‘ปธ.ศาลฎีกา’ ชี้ไม่ว่ารวย-จน ต้องปฏิบัติเหมือนกัน การบังคับตามคำพิพากษา
“ประธานศาลฎีกา” ร่วมปาฐกถาพิเศษ “คุกมีไว้ขังคนจน...จริงหรือ?” ระบุเมื่อรับตำแหน่งพร้อมรับฟังทุกเสียงประเมินทำนโยบาย ย้ำเรื่องหลักการคุ้มครองสิทธิ 7 พ.ย.พร้อมแถลงนโยบาย
เมื่อวันที่ 5 พ.ย.62 ที่ห้องประชุมประกอบ หุตะสิงห์ ชั้น 3 อาคารเอนกประสงค์ ม.ธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ เวลา 10.30 น. นายไสลเกษ วัฒนพันธุ์ ประธานศาลฎีกาคนที่ 45 ในฐานะศิษย์เก่านิติศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์ ได้รับเชิญปาฐกถาพิเศษ ในงานวันธรรมศาสตร์สามัคคี ครั้งที่ 20 หัวข้อ คุกมีไว้ขังคนจน...จริงหรือ? ซึ่งเป็นการปาฐกถาครั้งแรกภายหลังเข้ารับตำแหน่ง
โดย นายไสลเกษ วัฒนพันธุ์ ประธานศาลฎีกา กล่าวตอนหนึ่งในการปาฐกถาว่า ในวันที่เข้ารับตำแหน่ง ตนยังไม่มีนโยบายใดๆ ทั้งสิ้น ซึ่งสิ่งหนึ่งที่ตนได้ทำก่อนที่จะออกนโยบาย คือการหารือกับทีมงานของตนว่า ประธานศาลฎีกาควรจะรับฟังความคิดเห็นของคนอื่นๆ วันที่ 1 ต.ค.62 ตนจึงเซ็นหนังสือถึงศาลทั่วประเทศ กระบวนการยุติธรรมทั่วประเทศ และเผยแพร่ถึงประชาชนทั่วประเทศว่าเขาอยากให้ศาลเป็นอย่างไรขอให้ส่งความคิดเห็นมา ก็เป็นสิ่งที่ได้ลองทำดู แล้วก็ได้ผลเกินคาด โดย 60% ของความคิดเห็นที่ส่งมา เป็นของเจ้าหน้าที่ในศาลหรือในกระบวนการยุติธรรม ส่วนอีก 40% เป็นที่ประชาชนส่งมา ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่าความรู้สึกของคนทั่วๆไปยังมองว่าศาลยุติธรรมยังมีปัญหาต้องแก้ไข
"ผมก็คิดว่าสิ่งเหล่าจะช่วยทำให้เรากำหนดนโยบาย แม้จะเป็นระยะเวลาสั้นๆ ที่ผมอยู่ในตำแหน่งเพียงปีเดียวแต่ผมก็คิดว่าเลือกลำดับความสำคัญของปัญหาที่ต้องแก้ไขได้ก่อน และสามารถจะทำได้จริง โดยในวันที่ 7 พ.ย.นี้ จะได้แถลงนโยบายให้กับสื่อและสาธารณชนได้ทราบทั่วไป โดยสิ่งแรกคือการคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของประชาชน นายไสลเกษ ประธานศาลฎีกา กล่าวและว่า มีหลายคนบอกว่าศาลปล่อยตัวคนน้อย ศาลไม่ค่อยให้โอกาส จนเลยไปถึงคำที่ว่า คุกมีไว้ขังคนจน จริงหรือไม่ ตรงนี้ตนไม่ทราบว่าประโยคดังกล่าวจริงหรือไม่"
อย่างไรก็ดี จากรายงานการวิจัยทั้งในประเทศไทยและต่างประเทศบอกว่า คนที่ติดคุกส่วนใหญ่คือคนจนแต่น้อยมากที่รายงานให้คำนิยามว่า คนจน คือใคร อะไรคือคนจน หรืออะไรคือคนรวย มีความแตกต่างหรือไม่ว่าคนจน กับคนรวยทำความผิดแตกต่างกัน ซึ่งเราสันนิษฐานจากสามัญสำนึกว่าถ้าคนที่มีความรู้ มีการศึกษาส่วนใหญ่ก็เป็นคนที่มีฐานะ มีโอกาสที่จะเล่าเรียนศึกษาได้ เมื่อเขามีโอกาสเรียนก็เรียนรู้เข้าใจอะไรมากขึ้น แต่คำถามคือการทำผิดจะน้อยลงจริงหรือไม่ เป็นข้อที่น่าคิด
ส่วนที่ว่าคนรวยกับคนจนใครมีโอกาสทำผิดมากกว่ากัน แน่นอนที่สุดคนจน คือคนที่ด้อยโอกาส ซึ่งกระทำความผิดที่อาจเกิดขึ้นได้ คือการกระทำผิดง่ายๆ เกี่ยวกับทรัพย์ เช่น ลัก วิ่ง ชิง ปล้น รับของโจร กรรโชกทรัพย์ คนเหล่านี้ส่วนใหญ่เป็นคนมีความต้องการทางเศรษฐกิจ ส่วนคนรวย ไม่ลักทรัพย์ ไม่ฉ้อโกงใช่หรือไม่ ซึ่งคนรวยเป็นคนที่มีความรู้ จึงอาจมีวิธีการกระทำความผิดที่ต้องบอกว่าใช้องค์ความรู้ที่มีความเนียบเนียนกว่า ซับซ้อนกว่า คนจนมีหนีภาษีหรือไม่ หรือมีไปขอรับ VAT โดยที่ตัวเองไม่ได้ส่งออก-นำเข้าหรือไม่
ดังนั้น กระบวนการทำความผิด ส่วนหนึ่งจึงเกิดจากโอกาสและการสร้างโอกาสให้กับตัวเอง จึงเกิดคำถามว่าแล้วในคุกมีคนจน-คนรวยมากน้อยแค่ไหน ซึ่งจากตัวเลขสถิติพบว่า คนที่ต้องขังในปี 2561 มีคนต้องคำพิพากษาให้ลงโทษ ประมาณ 680,000 คน ในจำนวนนี้ศาลจำคุกประมาณ 90,000 คนคิดเป็น 16.5% ที่เหลือศาลใช้วิธี เช่น รอการลงโทษ หรือรอการกำหนดโทษ มีประมาณ 42% ส่วนกว่า 50% ใช้วิธีการปรับ-กักขัง-คุมความประพฤติ แล้วถามว่าคนที่ติดคุกมีคนจน-คนรวยกี่เปอร์เซ็นต์ ซึ่งไม่เคยมีรายงานวิจัยที่ไหนโดยเฉพาะในประเทศไทยยืนยัน เพราะ 1.ไม่ได้นิยามว่า คนจน-คนรวย แตกต่างกันตรงไหน 2.ในเมื่อแยกไม่ออกระหว่าง คนจน-คนรวย ตรงนี้เราจะสรุปได้หรือไม่ว่าคุกมีไว้ขังคนจน อย่างไรก็ดีไม่ว่าจะเป็นคนรวยหรือคนจน หากกระทำผิดต้องได้รับการปฏิบัติที่เหมือนกัน คือการบังคับคดีตามคำพิพากษาถึงที่สุด