‘ซูเปอร์ฮีโร่’ ใครๆก็เป็นได้ ฉบับ ‘ผู้ประกอบการหญิง’
"ชอบเรียนเลข ชอบคิดวิเคราะห์ ชอบอ่านหนังสือ ชอบคิดต่างมีจินตนาการ และที่สำคัญคือรู้ชัดเจนว่าตัวเองอยากทำอะไร"
ทั้งหมดนี้คือคุณสมบัติที่มีความคล้ายกันของ 2 วิทยากร ตัวแทนผู้ประกอบการหญิงไทยที่ประสบความสำเร็จที่ขึ้นพูดบนเวทีเสวนา " Women Entrepreneurs and Passion-Driven Business" ภายในงาน “Women Entrepreneurship Week 2019 Thailand”
“จรีพร จารุกรสกุล” ประธานคณะกรรมการบริษัทและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มบริษัท ดับบลิวเอชเอ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ผู้เชี่ยวชาญด้านโลจิสติกส์ แวร์เฮาส์ และนิคมอุตสาหกรรม เล่าว่า บริษัท WHA เริ่มต้นจากธุรกิจโลจิสติกส์ จากนั้นเข้าสู่ธุรกิจนิคมอุตสาหกรรมโดยซื้อกิจการของ บริษัทเหมราช มีธุรกิจให้บริการสาธารณูปโภคและพลังงาน และธุรกิจดิจิทัล แพลตฟอร์ม มีบริษัทในเครือ 60 แห่ง มีรายได้แสนล้านบาท แต่มีพนักงานไม่ถึง 500 คน
อะไรคือเคล็ดลับความสำเร็จ ? โดยคร่าว ๆ ต้องบอกว่าเมื่อถอดมาจากคำกล่าวของเธอ มีดังนี้
“ไม่กลัวดิสรัปชัน เรื่องเทคโนโลยีทิ้งไม่ได้ แต่ต้องรู้จักใช้มัน” ที่สะท้อนภาพด้านแรกของผู้ประกอบการหญิงท่านนี้ที่เข้าใจและใช้เทคโนโลยีขั้นสูง อย่างน่าทึ่ง
"ไม่ว่า 5G หรือ sandbox และ smart grid ก็เป็นโครงสร้างพื้นฐานธุรกิจเราเกือบทั้งหมด ไม่ว่าเทคโนโลยีจะเปลี่ยนไปอย่างไร ก็ ยังจำเป็น ยิ่งโลจิสติกส์ยิ่งมีความสำคัญมากขึ้นเมื่อเทคโนโลยีดิจิทัลถูกใช้มากขึ้น"
ผู้นำหญิงท่านนี้บอกว่า รู้ตัวเองตั้งแต่ 10 ขวบว่าไม่อยากเป็นลูกจ้างใคร ไม่เคยขอเงินทางบ้านแม้แต่บาทเดียว พอเรียนจบก็เริ่มหาประสบการณ์ในการทำ ธุรกิจ สะท้อนให้เห็นถึงความมุ่งมั่นที่จะเป็นผู้ประกอบการ
"แม้จะมาจากครอบครัวคนจีน ที่คุณพ่อดุมากและไม่ได้ส่งเสริมลูกสาวเท่ากับลูกชาย กว่าจะมาถึงวันนี้ได้ต้องคิดวิเคราะห์ได้ว่าจะทำธุรกิจอะไร มีอนาคตไหม มองภาพให้ออก ต้องคิดต่างและมีจินตนาการ เปิดโอกาสไม่สร้างเงื่อนไขให้กับชีวิตตัวเอง"
สำหรับจรีพร เธอเชื่อว่า “การทำธุรกิจไม่ต้องรอพร้อม เพราะความไม่พร้อมต่างหากที่ทำให้เกิดธุรกิจ”
