เช็คล่าสุด! 45 รพ. ผู้ป่วยบัตรทองรับยาร้านขายยาใกล้บ้านได้
1 เดือนบัตรทองรับยาร้านยา “อนุทิน”เชื่อประชาชนได้ประโยชน์ ย้ำห้ามกระจุกตัวแค่ร้านยาใหญ่ๆ ขณะที่ผู้ป่วยสมัครใจร่วมแล้ว 376 คน รพ. 45 แห่ง รพ.ศูนย์มากสุด 23 แห่ง ร้านยา 403 แห่ง แยกเป็นร้านยาเดี่ยว 345 แห่ง
จากการที่กระทรวงสาธารณสุข(สธ.)ร่วมกับสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(สปสช.)ดำเนินการโครงการลดความแออัดของหน่วยบริการในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ หรือ การให้ผู้ป่วยสิทธิ์บัตรทองใน 4 กลุ่มโรคหลัก ได้แก่ เบาหวาน ความดันโลหิตสูง จิตเวช และหอบหืด หรือโรคอื่นๆที่รพ.มีความพร้อม ซึ่งผู้ป่วยจะต้องมีอาการที่แพทย์วินิจฉัยว่าคงที่และผู้ป่วยสมัครใจสามารถเข้ารับยาได้ที่ร้านขายยาที่เข้าร่วมโครงการใกล้บ้าน โดยเริ่มดำเนินการตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค.2562 และมีเป้าหมายในปีงบประมาณ 2563 มีรพ.เข้าร่วม 50 แห่ง ร้านขายยา 500 แห่งนั้น
วันนี้(6 พ.ย.) นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข(รมว.สธ.) กล่าวว่า โครงการนี้เพิ่งเริ่มดำเนินการได้ 1 เดือนยังเป็นลักษณะของการทดลองว่าจะเกิดผลดีหรือผลเสียต่อการให้บริการประชาชนหรือไม่ อย่างไรก็ตาม นโยบายที่ให้ไปคือต้องการให้เกิดการกระจายการรับยาไปยังร้านขายยารายย่อยในพื้นที่ ไม่ให้กระจุกตัวอยู่เฉพาะร้านขนาดใหญ่ที่มีหลายๆสาขาเท่านั้น และเชื่อว่าจะมีรพ.และร้านขายยาในพื้นที่ต่างๆเข้าร่วมโครงการนี้มากขึ้นในอนาคต เพราะเป็นโครงการที่ดี เป็นช่องทางหนึ่งของการเพิ่มรายได้ร้านขายยา ขณะที่ประชาชนได้รับความสะดวก โรงพยาบาลลดความแออัด และรัฐไม่ได้ใช้งบประมาณเพิ่มจำนวนมากมาย
นพ.ศักดิ์ชัย กาญจนวัฒนา เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวว่า จากการดำเนินโครงการลดความแออัดในโรงพยาบาล โดยใช้กลไกร้านยา ในช่วง 1 เดือนที่ผ่านมา มีโรงพยาบาลทั่วประเทศ เข้าร่วมแล้วจำนวน 45 แห่ง เป็นโรงพยาบาลชุมชน 5 แห่ง โรงพยาบาลทั่วไป(รพท.)9 แห่ง โรงพยาบาลศูนย์(รพศ.) 23 แห่ง รพ.สังกัดกรมการแพทย์ 3 แห่ง รพ.สังกัดกรมสุขภาพจิต 3 แห่ง และรพ.สังกัดกระทรวงการอุดมศึกษาฯ 2 แห่ง ได้แก่ 1รพ.เชียงรายประชานุเคราะห์ 2.รพ.นครพิงค์ 3.รพ.สวนปรุง จ.เชียงใหม่ 4.รพ.ลำพูน 5.รพ.พุทธชินราช จ.พิษณุโลก 6.รพ.เพชรบูรณ์ 7.รพ.สวรรค์ประชารักษ์ 8.รพ.อุทัยธานี 9.รพ.พระนั่งเกล้า จ.นนทบุรี 10.รพ.สระบุรี 11.รพ.พระพุทธบาท 12.รพ.บ้านหมอ 13.รพ.เสาไห้ จ.สระบุรี
14.รพ.ราชบุรี 15.รพ.พหลพลพยุหเสนา จ.กาญจนบุรี 16.รพ.สมเด็จพระพุทธเลิศหล้า จ.สมุทรสงคราม 17.รพ.บางพลี จ.สมุทรปราการ 18.รพ.สมุทรปราการ 19.รพ.ชลบุรี 20.รพ.พระปกเกล้า จ.จันทบุรี 21.รพ.พุทธโสธร จ.ฉะเชิงเทรา 22.รพ.ระยอง 23.รพ.ขอนแก่น 24.รพ.จิตเวชขอนแก่นราชนครินทร์ 25.รพ.ร้อยเอ็ด 26.รพ.มหาสารคาม 27.รพ.สุทธาเวช คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม 28.รพ.กาฬสินธุ์ 29.รพ.อุดรธานี 30.รพ.จิตเวชราชนครินทร์นครราชสีมา
31. รพ.มหาราชนครราชสีมา 32.รพ.สรรพสิทธิประสงค์ 33.รพ.วารินชำราบ จ.อุบลราชธานี 34.รพ.ศรีสะเกษ 35.รพ.อุทุมพรพิสัย 36.รพ.ขุนหาญ จ.ศรีสะเกษ 37.รพ.สุราษฎร์ธานี 38.รพ.มหาราชนครศรีธรรมราช 39.รพ.วชิระภูเก็ต 40.รพ.ตรัง 41.รพ.หาดใหญ่ 42.รพ.สงขลานครินทร์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ 43.รพ.เลิดสิน 44.รพ.ราชวิถี และ45.รพ.นพรัตน์ฯ จ.กรุงเทพมหานคร
สำหรับร้านยาแผนปัจจุบันประเภทขย.1 คือร้านขายยาที่มีเภสัชกรอยู่ประจำร้านที่เข้าร่วมโครงการแล้ว จำนวน 403 แห่ง แยกเป็นร้านยาเดี่ยว(Stand-alone store) 345 แห่ง คิดเป็น 85.61 % และร้านยาที่มีหลายสาขา(Chain store) 58 แห่ง คิดเป็น 14.39 % ขณะที่ ในส่วนของผู้ป่วย มีผู้ที่แสดงความจำนงขอเข้าร่วมโครงการฯ เพื่อรับยาที่ร้านยาแล้วประมาณ 40,000 คน แต่ในส่วนของจำนวนการเบิกค่าใช้จ่ายค่าบริการที่ร้านยายังมีไม่มากจำนวน 376 คน เนื่องจากยังเป็นช่วงเริ่มต้นโครงการ ผู้ป่วยที่มารับบริการอาจใช้บริการรับยาที่ร้านยาในคราวต่อไป โดยเป็นผู้ป่วยในพื้นที่เขตสุขภาพที่ 1 ประกอบด้วยจ.เชียงราย เชียงใหม่ แม่ฮ่องสอน พะเยา น่าน แพร่ ลำพูน และลำปาง มากที่สุด 154 ราย รองลงมาเป็น เขตสุขภาพที่ 6 จ.ฉะเชิงเทรา ปราจีนบุรี สระแก้ว สมุทรปราการ จันทบุรี ชลบุรี ตราด และระยอง จำนวน 92 ราย และเขตสุขภาพที่ 7 จ.ขอนแก่น ร้อยเอ็ด กาฬสินธุ์ และมหาสารคาม จำนวน 41 ราย