'รถยนต์ไฮโดรเจน' ความหวังใหม่โตโยต้า

'รถยนต์ไฮโดรเจน' ความหวังใหม่โตโยต้า

โตโยต้าเปิดตัว "มิราอิ" ยานยนต์พลังงานไฮโดรเจนรุ่นใหม่ในงานโตเกียวมอเตอร์โชว์ วานนี้ (23 ต.ค.) แต่เทคโนโลยีนี้ยังไม่เป็นที่แพร่หลายเท่ารถยนต์พลังงานไฟฟ้า โตโยต้าจึงหวังใช้การแข่งขันกีฬาโอลิมปิกในปี 2563 เพิ่มการใช้รถพลังงานใหม่ให้มากขึ้น

ค่ายรถดังจากญี่ปุ่นรายนี้ใช้วิธีเป็นสปอนเซอร์หลักในการแข่งขันกีฬาทั่วโลกตลอดไปจนถึงปี 2567 ในบรรดารถยนต์ 3,700 คัน ที่จะนำมาใช้ระหว่างโอลิมปิกโตเกียวเกมส์ในฤดูร้อนปีหน้า จะเป็นรถพลังงานไฮโดรเจนรุ่นใหม่ราว 500 คัน

ถ้าเทียบกับรถยนต์ไฟฟ้าที่ใช้แบตเตอรีลิเทียมไอออนแล้ว ผู้บริโภคยอมรับรถยนต์ไฮโดรเจน (เอฟซีอีวี) ช้ากว่า ภายในสิ้นปี 2561 ทั่วโลกมีสถานีบริการไฮโดรเจนเพียง 381 สถานี ขณะที่สถานีชาร์จแบตเตอรีลิเทียมไอออนมีถึง 5.2 ล้านสถานี

ผู้สนับสนุนรถยนต์ไฮโดรเจนกล่าวว่า เทคโนโลยีนี้เปิดโอกาสมหาศาลสำหรับการเปลี่ยนผ่านไปใช้ยานยนต์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เช่น ไม่ปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ ชาร์จแบตได้เร็วกว่า ชาร์จหนึ่งครั้งวิ่งได้ไกลกว่า

แต่ทั้งรถและสิ่งอำนวยความสะดวกยังแพงอยู่มาก ส่วนหนึ่งเป็นเพราะไฮโดรเจนอันตรายตรงที่ติดไฟและระเบิดได้ง่าย ทั้งยังมีข้อกังวลเรื่องวิธีผลิตพลังงานไฮโดรเจน

ข้อมูลจากสำนักงานพลังงานระหว่างประเทศ (ไออีเอ) เผยว่า การผลิตไฮโดรเจนในปัจจุบันทั้งหมดมาจากพลังงานฟอสซิล ปีๆ หนึ่งปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่ากับการปล่อยก๊าซในอังกฤษและอินโดนีเซียรวมกัน

ทาเคชิ มิยาโอะ ประธานบริษัทที่ปรึกษาคาร์โนรามา กล่าวว่า ณ เวลานี้เทคโนโลยีไฮโดรเจนยังไม่พร้อมเต็มที่

“คุณจำเป็นต้องใช้พลังงานปริมาณมากมาผลิตไฮโดรเจน”

แต่ผู้เชี่ยวชาญบางคนเชื่อว่า หากความต้องการรถยนต์ไฮโดรเจนมากขึ้น การผลิตไฮโดรเจนที่มีประสิทธิภาพกว่าเดิมก็จะตามมาเองโดยธรรมชาติ

“เมื่อตลาดถึงจุดนั้น ย่อมมีการลงทุนก้อนใหญ่ในไฮโดรเจนคาร์บอนต่ำ” เออร์วิน เพนฟอร์นิส รองประธานฝายไฮโดรเจนเอเชีย-แปซิฟิค จากบริษัทแอร์ลิควิเดของฝรั่งเศสกล่าว

นั่นก็คือความต้องการที่โตโยต้าหวังโหมกระพือในการแข่งขันโอลิมปิกปี 2563 โดยจะเพิ่มจำนวน “โซระ” รถบัสไฮโดรเจนบนท้องถนนในกรุงโตเกียวด้วย จากปัจจุบัน 15 คันเป็น 100 คันภายในฤดูร้อนปีหน้า

