"บินไทย"รุกเปิดเส้นทางบิน "เซนได" เผยยอดจองแล้ว 85% อานิสงค์ไฮซีซั่น
"บินไทย" หวังใช้โมเดลเส้นทางเซนไดเป็นต้นแบบรุกตลาดพรีเมี่ยมเที่ยวญี่ปุ่น ชี้ยอดจองปัจจุบันสูงกว่า 85% ตลอดช่วงไฮซีซั่น ขณะที่สนามบินเซนไดรับ ตั้งเป้าดึงไทยเที่ยวเพิ่ม 1 แสนคนต่อปี
นายเอกนิติ ทัณฑ์ประภาศ ประธานคณะกรรมการ (บอร์ด) บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ญี่ปุ่นเคยเป็นตลาดหลักของสายการบินไทย แต่ปัจจุบันสายการบินต้นทุนต่ำ (โลวคอสต์) เข้ามาเปิดตลาดจำนวนมาก ทำให้ญี่ปุ่นกลายเป็นตลาดที่มีกาาแข่งขันดุเดือด โดยเฉพาะเส้นทางโตเกียว โอซาก้า และซัปโปโร ทำให้การบินไทยต้องมองโอกาสทำการตลาดที่แตกต่างออกไป จึงเลือกเปิดเส้นทางบินใหม่ กรุงเทพฯ-เซนได ซึ่งเป็นยุทธศาสตร์ในเชิงนโยบายที่ให้ไปทำตลาดใหม่มากกว่าการแข่งขันอยู่กับตลาดเดิม และยังตั้งใจที่จะทำให้เป็นเส้นทางต้นแบบการเดินทางแบบพรีเมี่ยม โดยมั่นใจว่าเส้นทางนี้จะทำราคาได้ดี และมีกำไร เพราะปัจจุบันการบินไทยถือเป็นสายการบินสัญชาติไทยรายแรกที่เข้ามาเปิดจุดบิน
โดยเบื้องต้นอัตราบรรทุกผู้โดยสาร (เคบิ้นแฟกเตอร์) ของเส้นทางกรุงเทพฯ-เซนได อยู่ที่ประมาณ 85% มียอดจองล่วงหน้าเข้ามาต่อเนื่องตลอดตารางบินฤดูหนาว ที่จะสิ้นสุดในเดือน มี.ค.2563 ซึ่งเวลานี้การบินไทยกำลังเร่งสร้างฐานให้ดีที่สุด ก่อนที่สายการบินอื่นจะหันมาเปิดเส้นทางนี้ โดยกำลังเร่งประชาสัมพันธ์ และจัดโปรโมชั่นต่างๆ ทั้งลดแลกแจกแถม ทั้งนี้การบินไทยจะพยายามรักษาฐานลูกค้าให้อยู่ระดับสูงอย่างต่อเนื่อง แต่หากเคบิ้นแฟกเตอร์ไม่ถึง 75% ทางการท่องเที่ยวของเซนได ก็พร้อมจะสนับสนุนเงินช่วยเหลือเป็นเวลา 1 ปี แต่อย่างไรก็ตาม ส่วนตัวมั่นใจว่าการบินไทยจะทำเคบิ้นแฟกเตอร์ได้ในระดับสูงแน่นอน เพราะประเทศญี่ปุ่นเป็นตลาดที่คนไทยชอบมาก
นายสุเมธ ดำรงชัยธรรม กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท การบินไทยฯ ระบุว่า ญี่ปุ่นถือเป็นตลาดใหญ่ที่มีศักยภาพของการบินไทย มีอัตราการเติบโตสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งการเปิดเส้นทางบินใหม่สู่เซนไดของการบินไทยในครั้งนี้ ถือเป็นการเปิดประตูเศรษฐกิจที่จะนำไปสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืนของภูมิภาคโทโฮคุ เนื่องจากเป็นการส่งเสริมการท่องเที่ยว เชื่อมโยงเศรษฐกิจการค้าระหว่างประเทศ และการแลกเปลี่ยนทางการศึกษาของทั้งสองประเทศ อีกทั้งยังช่วยยกระดับความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับญี่ปุ่นให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น
ทั้งนี้ การบินไทยจะทำการบินในเส้นทางกรุงเทพฯ – เซนได 3 เที่ยวบินต่อสัปดาห์ โดยเที่ยวบินปฐมฤกษ์ เที่ยวบินที่ ทีจี 626 เส้นทางกรุงเทพฯ – เซนได วันที่ 29 ต.ค. 2562 และเที่ยวบินที่ ทีจี 627 เส้นทางเซนได – กรุงเทพฯ วันที่ 30 ต.ค. 2562 บริษัทฯ ได้นำเครื่องบินแบบโบอิ้ง 777-300 นามพระราชทาน “ละหานทราย” ทำการบินในเส้นทางดังกล่าว ซึ่งเป็นเครื่องบินที่ได้รับพระมหากรุณาธิคุณโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้เชิญภาพวาดแบบเรือพระที่นั่งสุพรรณหงส์มาประดับ พร้อมประดับตราสัญลักษณ์พระราชพิธีบรมราชาภิเษกตลอดปีแห่งการเฉลิมฉลองพระราชพิธีบรมราชาภิเษก มีจำนวนที่นั่งรวม 364 ที่นั่ง เป็นชั้นธุรกิจ 34 ที่นั่ง และชั้นประหยัด 330 ที่นั่ง
ด้านตัวแทนเจ้าหน้าที่ท่าอากาศยานนานาชาติเซนได ประเทศญี่ปุ่น ระบุว่า การบินไทยถือเป็นสายการบินในประเทศที่ 4 ที่เข้ามาทำการบินเส้นทางเซนได เนื่องจากก่อนหน้านี้มีสายการบินที่ทำการบินอยู่แล้ว ประกอบไปด้วย เกาหลี จีน และไต้หวัน โดยท่าอากาศยานเซนได คาดหวังว่าการบินไทยจะช่วยกระตุ้นการเดินทางของผู้โดยสารคนไทยได้เพิ่มมากกว่า 1 แสนคนต่อปี เพิ่มขึ้นจากปริมาณผู้โดยสารที่เดินทางเข้าออกท่าอากาศยานเซนได เฉลี่ยในปี 2561 อยู่ที่ 3 แสนคนต่อปี
สำหรับเมืองเซนได ถือเป็นเมืองหลวงในภูมิภาคโทโฮคุ (Tohoku) โดยภูมิภาคนี้ประกอบไปด้วย 6 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดอะโอโมริ (Aomori), จังหวัดอะคิตะ (Akita), จังหวัดอิวะเตะ (Iwate), จังหวัดมิยะงิ (Miyagi), จังหวัดยะมะงะตะ (Yamagata) และจังหวัดฟุคุชิมะ (Fukushima) ซึ่งแต่ละจังหวัดมีแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติที่สามารถดึงดูดนักท่องเที่ยวได้ตลอดทั้งปี ขณะเดียวกันยังสามารถเดินทางเชื่อมต่อไปยังโตเกียวด้วยรถไฟความเร็วสูงชินคันเซ็น ใช้เวลาประมาณ 1.30 ชั่วโมง