'กล้าหาญ เอื้ออาทร ยืดหยุ่น' ผู้นำแบบ 'คริสตีน ลาการ์ด'
มารู้จักกับ คริสตีน ลาการ์ด ผู้หญิงแกร่งมากความสามารถ ที่ล่าสุดเข้ามารับตำแหน่งประธานธนาคารกลางยุโรป (ECB) และนี่ไม่ได้เป็นครั้งแรกที่เธอมารับบทบาทใหญ่ในองค์กรระดับโลก
อีกไม่กี่วันธนาคารกลางยุโรป (ECB) ก็จะได้ "คริสตีน ลาการ์ด" มาดำรงตำแหน่งประธานแทน "นายมาริโอ ดรากี" ซึ่งทั่วโลกจับตามองหญิงเก่งผู้นี้อย่างสนใจยิ่ง เพราะเธอไม่เคยมีสายสัมพันธ์เชื่อมโยงกับ ECB มาก่อน
ก่อนหน้านี้เธอได้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเศรษฐกิจ การคลังและอุตสาหกรรมของฝรั่งเศส และได้รับแต่งตั้งเป็นหัวหน้ากองทุนการเงินระหว่างประเทศเมื่อปี พ.ศ.2554 เธอเป็นผู้หญิงคนแรกที่เคยดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีเศรษฐกิจในกลุ่มประเทศจี 8 รวมถึงตำแหน่งประธานไอเอ็มเอฟ
ลาการ์ดยังเป็นผู้หญิงคนแรกที่ดำรงตำแหน่งประธาน ECB โดยคณะกรรมการบริหารของ ECB ระบุว่า นางลาการ์ดมีประสบการณ์ในวิชาชีพทางด้านเงินและการธนาคาร เป็นที่ยอมรับของคนทั่วไปจึงมีความเหมาะสม และภารกิจแรกๆ ของเธอก็คือ การหามาตรการควบคุมภาวะเงินเฟ้อและบังคับใช้นโยบายด้านการเงินในกลุ่มอียู ซึ่งอีกไม่นานเราก็จะได้ติดตามความสามารถของเธอกันต่อไป
ลาการ์ดเป็นผู้หญิงที่มีความรู้ความสามารถมาก ก่อนหน้านี้เธอได้สร้างประวัติศาสตร์ด้วยการเป็นประธานหญิงคนแรกของสำนักงานทนายความระหว่างประเทศ เบเคอร์แอนด์แม็คเค็นซี เมื่อปี พ.ศ.2552 ด้วยพื้นฐานการศึกษาด้านกฎหมาย ลาการ์ดเคยเป็นนักต่อต้านการผูกขาดและทนายความแรงงานที่มีชื่อเสียง เมื่อครั้งที่ดำรงตำแหน่งเป็นรัฐมนตรี เดอะไฟแนนเชียลไทมส์ได้จัดอันดับให้เธอเป็นรัฐมนตรีคลังที่ดีที่สุดในยูโรโซนเมื่อปี พ.ศ.2552 ภายในปีเดียวกันนิตยสารฟอร์บส์ก็ได้จัดอันดับให้เธอเป็นหญิงทรงอิทธิพลที่สุดของโลกลำดับที่ 17 จึงเป็นเรื่องน่าศึกษาว่าหญิงเหล็กท่านนี้มีค่านิยมในการเป็นผู้นำอย่างไร
เมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา ลาการ์ดได้รับเชิญให้ไปรับรางวัลผู้นำระดับนานาชาติที่โดดเด่นจากสภาแห่งแอตแลนติค (เป็นสภาที่ชุมนุมผู้นำในด้านกิจการระหว่างประเทศ ทำงานเกี่ยวข้องกับความมั่นคงระหว่างประเทศและความมั่งคั่งทางเศรษฐกิจระดับโลก ก่อตั้งขึ้นในปี 1961 มีสำนักงานใหญ่อยู่ที่กรุงวอชิงตัน ดี.ซี.) ซึ่งเธอได้กล่าวสุนทรพจน์ในเรื่องของภาวะผู้นำ
