'บริจาคอวัยวะ' ความดีที่ไม่กลายเป็นเถ้าธุลี
หากลองเปลี่ยนความคิดเป็นว่า “การบริจาคอวัยวะคือการให้ที่เป็นมหากุศล” จากการได้ช่วยเหลือชีวิตผู้อื่น เพราะ 1 ชีวิตที่จากไป สามารถช่วยต่อลมหายใจผู้ที่ยังมีชีวิตได้มากสุดถึง 8 คน มิเพียงปล่อยให้ร่างดับสิ้นสูญกลายเป็นเพียงเถ้าธุลี
แม้แนวโน้มการบริจาคอวัยวะของคนไทยจะดีขึ้น แต่ยังถือว่าประเทศไทยมีอัตราที่ต่ำ โดยในปี 2561 มีผู้ป่วยบริจาคอวัยวะ 261 ราย ผู้ได้รับการปลูกถ่ายอวัยวะจากผู้บริจาค 585 ราย มีผู้รอรับบริจาคอวัยวะ 6,401 ราย โดย 95% เป็นผู้ป่วยรอไต
อย่างไรก็ตาม มีผู้เสียชีวิตระหว่างรอรับบริจาคอวัยวะ 180 ราย คิดเป็น 3% ของผู้ที่รอรับการบริจาค และข้อมูลของศูนย์รับบริจาคอวัยวะสภากาชาดไทย วันที่ 30 ก.ย.2562 มีผู้ป่วยที่ลงทะเบียนรอรับการบริจาคอวัยวะจากผู้ที่เสียชีวิตด้วยภาวะสมองตายจำนวน 6,311 ราย ซึ่งอัตราการบริจาคอวัยวะของคนไทยแม้แนวโน้มจะดีขึ้น แต่ยังถือว่าต่ำอยู่ที่ 3.9 รายต่อประชากร 1 ล้านคน
1 ร่างช่วย 4 ชีวิต
สุดใจ บำรุงจิต บิดาน้องเอิร์ธ - สิทธิกรกฤตย์ บำรุงจิต ผู้บริจาคหัวใจ ตับ และไต 2 ข้าง กล่าวว่า ลูกชายคนเดียวประสบอุบัติเหตุรถจักรยานยนต์ชนท้ายรถ 18 ล้อเมื่อเดือนก.ค.2562 เข้ารับการรักษาในรพ. 3 แห่ง ก่อนจะถูกส่งตัวมายังรพ.จุฬาลงกรณ์เป็นแห่งที่ 4 เนื่องจากมีภาวะสมองบวม หลังรักษาแต่อาการไม่ดีขึ้น และแพทย์แจ้งให้ทราบว่าคนไข้จะหยุดหายใจแล้ว และสอบถามว่าสนใจจะบริจาคอวัยวะหรือไม่ เพราะก้านสมองตายแล้ว แต่อวัยวะยังสมบูรณ์ทุกอย่าง สามารถบริจาคเพื่อช่วยเหลือชีวิตผู้ป่วยคนอื่นให้มีชีวิตต่อไป ในตอนนั้น ตอบแพทย์ทันทีว่า “ยินดีบริจาค เพราะลูกชายร่างกายส่วนอื่นๆ แข็งแรง”
สุดใจ เล่าด้วยว่า หลังจากที่พ่อและแม่ตัดสินใจบริจาคอวัยวะแล้ว ก็ได้บอกน้องให้ทราบว่าบริจาคอวัยวะของน้องเอิร์ธเพื่อช่วยชีวิตคนอื่นต่อนะลูก เป็นบุญกุศลที่ยิ่งใหญ่ ลูกตายไปก็เอาอวัยวะไม่ได้ แต่เมื่อบริจาคแล้วลูกจะได้เอาบุญไปอีกภพหนึ่ง ซึ่งพ่อกับแม่รอส่งน้องจนเข้าห้องถ่ายอวัยวะ และแพทย์ออกมาบอกว่า น้องสามารถช่วยชีวิตคนอื่นได้อีกถึง 4 คน จากการที่ได้บริจาคหัวใจ ตับ และไต 2 ข้าง ถือเป็นความดีที่น้อยคนจะสามารถทำได้อย่างน้อง เพราะแม้จะแจ้งความประสงค์บริจาคอวัยวะไว้ แต่เมื่อถึงเวลาจริงก็ไม่ใช่ว่าทุกคนจะบริจาคได้ทั้งหมด
