้ที่นิยมนิยมนำสุราไปดองกับสัตว์มีพิษ และนำมาดื่ม เพื่อหวังผลทางการรักษาอาการเจ็บป่วยต่างๆ หรือเพื่อบำรุงร่างกาย บำรุงกำลัง อันตรายมากเพราะอาจได้รับพิษจากสัตว์ดังกล่าว ถึงขั้นเสียชีวิต และในทางการแพทย์ยังไม่พบหลักฐานในการรักษาโรคได้ ในรายของผู้ที่ดื่มสุราจนติด เมื่อหยุดดื่มจะเกิดอาการถอนพิษ ซึ่งสามารถรักษาให้หายได้เป็นปกติ การบำบัดรักษาสุรามี 2 รูปแบบ คือ การบำบัดรักษาแบบผู้ป่วยนอก เหมาะสำหรับผู้ติดแบบไม่รุนแรงมาก สามารถดูแลการทานยาและควบคุมการหยุดดื่มได้ ไม่มีภาวะแทรกซ้อนทางกาย และการบำบัดแบบผู้ป่วยใน เหมาะสำหรับผู้ที่ไม่สามารถควบคุมการดื่มได้ โดยแพทย์จะบำบัดรักษาอาการถอนพิษสุราและภาวะแทรกซ้อน จากนั้นจะเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูสมรรถภาพเพื่อฟื้นฟูกระบวนการคิด สมรรถภาพร่างกายและจิตใจควบคู่กันไป
หากประสบปัญหาเกี่ยวกับสุรา หรือยาและสารเสพติด สามารถขอรับคำปรึกษาได้ที่ สายด่วนยาเสพติด 1165 หรือที่สถาบันบำบัดรักษาและฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติดแห่งชาติบรมราชชนนี กรมการแพทย์ จังหวัดปทุมธานี และโรงพยาบาลธัญญารักษ์ในส่วนภูมิภาคทั้ง 6 แห่ง ได้แก่ โรงพยาบาลธัญญารักษ์เชียงใหม่ แม่ฮ่องสอน ขอนแก่น อุดรธานี สงขลา และปัตตานี สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ www.pmindat.go.th