เมื่อพิจารณาจากเนื้อหาของสุนทรพจน์ก็รู้สึกได้ถึงความถ่อมตัวของเธอ เธอกล่าวว่าการที่ผู้จัดงานได้แสดงข้อมูลประวัติและรูปถ่ายของเธอตั้งวัยเยาว์จนประสบความสำเร็จเป็นประธานไอเอ็มเอฟ ข้อมูลนั้นมีรายละเอียดมากมายแต่ขาดเรื่องหนึ่งที่สำคัญต่อเธอมาก คือเรื่องราวของบุคคลหลายคนที่มีส่วนช่วยเหลือสนับสนุนให้เธอก้าวมาได้จนถึงวันนี้ ซึ่งเธอต้องขอบคุณพวกเขาเหล่านั้น
เธอได้กล่าวถึงบุคคลบางคนที่ทำให้เธอได้เรียนรู้ถึงคุณสมบัติของการเป็นผู้นำที่ดี เริ่มจากมารดาของเธอเอง มารดาของเธอเป็นผู้ที่เข้มงวดแต่ก็มีความอ่อนไหวต่ออารมณ์ความรู้สึกของลูกๆ เป็นอาจารย์สอนภาษากรีกและละตินดึกดำบรรพ์ เป็นนักสกีที่เก่ง เป็นนักขับรถแข่ง เป็นคุณแม่เลี้ยงเดี่ยวที่เลี้ยงเธอและพี่น้องผู้ชายคนอื่นหลังบิดาถึงแก่กรรมตั้งแต่ลูกๆยังเยาว์วัยอย่างประสบความสำเร็จ มารดาของเธอทำได้เพราะมีความกล้าหาญ (courage) ความเอื้ออาทร (generosity) และความยืดหยุ่น (resilience) อันเป็นคุณสมบัติที่จำเป็นสำหรับการเป็นผู้นำที่ดี
ถัดจากมารดาของเธอ ลาการ์ดกล่าวขอบคุณผู้หญิงคนที่จ้างเธอเป็นทนายฝึกหัดสมัยทำงานอยู่ที่สำนักงานทนายความเบเคอร์ แอนด์แม็คเค็นซี และได้สอนเธออยู่ 3 เรื่องคือ วิธีการแต่งตัว (dress) การโอภาปราศรัย (address) และการแก้ไขปรับปรุง (redress) (น่าสังเกตวิธีการเล่นคำภาษาอังกฤษของลาการ์ด คือ dress, address, redress) เข้าใจว่าผู้หญิงที่เป็นแบบอย่างของลาการ์ดคนนี้ไม่น่าจะผิดหวังเพราะลาการ์ดแต่งตัวดีเหมาะสมกับกาละเทศะ มีจิตวิทยาในการโอภาปราศรัย มีจิตสาธารณะทำงานเพื่อสังคม และมีทักษะในการทำงานแก้ไขปรับปรุงเรื่องต่างๆได้ดีเป็นที่ยกย่อง
ลาการ์ดยังได้พูดถึงบุคคลอีกสามท่านที่เธอได้พบในระหว่างทำงานกับไอเอ็มเอฟ คนแรกเป็นผู้หญิงชื่อ “แม็กซิมิเลียนา ทาโก” เป็นชาวเปรูที่ครอบครัวถูกผู้ก่อการร้ายสังหารตายหมด เธอไม่มีการศึกษา ใช้ชีวิตอย่างยากจน กินอยู่ไปวันๆ บางครั้งพอขายหนูตะเภาได้เงินสดมา ก็มักจะโดนปล้นเอาเงินไปบ่อยๆ แต่ก็ไม่ท้อถอยเธอสู้ชีวิตอย่างเต็มที่โดยอาศัยวิธีใช้เงินจำนวนน้อยที่ได้จากบัตรเครดิตมาลงทุนซื้อข้าวของทำฟาร์มเลี้ยงหนูตะเภา ทั้งยังได้สอนเพื่อนบ้านเรื่องการใช้เงินจากบัตรเครดิตผ่านทางโทรศัพท์มือถือเพื่อมีทุนมาทำฟาร์มอย่างปลอดภัยไม่ต้องใช้เงินสด นี่คืออีกตัวอย่างหนึ่งของความกล้าหาญ เอื้ออาทร และยืดหยุ่น
ลาการ์ดได้พบหญิงผู้นำชาวบ้านอีกคนที่มีความพิเศษมากๆที่เกาะลอมบอก ประเทศอินโดนีเซีย เกาะลอมบอกเกิดแผ่นดินไหวรุนแรงเมื่อปีที่แล้ว บ้านเรือนถูกทำลายไม่มีเหลือ ทำการเพาะปลูกไม่ได้ เมื่อลาการ์ดเดินทางไปที่เกาะนี้ได้พบหญิงผู้นี้กำลังทำงานกับเพื่อนบ้านที่เธอชักชวนมาให้ช่วยกันเก็บซากปรักหักพังเพื่อมาสร้างที่อยู่อาศัยกันใหม่ เมื่อหญิงผู้นี้ทราบว่าลาการ์ดเดินทางมาที่หมู่บ้าน เธอก็เดินมาหา ตอนแรกลาการ์ดคาดว่าหญิงชาวลอมบอกคงจะมาขอความช่วยเหลือจากไอเอ็มเอฟ แต่ผิดคาด หญิงผู้นั้นกล่าวอำนวยพรให้ลาการ์ดมีการเดินทางที่ปลอดภัย และนี่ก็คืออีกตัวอย่างของความกล้าหาญ เอื้ออาทร และยืดหยุ่นที่อดีตประธานไอเอ็มเอฟประทับใจ
ตัวอย่างสุดท้ายที่เธอกล่าวยกย่อง ก็คือกลุ่มเจ้าหน้าที่ดับเพลิงในกรุงปารีสที่ทำหน้าที่ดับเพลิงที่ลุกไหม้มหาวิหารโนเตรอะดามี ซึ่งทำงานอย่างต่อเนื่องไม่ท้อถอยที่จะดับเพลิงและกู้มหาวิหารอย่างดีที่สุด ผู้พันเล่าให้ลาการ์ดฟังว่ามีคนหนุ่มวัยยี่สิบกว่าจำนวน 20 คนอาสาที่จะปีนขึ้นไปบนหอคอยสองหอคอยของมหาวิหารเพื่อที่จะสามารถฉีดน้ำจากข้างบนมหาวิหารให้ได้ แทนที่จะฉีดน้ำจากข้างล่าง เพราะมหาวิหารไม่ใช่เป็นเพียงแผ่นอิฐแผ่นปูน แต่เป็นมรดกทางวัฒนธรรมที่มีคุณค่าต่อจิตใจของชาวฝรั่งเศสและชาวโลกที่เป็นสัญลัษณ์ของสันติภาพ ความรัก ความศรัทธา การบูชา เป็นสถานที่ซึ่งพ่อแม่ของลูกหลานชาวฝรั่งเศสแต่งงานกันที่นั่น ฯลฯ เจ้าหน้าที่และบรรดาจิตอาสาทั้งหลายจึงพร้อมใจกันที่จะรักษามหาวิหารไว้อย่างดีที่สุดกระทั่งจะยอมเสี่ยงชีวิตปีนขึ้นหอคอยสูง เป็นตัวอย่างที่น่าประทับใจที่ตอกย้ำเรื่องความกล้าหาญ เอื้ออาทร และยืดหยุ่นให้กับลาการ์ดอีกครั้ง
หากใครศึกษาประวัติคริสตีน ลาการ์ด ถึงผลงานและกิจกรรมการเคลื่อนไหวต่างๆ ของเธอที่ผ่านมา เช่น ต่อต้านการผูกขาด ต่อต้านความไม่เท่าเทียมกันทางเพศ เมื่อได้เห็นได้ฟังลีลาท่าทางน้ำเสียงในการสัมภาษณ์ของเธอ จะเห็นได้ว่าเธอเป็นผู้นำหญิงที่เป็นตัวของตัวเอง ฉลาด มั่นใจกำลังพอดีๆ น้ำเสียงไม่ก้าวร้าว กล้าหาญที่จะแตกต่าง เอื้ออาทรต่อเพื่อนร่วมงานและชาวโลก และมีความยืดหยุ่นปรับตัวได้เหมาะสมตามกาละเทศะ
นับได้ว่าลาการ์ดเป็นตัวอย่างที่ดีให้กับผู้หญิงอีกหลาย ๆคนที่กำลังฝ่าขวากหนามอุปสรรคนานัปการเพื่อก้าวเป็นผู้นำ โดยที่ไม่จำเป็นต้องทำตัวเหมือนผู้ชายหรือไปข่มทับผู้ชายแต่อย่างไร