“หลายคนมีความเชื่อว่าถ้าบริจาคอวัยวะแล้ว ชาติหน้าจะพิการ จะมีอวัยวะไม่ครบ แต่เชื่อว่าคนรุ่นใหม่จะไม่คิดเช่นนี้ เพราะหากลองเปรียบเทียบดูว่าถ้าเอาร่างไปเผาศพ ร่างก็จะกลายเป็นเพียงผงธุลี แต่หากบริจาคอวัยวะที่สามารถนำไปให้คนอื่นได้ อวัยวะนั้นก็ยังอยู่แล้วได้ช่วยชีวิตคนอื่นได้ด้วย เมื่อได้ทำคุณความดีที่ยิ่งใหญ่เช่นนี้แล้ว ก็ขอให้เชื่อว่าความดีจะส่งผลต่อชาติหน้า ดีกว่าเอาอวัยวะไปเผาทิ้งเฉยๆ แต่การบริจาคอวัยวะ แม้ตัวตายไปแต่ชื่อและคุณความดียังอยู่” สุดใจกล่าว
1 ชีวิตขอเห็นท้องฟ้าอีกครั้ง
ขณะที่ รหัท อุดมเวศย์ อายุ 44 ปี ผู้รับการปลูกถ่ายหัวใจ เล่าว่า ป่วยเป็นโรคกล้ามเนื้อหัวใจโตตั้งแต่กำเนิด การใช้ชีวิตจึงเป็นเหมือนระเบิดเวลาเพราะหัวใจสามารถที่จะหยุดเต้นเมื่อไหร่ก็ได้ และรักษาตามอาการมาเรื่อยๆ จนอายุ ราว35 ปีเข้ารับการรักษาที่รพ.ศิริราช แพทย์ก็แจ้งให้ทราบว่าปลายทางของการรักษาคือเปลี่ยนหัวใจ จึงเข้ารับการรักษาที่คลินิกปลูกถ่ายอวัยวะมาประมาณ 1 ปี อาการแย่ลงขณะที่ลูกสาวฝาแฝดเพิ่งคลอดได้ 8 เดือน
นำส่งรพ.และสลบไปก่อนที่จะถึง รพ. ต้องเข้ารับการรักษาด้วยเครื่องช่วยพยุงการทำงานของหัวใจและปอด มีการติดเชื้อ ไตวาย ปอดบวม ม้ามโต น้ำท่วมปอด อวัยวะเริ่มล้มเหลวหมด หัวใจหยุดเต้น 3 ครั้ง อาการหนักมากจนคิดว่าไม่น่ามีชีวิตรอด แต่ก็กัดฟันสู้เพื่อลูก รักษาอยู่ในห้องไอซียูเป็นเวลา 6 เดือน จนได้รับบริจาคหัวใจและผ่าตัดเปลี่ยนอวัยวะได้สำเร็จ ใช้เวลาฟื้นฟูร่างกาย 2-3เดือนกลับไปทำงานได้ และ 1 ปี ค่อยๆฟื้นตัวขึ้น น้ำหนักที่ลดไป 20 กิโลกรัมกลับมาเท่าเดิม และต้องกินยากดภูมิต่อเนื่องตลอดชีวิต
