พปชร.ขวาง "อภิสิทธิ์" นั่ง"ปธ.แก้รัฐธรรมนูญ" ชี้ ปชป.แค่พรรคเล็ก
พปชร.ขวาง“อภิสิทธิ์” นั่งประธาน กมธ.แก้ไขรัฐธรรมนูญ “วีระกร”ลั่นต้องโควตาพรรคแกนนำ "ภูมิธรรม” เผยฝ่ายค้านจ่อถก หาคนที่ทุกฝ่ายยอมรับได้ เพื่อไทยหนุนภาคประชาสังคมชงสภาฯประเด็นขอแก้ เรียกร้องนายกฯ กล่อม ส.ว.ไฟเขียว เผยพรรคการเมือง 2 ขั้วเห็นพ้อง
ความเคลื่อนไหวทางการเมือง หลังจากประธานรัฐสภานัดประชุมสภาผู้แทนราษฎร ในวันที่ 6 พ.ย.62 โดยมีญัตติเรื่องตั้งคณะกรรมาธิการ(กมธ.)วิสามัญศึกษาแนวทางแก้ไขรัฐธรรมนูญ ซึ่งมีกระแสเสนอให้ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ในฐานะคนนอกเข้ามาเป็นประธาน กมธ.ชุดดังกล่าวนั้น
ล่าสุด วานนี้(4 พ.ย.) นายวีระกร คำประกอบ ส.ส.นครสวรรค์ พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ในฐานะคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมรัฐบาล (วิปรัฐบาล) ให้สัมภาษณ์ถึงการเสนอชื่อประธาน กมธ.วิสามัญศึกษาแนวทางการแก้ไขรัฐธรรมนูญ 60 ในส่วน พปชร.ว่า จะต้องเป็นคนในพรรค ซึ่ง กมธ.ชุดดังกล่าวเป็นแค่การศึกษาหาแนวทางการแก้รัฐธรรมนูญ ยังไม่ได้เป็นเรื่องของการแก้รัฐธรรมนูญอย่างจริงจัง คงไม่สามารถแก้ไขอย่างรวดเร็ว ต้องศึกษาก่อน เพราะฉะนั้นคนใน พปชร.สามารถ เป็นประธาน กมธ.ได้ทั้งนั้น
“เบื้องต้นอาจเป็น นายวิรัช รัตนเศรษฐ ประธานวิปรัฐบาล นายวิเชียร ชวลิต ส.ส.บัญชีรายชื่อ หรือแม้แต่ผมก็สามารถนั่งเป็นประธาน กมธ.ได้ โดยมองว่าจะต้องผู้ที่มีความอาวุโส ซึ่งภายในพรรคก็มีผู้ที่มีความอาวุโสอยู่หลายคน”
ผู้สื่อข่าวถามถึง กระแสสนับสนุนนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกรัฐมนตรีและอดีตหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์(ปชป.) เป็นประธาน กมธ.ชุดดังกล่าว นายวีระกร กล่าวว่า เป็นเรื่องปกติของ กมธ.คณะใหญ่ๆ ที่จะต้องเป็นแกนนำพรรครัฐบาล แต่เนื่องจาก ปชป.ไม่ได้เป็นแกนนำพรรครัฐบาล การเสนอชื่อนายอภิสิทธิ์นั้นมีสิทธิที่จะเสนอได้ แต่ตามหลักและมารยาทจะต้องเป็นพรรคใหญ่ที่สุดของรัฐบาลนั่งเป็นประธาน กมธ.