ประการสำคัญก็คือ ซีอีโอไม่ได้เก่งคนเดียว ต้องทำงานเป็นทีมเวิร์ค และเชื่อว่า ผู้หญิงก็เป็น “ซูเปอร์ฮีโร่” ได้ ถ้าใช้สมองและมีพลังคิดบวก ต้องปกป้องและไว้ใจลูกน้อง คนในทีม
“บริษัทเราต้องการพนักงานที่ใฝ่เรียนรู้เสมอ ไม่เป็นคนน้ำเต็มแก้ว จัดโปรแกรมอบรมให้พนักงานเยอะมาก ล่าสุดมีหลักสูตร WHA Innovation Leader เพื่อให้ทุกคนได้เรียนรู้” เป็นคำกล่าวที่สะท้อนถึงแนวคิดของการบริหารคน
นอกจากนี้ยังเป็นผู้ประกอบการหญิงที่เข้าใจการบริหารเงินทุนอย่างเชี่ยวชาญ จากคำกล่าวว่า "เริ่มธุรกิจก็กู้เงินจากธนาคาร ก่อน จากนั้นเริ่มมี
property fund แล้วก็กองทุนรีท กองทรัสต์ รู้จักระดมทุนจากตลาดเงิน ตลาดทุน ร่วมทุนกับบริษัทต่างชาติเพื่อได้เงินทุนและความน่าเชื่อ
ถือ ต้องรู้จักหมุนเงินและลด D/E”
ยังมีคำกล่าวที่แสดงถึงความสามารถในการคิดเชิงกลยุทธ์ ตลอดจนการสร้างพันธมิตรในเชิงรุกก็คือ “ไม่เคยสนใจคู่แข่ง ถ้าทำธุรกิจแล้วมีคู่แข่ง แปลว่า เรามาถูกทาง เป็นธุรกิจที่มีอนาคต เชื่อว่าไม่มีใครกินรวบได้ ไม่เสียเวลามองคู่แข่ง แต่สนใจ strategic partners ที่ช่วยต่อยอด
ธุรกิจ”
เธอเล่าว่า ในปีพ.ศ. 2550 ถือเป็นปีที่ได้พบอุปสรรคมากมาย ทั้งโปรเจ็คสร้างไม่ได้ตามต้องการ มีคนฟ้องต้องขึ้นศาล ชีวิตในช่วงนั้นมีความโลภ ทะเยอทะยาน แม้ไม่ได้คิดว่าตัวเองเก่ง แต่ก็รู้สึกรุ่มร้อน ไม่มีความสุข จึงคิดว่ามีมากกว่านี้หรือมีน้อยกว่านี้ไม่ใช่เรื่องสำคัญ
"กว่าจะมาถึงวันนี้ได้เพราะมีคนช่วยเราเยอะมาก เป็นจุดเปลี่ยนที่คิดอยากจะคืนให้สังคม เชื่อว่าคนไทยช่วยกันเองได้ จึงมุ่งพัฒนาบริษัทเพื่อเป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนาประเทศไทย และสร้างสังคมที่ดี คิดเรื่องดี ๆทำดี ๆ ชีวิตเราสร้างเอง ให้กำลังใจตัวเอง และให้กำลังใจคนอื่นๆด้วย" จรีพร กล่าว
ที่ผ่านมาเธอยอมรับว่าเป็นคน “บ้างาน” มาก ทำงานแบบไม่มีวันหยุด เมื่อได้ไปเช็คร่างกายก็พบว่าขาดวิตามิน สุขภาพทรุดโทรมจนแก่กว่าอายุจริง ไปถึง 8 ปี เวลานี้เธอจึงหันมาใส่ใจสุขภาพตัวเอง ออกกำลังกายเลือกทานอาหารที่ดี ทุกวันนี้เริ่มเดินทาง “สายกลาง”
ด้าน “อริสา กุลปิยะวาจา” เล่าว่าเธอเริ่มต้นธุรกิจจากแพชชั่น เพราะชอบทำและทำมันได้ดี ทำด้วยใจรัก “The love of what
you do and who you serve”