“ตอนที่รักษาในห้องไอซียู 6 เดือน บอกกับตัวเองตลอดว่าจะต้องออกไปเห็นท้องฟ้าอีกครั้ง ซึ่งก่อนที่จะได้รับอวัยวะ แทบจะหมดกำลังใจใน ชีวิต เหมือนกับว่าทำอะไรก็ไม่ได้ เดินก็ไม่ได้ คือไม่อยากทำอะไรกับชีวิตแล้ว แต่ก็รู้ว่าเรามีครอบครัว มีลูก ต้องสู้ต่อไป แม้ว่าจะทรมาน เวลาเดินหรือนั่งบางครั้งหายใจเหนื่อยเหมือนกับวิ่งมาเป็น 100 เมตร แต่หลังจากที่เปลี่ยนหัวใจ เหมือนมีพลัง มีกำลังที่จะทำอะไรต่อไปได้ สบายขึ้นใช้ชีวิตได้ปกติ ทำกิจกรรมต่างๆได้ และตั้งปณิธานว่าจะช่วยเหลืองานเกี่ยวกับเรื่องการรณรงค์ให้คนบริจาคอวัยวะอย่างเต็มกำลัง เพราะ 1 ชีวิตสามารถบริจาคอวัยวะเพื่อช่วยได้อีกหลายชีวิต” รหัทกล่าว
บริจาคอวัยวะอัตโนมัติ
อย่างไรก็ตาม นอกจากการรณรงค์เพื่อให้คนไทยบริจาคอวัยวะมากขึ้นแล้ว แนวทางหนึ่งที่มีการพูดถึง คือ “การบริจาคอวัยวะอัตโนมัติ” ซึ่งขณะนี้แพทยสภาได้ยกร่าง พ.ร.บ.เกี่ยวกับชีวิตและการบริจาคอวัยวะ โดยจะเป็นการกำหนดในลักษณะที่ประชาชนเป็นเจ้าของชีวิตของตนเอง แต่ตราบใดที่วิญญาณได้ออกจากร่างหรือเสียชีวิตแล้ว ให้ผู้มีอำนาจหน้าที่สามารถที่จะนำอวัยวะไปใช้ประโยชน์ในการช่วยชีวิตบุคคลอื่นต่อไปได้ หรือเป็นการบริจาคอวัยวะโดยหน้าที่ไม่ต้องขอก่อน เพื่อที่เมื่อเกิดเหตุฉุกเฉินจะสามารถนำอวัยวะไปใช้ประโยชน์ได้ทันเวลา แต่บุคคลที่ไม่พร้อมบริจาคอวัยวะสามารถแสดงความจำนงในการถอนตัวได้ โดยไม่ผิดกฎหมาย
อนึ่ง กระทรวงสาธารณสุข(สธ.) และสภากาชาดไทย ร่วมจัดโครงการบริจาคอวัยวะเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสฉลองพระราชพิธีบรมราชาภิเษก พุทธศักราช 2562 ดำเนินงานตั้งแต่วันที่ 16 ต.ค. 2562 -4 พ.ค.2563 มีเป้าหมายผู้แสดงความจำนงบริจาคอวัยวะจำนวน 1.5 แสนคน ใน 76 จังหวัดทั่วประเทศ
ทั้งนี้ สามารถแสดงความจำนงบริจาคอวัยวะได้ที่ศูนย์รับบริจาคอวัยวะ หรือบริจาคอวัยวะออนไลน์ ในเว็บไซต์ www.organdonate.in.th และบริจาคอวัยวะผ่าน mobile Application ชื่อ บริจาคอวัยวะ เพื่ออำนวยความสะดวกแก่ผู้สนใจแสดงความจำนงบริจาคอวัยวะโดยผู้สนใจสามารถกรอกข้อมูลผู้แสดงความจำนงบริจาคอวัยวะตามขั้นตอนอย่างครบถ้วน หลังจากนั้นระบบจะส่ง SMS และอีเมล์แจ้งผู้แสดงความจำนงไร้ญาติผู้รับบริจาคอวัยวะต่อไป