เมื่อถามว่า สามารถกล่าวได้หรือไม่ว่า พปชร.ไม่ขัดข้องหากนายอภิสิทธ์ มานั่งประธาน กมธ. นายวีระกร กล่าวย้ำว่า “จะบอกว่าขัดข้องหรือไม่ขัดข้องนั้นไม่ได้ แต่ย้ำว่าไม่ได้รังเกียจนายอภิสิทธิ์ แต่เขาเสียงน้อยมานั่งตรงนี้คงจะไม่ได้ ทั้งนี้ในความคิดเห็นส่วนตัวนายอภิสิทธิ์มีความเหมาะสมในสายตาของผม แต่เป็นตัวแทนพรรคประชาธิปัตย์ มองว่ายังเล็กไป ควรจะต้องเป็นพรรครัฐบาล หรือพรรคพลังประชารัฐ”
ทั้งนี้นายวีระกร ระบุว่า ผู้ที่เหมาะสม ต้องรู้เรื่องกฎหมายและมีประสบการณ์ทางการเมืองมากพอสมควร รวมถึงจะต้องรู้ว่ารัฐธรรมนูญเก่าๆ ที่ผ่านมาให้สิทธิเสรีภาพอย่างไร หรือมีอะไรที่แตกต่างจากฉบับปัจจุบัน
- แบ่งรับแบ่งสู้รอตั้งกมธ.ก่อน
ด้านนายวิรัช รัตนเศรษฐ ส.ส.พลังประชารัฐ ในฐานะประธานวิปรัฐบาล กล่าวว่า ยังไม่เห็นนายอภิสิทธิ์ พูดอะไรเลย รอให้มีการตั้ง กมธ.ให้เรียบร้อยก่อนดีกว่า เพราะวันนี้ยังไม่รู้เลยว่าแต่ละพรรคใครจะมาบ้าง และเมื่อมาแล้วต้องมาคุยกันก่อนว่าใครจะเป็นประธาน และระเบียบวาระประชุมสภายังอีกยาว กว่าวาระศึกษาแก้ไขธรรมนูญ
ทั้งนี้่ ก่อนเลือกประธาน กมธ.นายวิรัช ระบุว่าแต่ละพรรค ต้องมาตกลงกันด้วย เพราะเมื่อได้กมธ.แล้ว อีก 1 สัปดาห์ถึงจะสรุปใครจะมาเป็นประธาน ยังทัน ให้แต่ละพรรคเลือกตัวแทนก่อน สำหรับการประชุมพรรคในวันที่ 5 พ.ย. จะประชุมส.ส.ของพรรคในช่วงบ่าย เพื่อหารือถึงระเบียบวาระการประชุมสภา และเตรียมข้อมูลเกี่ยวกับการตั้ง กมธ.ทั้ง 2 คณะด้วย
- 7 พรรคฝ่ายค้านจ่อหาปธ.กมธ.
ด้านนายภูมิธรรม เวชยชัย ที่ปรึกษาผู้นำฝ่ายค้าน ให้สัมภาษณ์เรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญว่า ตามที่มีผู้เสนอความเห็นเกี่ยวกับการจัดตั้ง กมธ.วิสามัญแก้ไขรัฐธรรมนูญ มายังพรรคร่วม 7 พรรคฝ่ายค้านนั้น ยืนยันว่า 1.การเลือกตัวแทน กมธ.ให้เข้ามาเป็นประธาน กมธ.แก้รัฐธรรมนูญ เราจะระมัดระวังบทเรียนในอดีต มิให้การทำงานครั้งนี้กลายเป็นความผิดพลาด โดยเลือกใครก็ได้ แต่ควรจะพิจารณาคนกลางที่มีความตั้งใจที่เห็นปัญหาของประเทศและปัญหาของรัฐธรรมนูญ ว่าเป็นอุปสรรคทำให้ประเทศเดินหน้าไม่ได้ ที่สำคัญคนที่เข้ามาร่วมในคณะกมธ.ชุดนี้ควรเป็นผู้ทรงคุณวุฒิ ที่ตั้งใจเข้ามาแก้ไขรัฐธรรมนูญโดยมุ่งหวังที่จะช่วยปลดล็อกที่เป็นอุปสรรคขัดขวางต่างๆ เพื่อให้การแก้ไขรัฐธรรมนูญสามารถเป็นหนทางการปลดล็อกประเทศได้อย่างแท้จริง
2.แนวทางที่สำคัญอันหนึ่งที่จะได้หารือกันต่อไปคือช่วยกันมองหาคนที่ทุกฝ่ายยอมรับ สามารถดึงความร่วมมือจากทุกภาคส่วนมาร่วมกันออกแบบรัฐธรรมนูญที่แก้ปัญหาทางเศรษฐกิจของประชาชนได้ และทำให้ประเทศเดินหน้าต่อไปได้เป็นอย่างดี และ 3.พรรคร่วมฝ่ายค้านทั้ง 7 พรรคจะนัดหารือกันก่อนที่วาระนี้จะเข้าสู่การพิจารณา และเชื่อว่าเราจะได้ข้อสรุปที่ชัดเจน ที่สามารถตอบสนองการหาทางออกให้ประเทศและจะเป็นไปในทิศทางเดียวกันและเป็นเอกภาพ
- “สุดารัตน์” จ่อร่วมวงกมธ.แก้รธน.
คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ ประธานยุทธศาสตร์พรรคเพื่อไทย ตอบข้อถามถึงกรณี นายอภิสิทธิ์ ถูกเสนอเป็นประธานกมธ.แก้ไขรัฐธรรมนูญ ว่า คนนอกมีสิทธิ์ที่จะเข้าไปเป็น กมธ.ได้ ส่วนตนจะร่วมไปเป็น กมธ.ด้วยหรือไม่นั้นคงต้องรอพรรคหารือกัน เพื่อเสนอว่าจะส่งใครเข้าไป แต่อยากให้เป็นคนที่มีความรู้ด้านกฎหมาย เข้าไปนั่งเป็น กมธ.วิสามัญศึกษาแนวทางการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เพื่อจะไปช่วยผลักดันให้การทำงานให้ประสบผลตามที่ตั้งเป้าหมายเอาไว้ คณะกรรมมาธิการชุดนี้ ต้องเริ่มต้นด้วยการศึกษาวิธีการและแนวทางในการแก้ไข มากกว่าที่จะไปพูดว่า จะต้องแก้ไขเรื่องอะไรบ้าง
ทั้งนี้ประเด็นหลักที่ กมธ.ต้องพิจารณาคือการแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 256 เพื่อเป็นการเปิดทางให้มีการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญได้ตามหลักเกณฑ์และวิธีการ ซึ่งถือว่าเป็นวิธีการปลดล็อกที่ง่ายที่สุด จากนั้นจึงเข้าสู่กระบวนการเลือกสสร.ซึ่งจะเป็นตัวแทนจากทุกภาคส่วนและจากประชาชนในแต่ละพื้นที่
- เรียกร้อง “นายกฯ-ส.ว.” ร่วมแก้รธน.
นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว รองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย กล่าวถึงกรณี นายชวน หลีกภัย ประธานสภา เห็นด้วยกับภาคประชาสังคมจะยื่นเรื่องต่อสภาเพื่อหารือการแก้รัฐธรรมนูญ พร้อมยินดีให้ความร่วมมือและรับฟังความคิดเห็น เรื่องการแก้รัฐธรรมนูญนั้นคงต้องรอดูคณะกมธ.พิจารณาศึกษาการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ที่จะตั้งขึ้นมาภายหลังเปิดประชุมสภาเดือน พ.ย. ซึ่งจะกำหนดแนวทางว่าทำอย่างไร ถือเป็นเรื่องที่ดีที่จะเอาเรื่องการแก้รัฐธรรมนูญมาหารือกันในสภา เพราะเป็นความต้องการของภาคประชาชนและภาคประชาสังคม
ส่วนการดำเนินการอยู่ที่การหารือในสภาเพื่อหาข้อสรุปร่วมกัน ทางพรรคร่วมฝ่ายค้านเสนอว่าควรจะมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 256 เพื่อเปิดทางให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญได้ง่าย เพราะหากไม่แก้มาตราดังกล่าว จะไม่สามารถแก้ไขได้เลย ส่วนจะมีการตั้ง ส.ส.ร.ไปพร้อมกันหรือไม่ก็ให้เป็นมติที่ประชุม
ทั้งนี้การแก้ไขรัฐธรรมนูญ ฝ่ายการเมืองทั้งพรรคร่วมฝ่ายค้านและพรรคร่วมรัฐบาลเห็นด้วย ถือเป็นนิมิตหมายที่ดี แต่อุปสรรคคือ หาก ส.ว.หรือผู้มีอำนาจไม่เอาด้วยก็ไม่สามารถแก้ไขได้ ดังนั้นต้องให้ผู้มีอำนาจและส.ว.เห็นด้วย แต่ก็ไม่ง่าย เพราะ ส.ว.เกรงว่าอำนาจที่ตัวเองมีจะหายไป ดังนั้นอาจจะต้องหารือกับ ส.ว.ว่าเราจะแก้ไขในส่วนใดบ้าง อาจจะมีการแก้ในส่วนของบทเฉพาะกาลให้คงอำนาจของ ส.ว.ตามวาระ หลังหมดวาระแล้วว่ากันใหม่ว่าจะดำเนินการอย่างไรต่อไป ทั้งหมดทั้งมวลการแก้รัฐธรรมนูญต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกฝ่าย รวมทั้งนายกฯ หากไม่ร่วมมือหรือไม่เห็นแก่ประชาชนก็แก้รัฐธรรมนูญไม่ได้
- ปชป.ยังไม่ชัดเจนเคาะ “อภิสิทธิ์”
วันเดียวกัน นายชินวรณ์ บุณยเกียรติ ประธานวิปพรรค ปชป.ในฐานะรองประธานวิปรัฐบาล กล่าวถึงข้อเสนอของนายเทพไท เสนพงศ์ ส.ส.นครศรีธรรมราช ปชป.ที่เสนอให้นายอภิสิทธิ์เป็นประธานกมธ.แก้ไขรัฐธรรมนูญว่า จะต้องหารือในที่ประชุมพรรค ในวันที่ 5 พ.ย.ก่อนคาดว่าในการประชุมสภาวันที่ 6 พ.ย.ยังไม่น่าจะได้พิจารณาญัตติตั้ง กมธ.ชุดดังกล่าว เนื่องจากมีวาระรับทราบรายงานถึง 10 เรื่อง โดยเรื่องที่คิดว่าจะอภิปรายกันยาว คือวาระรับทราบรายงานความคืบหน้าในการดำเนินการตามแผนการปฏิรูปประเทศตามมาตรา 270 ของรัฐธรรมนูญ