ด้วยความที่เป็นคนแพ้นมวัวเธอจึงหาเครื่องดื่มอื่นทดแทน สมัยที่ไปเรียนต่อต่างประเทศก็พอกับนมอัลมอนด์ที่มีคุณประโยชน์ใกล้เคียงกัน แต่รสชาติไม่ค่อยอร่อยนัก พอเรียนจบกลับมาเมืองไทยเลยลองคิดสูตรของตัวเอง บุกเบิกตลาดนมอัลมอนด์เจ้าแรกในไทยและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เคล็ดลับอยู่ที่คั้นสดจากถั่วเต็มเมล็ด “ตั้งใจทำของดีที่คนอื่นทำไม่ได้” และเป็นแบรนด์แรกของโลกที่ใช้ความหวานของดอกเกสรมะพร้าวออแกนิกซึ่งเป็นภูมิปัญญาไทย
“ส่วนใหญ่คนที่มาทีหลังมักไม่สามารถดังกว่าเจ้าเดิมได้ ก็เลยอยากเป็นรายแรกที่แตกต่าง มี unique selling point เพื่อให้คน จำเราได้ ไม่ว่าจะเป็นด้านกายภาพ ก็คือแพคเกจจิ้งมีเอกลักษณ์ การสร้างประสบการณ์ให้ลูกค้ามีเรื่องเล่าที่แตกต่างน่าเชื่อถือ"
โดยทั่วไปในการทำธุรกิจผู้ประกอบการหญิงมักพบอุปสรรคบางอย่างที่เกิดจากอคติทางเพศ เช่น คนภายนอกมักมองว่าผู้หญิงที่ประสบความสำเร็จมีน้อยกว่าผู้ชาย จึงยิ่งทำให้เราอยากทำอะไรเกินความคาดหวังเมื่อทำได้รู้สึกคนประทับใจ
“ผู้ชายอาจเก่งกว่าในการวางแผนมองภาพใหญ่ แต่ผู้หญิงเก่งกว่าในการลงรายละเอียด ต่อภาพเล็กๆ ให้เป็นภาพใหญ่ก็ได้เหมือนกัน”
บริษัทของเธอยังให้ความสำคัญกับกิจกรรมซีเอสอาร์ ทั้งด้านการศึกษาและสิ่งแวดล้อม เช่น บริจาคหนังสือ สร้างห้องสมุด ช่วยเหลือในถิ่นทุรกันดาร เพราะ เธอมองว่า “กำไรไม่ใช่จุดมุ่งหมายแรก ยิ่งคิดเรื่องเงินยิ่งทำให้ทุกข์ คิดว่าทำดีเงินก็มาเอง เริ่มธุรกิจแบบไม่มีสตางค์ แต่มีสติ ไม่ทำอะไรเกินตัว”
หมายเหตุ--สาขาการบริหารองค์การ การประกอบการและทรัพยากรมนุษย์ คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ร่วมเป็นส่วนหนึ่ง ของเครือข่าย Women Entrepreneurship Week (WEW) ที่ก่อตั้งโดย Feliciano Center for Entrepreneurship ของ Montclair State University สหรัฐอเมริกา มีมหาวิทยาลัยกว่า 230 แห่งใน 30 ประเทศทั่วโลกเป็นเครือข่าย ซึ่งที่ผ่านมาจะมีการจัดงานพร้อมกันทั่วโลกในสัปดาห์ที่3 ของเดือนตุลาคมทุกปี เพื่อให้สังคมโลกตระหนักถึงความสำคัญ และบทบาทของผู้ประกอบการหญิง ในประเทศไทยได้จัดงาน “Women Entrepreneurship Week 2019 Thailand” เป็นครั้งที่ 3 เมื่อวันอังคารที่ 22 ตุลาคม ที่ผ่านมา ณ. คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต