เปิดขั้นตอนพิธี 'ผู้นำอาร์เซ็ป' ประกาศความสำเร็จวันนี้
รัฐมนตรีอาร์เซ็ป ชงผู้นำประกาศความสำเร็จการเจรจา หลังถกเครียดถึงกลางดึกวานนี้ “ประยุทธ์” ชี้ปิดเจรจาอาร์เซ็ป กระตุ้นการค้าการลงทุน
รายงานข่าวแจ้งว่า หลังเเวลา23.45 น. 3 พ.ย. 2562การประชุมรัฐมนตรีอาร์เซ็ป หรือ รัฐมนตรีความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (Regional Comprehensive Economic Partnership : RCEP) นัดพิเศษ โดยมี นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เป็นประธานดำเนินการประชุมดำเนินตั้งแต่ช่วงบ่ายของวันที่ 3 พฤศจิกายน 2562 ลากยาวจนถึง 23.45 น. จึงได้ข้อยุติ โดยที่รัฐมนตรีเศรษฐกิจประเทศอาเซียนไม่มีใครได้เข้าร่วมงานเลี้ยง Gala Dinner เพราะต้องอยู่ร่วมประชุมกับกลุ่มประเทศอาร์เซ็ป ขณะที่เจ้าหน้าที่ต้องนำอาหารมื้อค่ำเข้าเสริฟในห้องประชุม
โดยนายจุรินทร์ ดำเนินการประชุม และ พักเจรจาย่อยระหว่างประชุมเป็นระยะ ขณะนี้ก็ยังเดินหน้าประชุม ย่างมุ่งมั่น แม้มีรัฐมนตรีเศรษฐกิจ2-3 ประเทศ กลับออกไปบ้าง ระหว่างนั้นนายจุรินทร์ และประเทศสมาชิกจำนวนมากก็เดินหน้าเจรจากันต่อรวมทั้งพยายามประสานงานเพื่อนสมาชิกเพื่อให้ตกลงข้อสรุปร่วมกัน โดยช่วงเวลา 23.25 น.ใน2-3ประเทศก็ถูกเชิญกลับมาประชุมอีกรอบที่ห้องประชุมอิมแพ็ค โดยนายจุรินทร์ให้เจ้าหน้าที่จองห้องประชุมใช้ถึงเที่ยงคืน
ในที่สุดเวลา 23.45 น.ก็ได้ข้อยุตินั้นคือสมาชิก 16 ประเทศอาร์เซ็ปมีความเห็นร่วมกันในทางที่บวกสามารถที่จะส่งข้อสรุปให้กับผู้นำประเทศอาเซียนได้ประกาศความสำเร็จในเย็นวันที่ 4.ย. 2562 โดยนายจุรินทร์จะต้องเป็นผู้รายงานความสำเร็จในข้อสรุปนี้ให้กับพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีจากประเทศไทยในฐานะเป็นประธานอาเซียนปีนี้ได้ประกาศความสำเร็จซึ่งถือว่าเป็นผลงานชิ้นโบว์แดงของประเทศไทยโดยนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ ในฐานะประธานรัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียนและอาร์เซ็ป นำทีมเจรจาในประธานการประชุมเดินหน้าการเจรจาจนมาถึงจุดนี้
การเจรจาความตกลงระหว่างอาเซียนและประเทศนอกภูมิภาค 6 ประเทศ ได้แก่ ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ และอินเดียตั้งแต่ปี 2556นับจนถึงตอนนี้เป็นเวลามากกว่า 7 ปี ดังนั้น ประเทศสมาชิกจึงตกลงร่วมกันที่จะจบการเจรจาให้ได้ภายในปีนี้ที่กรุงเทพฯ ก่อนเข้าสู่กระบวนการเพื่อให้ข้อตกลงมีผลในทางปฏิบัคิ
ก่อนหน้านั้นที่ประชุมรัฐมนตรีความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค หรืออาร์เซ็ป เปิดเผยว่า ในการประชุมระหว่างรัฐมนตรีเศรษฐกิจ 16 ประเทศ วานนี้ (3พ.ย.) เพื่อเตรียมความพร้อมก่อนการประชุมระดับผู้นำหรืออาร์เซ็ปซัมมิต ที่จะมีขึ้นเย็นวันนี้ (4 พ.ย.) โดยมี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมเป็นประธานนั้นพบว่า ที่ประชุมไม่มีสามารถหาข้อสรุปได้ แต่คงให้ระดับคณะกรรมการเจรจา หรือ ทีเอ็นซี หารืออย่างต่อเนื่องต่อไป
