'รวยกระจุก-จนกระจาย' ปัญหาคลาสสิคของโลก

'รวยกระจุก-จนกระจาย' ปัญหาคลาสสิคของโลก

คนรวยมีกระหยิบมือหนึ่ง และคนจนมีจำนวนมาก เป็นปัญหาที่เกิดขึ้นทั่วโลก แม้ประชากรโลกกว่า 1.9 พันล้านคน จะหลุดพ้นจากความยากจนมาแล้วก็ตาม

เมื่อไม่นานมานี้ มีข่าวดีจากธนาคารโลกว่า ในช่วงเวลาไม่ถึงหนึ่งชั่วอายุคนคือช่วงปี2533-2558 มีประชากรโลกกว่า 1.9 พันล้านคน หลุดพ้นจากความยากจน หรือผู้ที่มีรายได้วันละ 1.90 ดอลลาร์ (ประมาณ 57 บาท) หรือน้อยกว่านี้ ทำให้เหลือคนที่ถูกจัดให้อยู่ในกลุ่มคนยากจนทั่วโลก 735 ล้านคน หรือถ้ามองเป็นสัดส่วนก็คือมีคนจนในโลกตามคำนิยามดังกล่าวลดลงจาก 36% เหลือ 10% เท่านั้น

แต่ข้อมูลนี้ของธนาคารโลก ถูกมองในหลายแง่มุมจากเหล่านักเศรษฐศาสตร์ชั้นนำของโลก โดยเฉพาะ“ความจน”และ“ความรวย”ที่ไม่ได้เสมอภาคกัน ไม่ได้เท่าเทียมกันในแต่ละสังคม เพราะฉะนั้น ต่อให้ธนาคารโลกอ้างว่า ทำให้คนยากจนในโลกลดลงไปมากแค่ไหน แต่ถ้าในสังคมทั่วโลกยังมี“ความเหลื่อมล้ำ”ด้านรายได้ ที่ทำให้คนปากกัดตีนถีบ และปัญหาความเหลื่อมล้ำด้านรายได้ก็ทำให้เกิดปัญหาความก้าวหน้าทางสังคมตามมา ความพยายามลดจำนวนคนยากจนที่เพียรทำมาก็สูญเปล่า

นักเศรษฐศาสตร์ที่จัดทำรายงานว่าด้วยประชากรยากจนทั่วโลกที่ลดลง ก็ยอมรับว่า การขยายตัวทางเศรษฐกิจที่ไม่ทั่วถึง ปัญหาเศรษฐกิจชะลอตัว และภาวะสงครามความขัดแย้งทางการเมืองในประเทศ เป็นอุปสรรคขัดขวางการผลักดันเรื่องนี้

เป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนของสหประชาชาติ(ยูเอ็น)บ่งชี้ชัดว่าจะลดปัญหาความยากจนให้ได้ภายในปี 2573 แต่รายงานที่ออกมาเมื่อเดือน ก.ค.ที่ผ่านมา คาดการณ์ว่าภายในกำหนดเส้นตายดังกล่าว จะยังมีประชากรที่ถือว่าเป็นคนจนตามมาตรฐานนานาชาติอยู่ประมาณ 6%

ย้อนหลังไปเมื่อปี 2558 ประมาณครึ่งหนึ่งของคนจนทั่วโลกกระจุกตัวอยู่ใน 5 ประเทศคือ อินเดีย ไนจีเรีย สาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโก เอธิโอเปีย และบังกลาเทศ แต่ล่าสุด การประมาณการหลายชิ้นบอกว่า ไนจีเรีย กำลังจะแซงหน้า หรือแซงหน้าอินเดียไปแล้ว ในฐานะประเทศที่มีคนยากจนมากที่สุดในโลก โดยทั้ง 2 ประเทศมีคนจนใกล้จะถึง 100 ล้านคน

ภายในปี 2573 แม้หลายประเทศในแอฟริกาจะออกมาตรการหลากหลายเพื่อต่อสู้กับความยากจน แต่ประชากรเกือบ 9 ใน 10 ก็ยังมีรายได้เลี้ยงชีพอยู่ที่วันละ 1.90 ดอลลาร์หรือต่ำกว่านั้น โดยเฉพาะในประเทศทางใต้ของทะเลทรายสะฮารา

ขณะที่การแจกเงิน หรือการดำเนินนโยบายประชานิยมก็ไม่ได้ช่วยแก้ปัญหานี้ได้ตรงจุด ยกตัวอย่างกรณีของบราซิล มีการดำเนินโครงการแจกเงินให้ประชาชนผู้ยากจน ซึ่งช่วยลดอัตราความยากจนลง 21.6% ในปี 2533 มาอยู่ที่ 2.8% ในปี 2557 แต่อัตราดังกล่าวเพิ่มกลับขึ้นมาเป็น 4.8% ในปี 2560

ปัญหาที่รัฐบาลทุกประเทศควรนำไปคิดเป็นการบ้านคือ ตัวเลขคนจน หรือผู้ที่มีรายได้วันละ 1.90 ดอลลาร์ หรือต่ำกว่านี้ทั่วโลกลดลง แต่ตัวเลขคนจนตามมาตรฐานของประเทศที่พวกเขาอาศัยอยู่กลับเพิ่มขึ้น สะท้อนถึงปัญหาความไม่เสมอภาคที่เพิ่มขึ้น ซึ่งแน่นอนว่า หากทุกประเทศยังนิ่งนอนใจและเอาแต่ปลื้มเปรมกับตัวเลขคนยากจนลดลง โดยไม่สนใจแก้ปัญหานี้อย่างจริงจังย่อมส่งผลกระทบต่อความเจริญก้าวหน้า การแก้ปัญหาความยากจน และความก้าวหน้าของสังคมโดยรวมอย่างไม่ต้องสงสัย