ยาสุโนบุ เซกิ จากแผนกโครงการโอลิมปิกของโตโยต้าเคยกล่าวก่อนหน้านี้ว่า เมื่อผู้บริโภคเห็นรถยนต์พลังงานไฮโดรเจนที่ใช้ในโอลิมปิก ก็จะตระหนักว่าไฮโดรเจนสามารถใช้เป็นส่วนหนึ่งในชีวิตประจำวันของคนเราได้

โตโยต้าจำหน่ายมิราอิ (ในภาษาญี่ปุ่นแปลว่าอนาคต) รุ่นแรกเมื่อปลายปี 2557 ถึงขณะนี้ถือว่าประสบความสำเร็จเล็กน้อย ขายได้แค่ 1,000 คัน

วานนี้บริษัทเปิดตัวมิราอิรุ่น 2 ที่มีพิสัยการขับขี่เพิ่มขึ้น 30% เตรียมวางตลาดปลายปี 2563 ขณะนี้ยังไม่กำหนดราคา

นอกจากนี้โตโยต้ายังเพิ่มกำลังการผลิตในญี่ปุ่น ตั้งเป้าผลิตรถไฮโดรเจนได้ปีละ 30,000 คันภายในปี 2564 มากกว่าขีดความสามารถในปัจจุบัน 10 เท่า

โตโยต้าเผยว่า เทคโนโลยีไฮโดรเจนเป็นหนึี่งในหลายๆ แนวทางที่บริษัทเลือกใช้ นำไปประยุกต์ได้กับทั้งรถยนต์ส่วนตัว และรถบรรทุกหนัก เช่น รถบัสและรถบรรทุก

ในมุมมองของนักวิเคราะห์ เป็นไปได้มากว่ารถบรรทุกหนักจะยอมรับเทคโนโลยีไฮโดรเจนได้เร็วที่สุด โดยเฉพาะในจีน

สำหรับจีนหลังจากเป็นเจ้าเรื่องรถยนต์ไฟฟ้าแบตเตอรีลิเทียมไอออนไปแล้ว ก็มีแผนสำหรับรถยนต์ไฮโดรเจน เมื่อเดือน มี.ค.จีนตั้งเป้าใช้รถยนต์ไฮโดรเจน 1 ล้านคันภายในปี 2573 โดยโตโยต้าเร่งคว้าประโยชน์ตรงนี้ เดือนถัดมาบริษัทลงนามข้อตกลงจัดหาอุปกรณ์ไฮโดรเจนให้กับโฟตอน บริษัทลูกของปักกิ่งออโตโมทีฟกรุ๊ป (บีเอไอซี)ทั้งยังทำข้อตกลงเป็นพันธมิตรคล้ายๆ กันนี้กับบริษัทจีนรายอื่นๆ เช่น เอฟเอดับเบิลยู และกว่างโจวออโตโมบายล์กรุ๊ป

ข้อตกลงเหล่านี้เกิดขึ้นท่ามกลางสายสัมพันธ์อันอบอุ่นระหว่างรัฐบาลปักกิ่งกับโตเกียว คาดว่าประธานาธิบดีสี จิ้นผิง จะเยือนญี่ปุ่นอย่างเป็นทางการในฤดูใบไม้ผลิปีหน้า

ด้านนักวิเคราะห์มองว่า ผู้ผลิตยานยนต์พลังงานไฮโดรเจนอาจจะฉลาดที่ให้ความสำคัญกับรถยนต์เชิงพาณิชย์ก่อน

“การมุ่งเน้นที่รถยนต์เพื่อการพาณิชย์ทำให้การทำข้อตกลงพัฒนาเครือข่ายศูนย์ชาร์จพลังงานง่ายขึ้น เพราะปกติยานยนต์ประเภทนี้มักจะวิ่งในเส้นทางที่รู้กันอยู่แล้ว เมื่อสร้างสถานีชาร์จพลังงานเสร็จ คนก็เริ่มสนใจรถโดยสารพลังงานไฮโดรเจน จากที่ตอนนี้คนสนใจแค่กลุ่มเล็กๆ เท่านั้น” เจเน็ต ลูอิส นักวิเคราะห์จากแม็คไกวร์ แคปิตอล ซีเคียวริตีส์ในญี่ปุ่นให้ความเห็น