ทั้งนี้การประชุมระดับเจ้าหน้าที่มีขึ้นอย่างเร่งด่วนในช่วงกลางดึกคืนวันที่ 2 พ.ย.ที่ผ่านมา หลังประเทศสมาชิกหนึ่งต้องการเปลี่ยนแปลงท่าทีการเจรจาในประเด็นอ่อนไหวที่ไม่สามารถเปิดเผยได้ ทำให้การเจรจายังคงมีขึ้นอย่างต่อเนื่องและเป็นเหตุให้ต้องเลื่อนกำหนดการเจรจาระดับรัฐมนตรีจากเดิมกำหนดไว้วันที่ 4 พ.ย. ให้เป็นวันที่ 3 พ.ย. แทน
“การประชุมรัฐมนตรีอาร์เซ็ปเมื่อค่ำวันศุกร์ (1 พ.ย.) ที่ผ่านมาผลการประชุมได้ข้อสรุปแล้วทำให้ประเมินว่าจะเสนอให้ผู้นำประกาศความสำเร็จได้ แต่ท่าที่สมาชิกบางประเทศก็เปลี่ยนแปลงในที่สุดจนถึงตอนนี้เราก็ยังต้องคุยกันต่อและต้องหาข้อสรุปให้ได้ตามที่ตั้งใจไว้” นักการทูตจากประเทศสมาชิกหนึ่งกล่าว
สำหรับผลการประชุมระดับรัฐมนตรีจะนำเสนอให้ผู้นำทั้ง 16 ชาติสมาชิกข้อตกลงพิจารณาก่อนประกาศความสำเร็จหรือมีท่าทีอื่น โดยซึ่งรูปแบบการประชุมจะว่าด้วยทำพิธีประกาศความสำเร็จ ซึ่งจะมี key word คือคำว่า “conclusion” ปรากฏอยู่ในคำแถลงการณ์ร่วมผู้นำ หรือ Joint leaders Statement
อย่างไรก็ตาม ก่อนคำประกาศร่วมของผู้นำจะเปิดเวทีให้ผู้นำแต่ละประเทศขึ้นกล่าวแถลงการณ์ส่วนตัว เริ่มจาก พล. อ.ประยุทธ์ ในฐานะประธานการประชุมและเจ้าภาพจัดงานประชุม ขึ้นกล่าวเป็นเวลา 2 นาที จากนั้น จะตามด้วยผู้นำเวียดนาม ในฐานะประธานอาเซียนปีหน้า และอินโดนีเซีย ในฐานะประธานคณะเจรจา หรือ "ทีเอ็นซี" ซึ่งทำหน้าที่นี้มาตั้งแต่เริ่มตกลงกันว่าจะเจรจาเมื่อปี 2556
ตามด้วยสิงคโปร์ในฐานะประธานอาเซียนปี 2561 ที่ผ่านมา และต่อเนื่องตามลำดับผู้นำประเทศสมาชิกอื่นๆ จนครบโดยทุกประเทศจะใช้เวลาเท่าๆ กันคือ 2 นาทีจากนั้นจึงจะถึงไฮไลท์ คือ เลขาการประชุมลุกขึ้นกล่าว Jont leaders statement ตรงนี้ต้องมีคำว่า conclusion จึงเป็นอันว่าการเจรจาจบสิ้น
ทั้งนี้ เอกสารผลการเจรจาตลอด 6 ปีที่ผ่านมา จะเข้าสู่กระบวนการผูกพันทางกฎหมาย โดยต้องมีการลงนามข้อตกลงนี้ ซึ่งจะเกิดขึ้นในช่วงกลางปีหน้าที่เวียดนาม จากนั้นแต่ละประเทศจะนำข้อตกลงเข้าสู่กระบวนการตามกฎหมายภายใน
ในส่วนของไทย ก่อนลงนามต้องให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบและมอบหมายให้รัฐมนตรีเศรษฐกิจ หรือ รัฐมตรีที่ได้รับมอบหมายไปลงนาม จากนั้นนำข้อตกลงเข้าสู่การพิจารณาของรัฐสภา หากได้รับความเห็นขอบ ก็สามารถให้สัตยาบัน (Ratify) ได้
“คาดว่าข้อตกลงเมื่อผ่านการจัดเกลาถ้อยคำและลงนาม และให้สัตยาบันแล้ว ก็จะนำมาใช้งานได้ ช่วงต้นปี 2564” รายงานข่าวระบุ
ทั้งนี้ ตามรายงานของสำนักเลขาธิการอาเซียน ได้เปิดเผยรายงาน "ASEAN Integration Report 2019" มีสาระส่วนหนึ่งระบุถึงการเจรจาอาร์เซ็ปว่า เป็นข้อตกลงที่อาเซียนทำกับประเทศนอกภูมิภาคอีก 6 ประเทศได้แก่ จีน อินเดีย ญี่ปุ่น ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ และเกาหลีใต้ ทำให้อาร์เซ็ปมีสัดส่วนประชากรคิดเป็น 47.4% ของประชากรโลก นอกจากนี้ยังมีสัดส่วนการค้าถึง 29.2% และมีส่วนต่อผลผลิตโลกในปี 2561 ถึง 32.2%
