'อุตสาหกรรมหุ่นยนต์' กับระบบเศรษฐกิจไทย
ข้อได้เปรียบของไทยในการเป็นฐานการผลิตชิ้นส่วนอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ต่างๆ จำนวนมาก อาจผลักดันให้ไทยหนึ่งในประเทศคลัสเตอร์อุตสาหกรรมหุ่นยนต์ที่มีแนวโน้มเติบโตมากขึ้น หากย้อนกลับมามองบริบทภายในประเทศไทย อาจเกิดคำถามว่า จริงๆ แล้วไทยมีความพร้อมแค่ไหน
กับคำถามที่ว่า ไทยพร้อมแค่ไหน กับการสนับสนุนหุ่นยนต์เพื่อเป็นตัวช่วยเพิ่มศักยภาพการเติบโตเศรษฐกิจไทย และเราอยู่ตรงไหนเมื่อเทียบกับประเทศอื่น
จากการวิเคราะห์ของ วิจัยกรุงศรี พบว่า ไทยถือเป็นหนึ่งในผู้ผลิตและส่งออกชิ้นส่วนประกอบหุ่นยนต์ โดยเฉพาะตัวขับเคลื่อนอุปกรณ์ต่างๆ เช่น มอเตอร์ ไฮดรอลิก และตัวแขนหรือข้อต่อในการเคลื่อนไหว เช่น เพลา ตลับลูกปืน ในปี 2561 ไทยส่งออกอุปกรณ์กลุ่มนี้รวมกันเป็นมูลค่าถึง 9,201.5 ล้านดอลลาร์
นอกจากนี้ยังสามารถส่งออกแขนกลจำหน่ายในตลาดโลก คิดเป็นมูลค่า 5.6 ล้านดอลลาร์ หากเทียบกับเมื่อ 5 ปีก่อน ความต้องการแขนกลไทยในตลาดโลกเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วถึงประมาณ 4.3 เท่า โดยส่งออกไปยังสหรัฐ มาเลเซีย อินเดีย สิงคโปร์ และญี่ปุ่น เป็นหลัก ไทยจึงเป็นส่วนหนึ่งของการปรับกระบวนการผลิตในระบบห่วงโซ่อุปทานของโลกไปสู่การใช้เครื่องจักรประเภทแขนกลและหุ่นยนต์
อย่างไรก็ตาม ไทยยังจำเป็นต้องนำเข้าชิ้นส่วนประเภทสมองกลหรือหน่วยเก็บความจำที่ควบคุมให้หุ่นยนต์ทำงานได้โดยอัตโนมัติ รวมทั้งนำเข้าตัวเซ็นเซอร์ ที่แปลงค่าการรับรู้เป็นสัญญาณไฟฟ้าเพื่อใช้ประมวลผล การนำเข้าอุปกรณ์สองกลุ่มนี้มีสัดส่วนรวมกันถึง 38.0% ของมูลค่านำเข้าชิ้นส่วนหุ่นยนต์ รวมถึงอุปกรณ์ในการออกแบบและติดตั้งระบบอัตโนมัติ
บ่งชี้ว่าไทยยังมีข้อจำกัดในการผลิตชิ้นส่วนรับรู้และประมวลผลที่จะช่วยให้หุ่นยนต์สามารถทำงานได้เองตามภาวะแวดล้อมที่ต่างกันไป เช่น การเคลื่อนที่ หลบสิ่งกีดขวาง การหยิบจับวัตถุรูปร่างต่างกัน ขณะเดียวกันไทยยังคงต้องนำเข้าหุ่นยนต์สำเร็จรูปเฉลี่ยประมาณปีละ 943 ล้านดอลลาร์ตลอดช่วงสิบปีที่ผ่านมา โดยเฉพาะการนำหุ่นยนต์มาใช้ในกระบวนการผลิตอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์และยานยนต์
วิจัยกรุงศรี ได้เปรียบเทียบค่าความหนาแน่นของหุ่นยนต์ในภาคอุตสาหกรรมยานยนต์ของไทยจากข้อมูลของ International Federation of Robotics ซึ่งได้วัดอัตราส่วนการใช้หุ่นยนต์ต่อแรงงาน 10,000 คน พบว่าในปี 2560 ที่ผ่านมา ไทยมีสัดส่วนการใช้หุ่นยนต์ต่อแรงงานคนในการผลิตยานยนต์สูงถึง 974 ตัวต่อแรงงาน 10,000 คน สูงกว่าไต้หวันและประเทศอื่นในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ แต่ยังมีสัดส่วนต่ำกว่าญี่ปุ่นและเกาหลีใต้
ดังนั้น อุตสาหกรรมยานยนต์ของไทยจึงมีความก้าวหน้าในการปรับใช้หุ่นยนต์เพื่อการผลิต (Adoption) ร่วมกับแรงงานคน ซึ่งเป็นปัจจัยหนึ่งที่ช่วยให้ไทยอาจเป็นฐานการผลิตสำคัญ ทั้งยังถือเป็นผู้นำของภูมิภาค จากข้อเท็จจริงดังกล่าวที่ไทยมีความสามารถในผลิตและส่งออกชิ้นส่วนหุ่นยนต์ประเภทตัวขับเคลื่อนรวมถึงอุปกรณ์ประเภทเพลา ตลับลูกปืน และแขนกลจำหน่ายในตลาดโลก แต่ภาคอุตสาหกรรมหุ่นยนต์ของไทยยังมีข้อจำกัดในการผลิตชิ้นส่วนควบคุมหุ่นยนต์และเซ็นเซอร์ ซึ่งเป็นกลไกสำคัญในการพัฒนาหุ่นยนต์ให้สามารถทำงานโดยอัตโนมัติ ไทยจึงควรให้ความสำคัญกับการพัฒนาการผลิตแขนกลที่มีความสามารถในการส่งออก แต่ยังมีส่วนแบ่งตลาดไม่มากนักเมื่อเทียบกับทั้งโลก
ปัจจุบันมูลค่าการส่งออกแขนกลของไทยในตลาดโลกมีสัดส่วนเพียง 0.09% ในขณะที่มีพื้นฐานอุตสาหกรรมชิ้นส่วนภายในประเทศรองรับ ประกอบกับสถาบันการศึกษาของไทย ทั้งสถาบันการอาชีวศึกษาและสถาบันอุดมศึกษา ต่างมีความพร้อมในการพัฒนาบุคลากรที่มีทักษะรองรับการเติบโตของความต้องการดังกล่าว
อีกประการหนึ่งคือ อุตสาหกรรมหุ่นยนต์เป็นอุตสาหกรรมที่ต้องมีการรวมกลุ่ม (Cluster) ซึ่งจำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือระหว่างภาคการศึกษา ผู้ผลิตชิ้นส่วน ผู้พัฒนาโปรแกรม ผู้ผลิตหุ่นยนต์และสินค้าอุตสาหกรรมที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูง เพื่อร่วมกันวิจัยและพัฒนาหุ่นยนต์ ซึ่งภาครัฐได้ดำเนินการตั้งเขตนวัตกรรมระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (EECi) ที่จะเชื่อมโยงพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC)
ดังนั้น การผลักดันพื้นที่ EECi ให้เป็นคลัสเตอร์หุ่นยนต์ที่เชื่อมโยงกับการพัฒนาอุตสาหกรรมเป้าหมายภายในพื้นที่ จะทำให้เกิดการแบ่งปันและต่อยอดองค์ความรู้ที่จะช่วยให้การผลักดันการพัฒนาอุตสาหกรรมหุ่นยนต์ได้อย่างเป็นรูปธรรมมากยิ่งขึ้น