ระวังโรคปอดอักเสบ จากอากาศเปลี่ยนแปลงบ่อย
กรมการแพทย์ แนะอากาศเปลี่ยนแปลงบ่อย อาจเจ็บป่วยได้ง่าย จึงควรดูแลตนเองเพื่อป้องกันโรคปอดอักเสบ อาจทำให้ติดเชื้อรุนแรงถึงขั้นเสียชีวิตได้
นายแพทย์สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ เปิดเผยว่า เนื่องจาก สภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลงบ่อย ทำให้โรคหลายชนิดสามารถแพร่ระบาดได้ง่ายและรวดเร็ว ซึ่งโรคที่ต้องระมัดระวังเป็นพิเศษ เช่น โรคไข้เลือดออก โรคอุจจาระร่วงเฉียบพลัน โรคไข้หวัดใหญ่ รวมถึงไข้หวัดใหญ่สายพันธ์ใหม่ และโรคปอดอักเสบ เป็นต้น ทั้งนี้โรคปอดอักเสบ หรือโรคปอดบวม เกิดจากการอักเสบของเนื้อปอดซึ่งติดเชื้อไวรัส เชื้อแบคทีเรีย เชื้อรา และสารเคมีต่างๆ ทำให้ปอดอักเสบเฉียบพลันและรุนแรงโรคปอดบวมส่วนใหญ่มักเกิดภายหลังจากป่วยเป็นไข้หวัด สามารถเกิดขึ้นได้กับคนทุกวัย แต่โรคปอดอักเสบที่เกิดจากการติดเชื้ออันตรายต่อเด็กเล็ก ผู้สูงอายุ และผู้ที่มีภาวะภูมิต้านทานต่ำ เนื่องจากบางครั้งหากติดเชื้อรุนแรงอาจทำให้ผู้ป่วยเสียชีวิตได้ ซึ่งสามารถสังเกตอาการของโรคปอดบวมได้ ดังนี้ มีไข้ ไอ รู้สึกหนาวสั่น เจ็บหน้าอกหรือหายใจลำบาก ในผู้ป่วยบางรายอาจมีอาการปวดศีรษะ อ่อนเพลีย ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ เจ็บคอ ปวดท้อง เบื่ออาหาร คลื่นไส้ อาเจียน รวมอยู่ด้วย
นายแพทย์เอนก กนกศิลป์ ผู้อำนวยการสถาบันโรคทรวงอก กรมการแพทย์ กล่าวเพิ่มเติมว่า หากพบว่ามีอาการบ่งชี้ให้รีบมาพบแพทย์เพื่อทำการตรวจรักษา โดยแพทย์จะเริ่มต้นจากการซักประวัติอาการของผู้ป่วย ตรวจร่างกายและอาจส่งตรวจเพิ่มเติมดังนี้ ตรวจเลือด เอกซเรย์หน้าอก วัดออกซิเจนในเลือดและชีพจร ตรวจเสมหะในรายที่มีอาการไอมาก ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับอายุและอาการของผู้ป่วยร่วมด้วย นอกจากนี้ เด็ก ผู้สูงอายุ และผู้ที่มีโรคประจำตัวเรื้อรัง เช่น โรคหัวใจ โรคปอด ควรดูแลตนเองเป็นพิเศษ เนื่องจากหากอยู่ในสภาพที่อากาศมีความชื้นสูง หนาวเย็นอาจทำให้ร่างกายมีระดับภูมิต้านทานต่ำกว่าปกติ จึงมีโอกาสติดเชื้อโรคทางเดินหายใจได้ง่าย สำหรับการป้องกันโรคปอดบวม สามารถทำได้โดยออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ พักผ่อนให้เพียงพอ สวมเสื้อผ้ารักษาร่างกายให้อบอุ่น หลีกเลี่ยงไม่อยู่ในที่มีคนแออัด ดื่มน้ำสะอาด เช่น น้ำต้มสุก รับประทานอาหารที่มีประโยชน์สะอาด ปรุงสุกใหม่ ล้างมือด้วยสบู่ให้สะอาดก่อนรับประทานอาหารทุกครั้ง และที่สำคัญควรสวมหน้ากากอนามัยปิดปากและจมูกเวลาไอหรือจามทุกครั้งเพื่อป้องกันการแพร่กระจายเชื้อโรคสู่ผู้อื่น ตลอดจนไม่อยู่ใกล้ชิดกับผู้ป่วยและไม่ใช้สิ่งของร่วมกับผู้อื่น