การเจรจากำหนดบนพื้นฐานของ Guiding Principles and Objective for Negotiationg the RCEP โดยความสำเร็จของอาร์เซ็ปจะทำให้อาเซียนเป็นศูนย์กลางและสามารถเชื่อมโยงต่อเศรษฐกิจนอกภูมิภาคนำมาซึ่งการรวมข้อตกลงการค้าเสรีต่างๆ ที่มีอยู่ในรวมอยู่ในข้อกำหนดเดียวซึ่งจะเป็นประโยชน์อย่างมากต่อการค้าและการลงทุนรวมไปถึงการเป็นห่วงโซ่การผลิตแห่งภูมิภาค
ความสำเร็จที่สามารถหาข้อสรุปของอาร์เซ็ปได้ในครั้งนี้ จะก่อให้เกิดสถาปัตยกรรมทางเศรษฐกิจใหม่ซึ่งไม่เพียงการเปิดตลาดใหม่ โอกาสการจ้างงาน แต่ยังว่าด้วยการทำให้การค้ามีความแน่นอนท่ามกลางความไม่แน่นอนที่ส่อเค้าว่าจะยืดเยื้อของความตึงเครียดทางการค้าในขณะนี้ อย่างไรก็ตาม อาเซียนจะต้องไม่ทิ้งเวทีการค้าในระดับพหุภาคี
นอกจากนี้ ในระหว่างการประชุมที่เกี่ยวข้องกับการประชุมสุดยอดอาเซียนและการหารือทวิภาคีระหว่างวันที่ 2-3 พ.ย.ที่ผ่านมา ของ พล.อ.ประยุทธ์ ได้ชี้แจงเกี่ยวกับการเจรจาอาร์เซ็ปในหลายเวที โดยในการหารือกับ นางสาวจาซินดา อาร์เดิร์น นายกรัฐมนตรีนิวซีแลนด์มีความเห็นร่วมกันว่าการเจรจาจะมีความคืบหน้าและจะสรุปผลการเจรจาในประเด็นสำคัญได้
ในขณะที่การประชุมอาเซียน-อินเดีย พล.อ.ประยุทธ์ ได้เน้นย้ำในที่ประชุมถึงความสำคัญของการบูรณาการเศรษฐกิจร่วมกันผ่านการสรุปผลการเจรจาภายในปี 2562
รวมทั้ง พล.อ.ประยุทธ์ ยังกล่าวในที่ประชุมการประชุมสุดยอดอาเซียนครั้งที่ 35 แบบเต็มคณะถึงความสำคัญของการเจรจาอาร์เซ็ปจะช่วยรองรับผลกระทบจากความตึงเครียดทางการค้าระหว่างคู่ค้าที่สำคัญของอาเซียน และเพิ่มประโยชน์ด้านการค้าและการลงทุนของอาเซียนและภูมิภาค
รวมทั้งในการกล่าวถ้อยแถลงเปิดการประชุมสุดยอดอาเซียนครั้งที่ 35 วานนี้ (3 พ.ย.) พล.อ.ประยุทธ์ ได้ชี้ให้เห็นถึงการเสริมสร้างภูมิภาคที่มั่งคั่งและยั่งยืน ผ่านการผลักดันการเจรจาจัดทำความตกลงอาร์เซ็ปให้เสร็จในปี 2562 เพื่อช่วยกระตุ้นการเติบโตทางเศรษฐกิจ การค้าและการลงทุนรวมทั้งส่งเสริมระบบการค้าพหุภาคีภายใต้กรอบองค์การการค้าโลกไปพร้อมกับความร่วมมือทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาคและอนุภูมิภาค
รายงานข่าวย้ำว่าข้อตกลงอาร์เซ็ป เป็นข้อตกลงฉบับแรกที่มีความทันสมัย ซึ่งจะไม่เน้นการยกระดับทางการค้าที่สูงเกินไป จนปฎิบัติยาก แต่จะเน้นกฎระเบียบที่สามารถรองรับความเปลี่ยนแปลง หรือดิสรัปชั่น ทั้งจากเทคโนโลยีและรูปแบบการค้าแห่งอนาคตได้
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
-ชงเวทีผู้นำปิดดีล'อาร์เซ็ป'
-ไทยเตรียมรับการลงทุนหลังเวทีรัฐมนตรีอาร์เซ็ปส่ง
-ชี้ชะตา“อาร์เซ็ป” วันนี้ อีกหนึ่งกิจกรรม”ประชุมสุดยอด
-เปิด 'มุมมอง-ความคาดหวัง' ประเทศคู่เจรจาอาร์เซ็ป
-'พาณิชย์'ชง ครม.เคาะอาร์เซ็ปวันนี้ สรุปผลเจรจาเสนอ