Green Pulse l “โคคา-โคลา”ย้ำพันธกิจ ทำสงครามกับพลาสติก
ในสายตาของผู้บริโภคทั่วโลกที่อยู่ในยุคของการคำนึงถึงผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม และการให้ความสำคัญกับการรักษาสุขภาพ เมื่อเอ่ยชื่อโคคา-โคลา หลายคนอาจส่ายหน้าและมองว่าเครื่องดื่มน้ำดำแบรนด์นี้เป็นสัญลักษณ์ของการสร้างมลภาวะให้กับโลกด้วยขยะพลาสติก
และเป็นต้นตอของโรคอ้วนในเด็ก แต่เจมส์ ควินซีย์ ประธานคณะเจ้าหน้าที่บริหาร(ซีอีโอ)ที่ดูแลหน่วยงานทั่วโลกของโคคา-โคลา ให้สัมภาษณ์บีบีซี (25ต.ค.) ยืนยันว่า บริษัทยังคงเดินหน้าพันธกิจทำสงครามกับขยะพลาสติก ตามที่บริษัทได้ประกาศวิสัยทัศน์“โลกปลอดขยะ”ไป เมื่อวันที่ 1 ม.ค.ปี 2561 ถือเป็นถ้อยคำยืนยันที่แสดงถึงความมุ่งมั่นและกล้าหาญของผู้บริหารระดับสูงของบริษัทที่ผลิตขวดพลาสติกปีละกว่า 1 แสนล้านใบ
รายงานสังเกตการณ์และติดตามความคืบหน้าเรื่องการกำจัดขยะทั่วโลกที่เผยแพร่เมื่อไม่นานมานี้ พบว่า ขยะพลาสติกของบริษัทโคคา-โคลาในประเทศต่างๆทั่วโลกมีปริมาณมากกว่าขยะพลาสติกของบริษัทผลิตสินค้าอุปโภค-บริโภคชั้นนำของโลก 3 แห่งรวมกัน ซึ่งประเด็นนี้ ควินซีย์ ยืนยันหนักแน่นว่า บริษัทกำลังดำเนินการในแนวทางที่ถูกต้องเกี่ยวกับการกำจัดขยะพลาสติก
“เราตั้งใจที่จะรีไซเคิลขวดพลาสติกทุกใบที่เราขายให้ลูกค้าทุกรายภายในปี 2573 ตอนนี้เราทำโครงการรีไซเคิลขวดพลาสติกได้แล้วประมาณ 59% จากปริมาณขวดพลาสติกทั้งหมดที่อยู่อยู่”ควินซีย์ กล่าว
ควินซีย์ ยอมรับว่า การดำเนินการเรื่องนี้ เป็นเรื่องที่ต้องใช้เวลา และโคคา-โคลาไม่มีแผนที่จะลดปริมาณการใช้พลาสติก แต่50% ของการผลิตพลาสติกใหม่จะมาจากขวดพลาสติกที่ผ่านการรีไซเคิล ในแต่ละปี โคคา-โคลา ใช้และผลิตบรรจุภัณฑ์พลาสติกสำหรับเครื่องดื่มที่วางขายทั่วโลกปีละ 3 ล้านตัน หรือมีกำลังการผลิตขวดพลาสติกสูงถึง 200,000 ขวดต่อนาที ในจำนวนนี้ เป็นขวดพลาสติก PET ขนาด 500 มิลลิลิตรจำนวนมากถึง 108,000 ล้านขวดต่อปี ซึ่งมากกว่า 1 ใน 5 ของปริมาณการผลิตขวด PET ทั่วโลกที่มีอยู่ประมาณ 5 แสนล้านขวดต่อปี
เมื่อโคา-โคลา ประกาศวิสัยทัศน์“โลกปลอดขยะ”เมื่อปีที่แล้ว บริษัทแห่งนี้ก็ตั้งเป้าเก็บขวดและกระป๋องที่ผลิตกลับคืนมาให้ได้100% ภายในปี 2573 เริ่มต้นตั้งแต่ปี 2568 ที่จะมีการออกแบบและใช้บรรจุภัณฑ์ที่สามารถนำกลับไปรีไซเคิลได้ทั้งหมด ซึ่งแน่นอนว่า ถ้าโคคา-โคลา ทำได้ตามที่ประกาศเจตนารมณ์ จะทำให้บริษัทได้รับการยอมรับในระดับโลก เพราะปัญหานี้กำลังเป็นปัญหาใหญ่ของโลกที่จำเป็นต้องมีการร่วมแรงร่วมใจกันแก้ไข
ผู้บริหารระดับสูงของโคคา-โคลา ยังบอกด้วยว่า บริษัทยังคงเดินหน้าตามวิสัยทัศน์ดังกล่าวที่ประกาศไว้เมื่อปี 2561 เพื่อสร้างความร่วมมือในระบบเศรษฐกิจหมุนเวียน เริ่มจากการใช้วัสดุที่สามารถนำกลับมาใช้ใหม่ได้ ให้ได้มากที่สุด เริ่มจากประเทศในยุโรป จากนั้นก็มาที่ละตินอเมริกา และภูมิภาคเอเชียตามลำดับ
ส่วนในภูมิภาคอาเซียนนั้น โคคา-โคลา เริ่มทำโครงการนี้ช้ากว่าภูมิภาคอื่น แต่ก็เริ่มดำเนินการแล้วในกรุงมะนิลา ประเทศฟิลิปปินส์เมื่อประมาณปลายเดือนมิถุนายน ถือว่าฟิลิปปินส์เป็นประเทศแรกที่ใช้ขวด PET ที่สามารถนำกลับมาใช้ใหม่ได้ โดยเริ่มต้นจากผลิตภัณฑ์น้ำดื่มวีว่า และสาเหตุที่โคคา-โคลา ประเดิมโครงการนี้ที่ฟิลิปปินส์ เพราะฟิลิปปินส์เป็นตลาดใหญ่สุดในอาเซียนของบริษัท
ควินซีย์ ยังอธิบายเพิ่มเติมว่า บริษัทกำลังศึกษาการสร้างระบบเศรษฐกิจหมุนเวียนแบบลงลึกซึ่งครอบคลุมถึงการเก็บขวดพลาสติกและกระป๋องร่วมกับบรรดาพันธมิตรในวงการ เริ่มตั้งแต่การเก็บคืนขวดจากเหล่าอาสาสมัคร ไปจนถึงการเป็นหุ้นส่วนผลิตขวดพลาสติกหมุนเวียน ซึ่งบริษัทได้ดำเนินการแล้วในแอฟริกาใต้ และในเม็กซิโก โดยจะนำโมเดลนี้มาใช้กับประเทศต่างๆในภูมิภาคอาเซียนต่อไป
โคคา-โคลา มองว่า การใช้กลยุทธภายใต้ระบบเศรษฐกิจหมุนเวียนให้ประสบความสำเร็จได้ ต้องประกอบด้วยการออกแบบบรรจุภัณฑ์ให้สามารถนำกลับมาใช้ใหม่ได้ และใช้ได้จริงๆ ต้องเก็บขวดและกระป๋องที่จำหน่ายออกไปแล้ว กลับคืนมาสู่กระบวนการผลิตใหม่ หรือรีไซเคิลได้ทั้งหมดจริงๆ และสิ่งสำคัญที่สุดคือ ต้องสร้างเครือข่ายพันธมิตร
หากบริษัทยักษ์ใหญ่ในธุรกิจน้ำดำโลกให้คำมั่นหนักแน่นแบบนี้ ผู้บริโภคที่รักสุขภาพและรักสิ่งแวดล้อมทั้งหลายน่าจะสบายใจขึ้นในระดับหนึ่ง ว่าโคคา-โคลา กำลังทำสงครามกับพลาสติกอย่างจริงจัง ไม่ได้ประกาศวิสัยทัศน์โหนกระแสเศรษฐกิจหมุนเวียนอย่างที่หลายคนเข้าใจ เพียงแต่การลดปริมาณพลาสติกในระบบอุตสาหกรรม เป็นเรื่องที่ต้องใช้เวลา