‘งานศพคนเป็น’ บทเรียนสอนชีวิตโสมขาว

‘งานศพคนเป็น’ บทเรียนสอนชีวิตโสมขาว

บริษัทแห่งหนึ่งในเกาหลีใต้ให้บริการจัดงานศพฟรี ภายใต้เงื่อนไขว่า ต้องเป็นงานศพคนเป็นเท่านั้นเพื่อให้เป็นบทเรียนชีวิต

บริษัทจัดงานศพ “ฮโยวอน” ให้บริการที่ศูนย์บำบัดฮโยวอนมาตั้งแต่ปี 2555 มีผู้ใช้บริการงานศพหมู่แล้วกว่า 25,000 คน บริษัทหวังว่าการลองเสียชีวิตจะทำให้พวกเขาใช้ชีวิตได้ดีขึ้น

“เมื่อคุณรับรู้ถึงความตายและเคยตาย คุณจะดำเนินชีวิตแบบใหม่” โช แจ ฮี วัย 75 ปี กล่าว เธอเข้าร่วมงานศพคนเป็นเมื่อเร็วๆ นี้ตามโครงการ “ตายดี” ที่ศูนย์สวัสดิการคนชราเสนอให้

งานนั้นมีผู้ร่วมกิจกรรมหลายสิบคน ตั้งแต่วัยรุ่นไปจนถึงวัยเกษียณ ทุกคนสวมผ้าห่อศพ ถ่ายรูปหน้าศพ เขียนเจตนารมณ์สุดท้าย จากนั้นลงไปนอนในโลงปิดสนิทราว 10 นาที

ชเว จิน คิว นักศึกษามหาวิทยาลัย เล่าว่า ช่วงที่นอนในโลงช่วยให้เขาตระหนักว่า เขามองคนอื่นเป็นคู่แข่งบ่อยเกินไป

“ตอนอยู่ในโลง ผมสงสัยว่าโลงใช้ทำอะไร” หนุ่มวัย 28 ปีกล่าว พร้อมเสริมว่าเขามีแผนเริ่มต้นธุรกิจของตนเองเมื่อเรียนจบ แทนที่จะพยายามเข้าสู่ตลาดแรงงานที่แข่งขันสูงมาก

องค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (โออีซีดี) จัดทำดัชนีชีวิตที่ดีกว่า พบว่า เกาหลีใต้อยู่ในอันดับ 33 จาก 40 ประเทศ คนหนุ่มสาวชาวเกาหลีใต้หลายคนตั้งความหวังไว้สูงว่า ต้องเข้าเรียนในสถาบันดีๆ จบแล้วมีงานดีๆ ทำ แต่ความฝันกำลังพังทลายเนื่องจากเศรษฐกิจซบเซา การว่างงานสูง

ด้วยเหตุนี้ ยู อึน ชิล แพทย์แผนกพยาธิวิทยา ศูนย์แพทย์อาซาน ผู้เขียนหนังสือเกี่ยวกับความตาย เสนอว่า การเรียนรู้และเตรียมตัวตายเสียตั้งแต่อายุยังน้อยจึงสำคัญยิ่ง

ถ้ามองในแง่การฆ่าตัวตาย ข้อมูลจากองค์การอนามัยโลก ระบุว่า เมื่อปี 2559 อัตราการฆ่าตัวตายของเกาหลีใต้อยู่ที่ 20.2 ต่อประชากร 100,000 คน เกือบสองเท่าจากค่าเฉลี่ยโลกที่ 10.53 ต่อประชากร 100,000 คน

สำหรับแนวคิดให้บริการจัดงานศพสำหรับคนเป็นของบริษัทฮโยวอน ก็เพื่อช่วยให้ผู้คนชื่นชมกับชีวิต ให้อภัยและคืนดีกับครอบครัวและเพื่อนฝูง

แจง ยอง มุน หัวหน้าศูนย์บำบัดเผยว่า เขาดีใจมากเมื่อเห็นผู้คนดีกันในงานศพญาติ แต่เสียใจที่พวกเขารอคอยโอกาสนี้มาตั้งนาน

“เราไม่ได้เป็นอมตะ ผมจึงคิดว่าประสบการณ์ตายตอนที่ยังมีชีวิตอยู่สำคัญมาก เราสามารถขอโทษและคืนดีกันได้เร็วขึ้น แล้วใช้ชีวิตช่วงที่เหลืออย่างมีความสุข” แจงอธิบาย และหลายครั้งที่เขาเคยเตือนสติคนที่คิดฆ่าตัวตาย โดยเลือกคนที่เคยถามตัวเองว่า พวกเขาสามารถฆ่าตัวตายได้จริงหรือไม่ แล้วเปลี่ยนความคิดคนเหล่านั้น

ส่วนชเวนั้นให้ความสำคัญกับคุณค่าของแต่ละบุคคล

“ผมอยากให้ทุกคนได้เรียนรู้ว่าพวกเขาสำคัญ คนอื่นจะเสียใจขนาดไหนถ้าเขาจากไป ความสุขเป็นเรื่องของปัจจุบัน” ชเวเล่าพร้อมปาดน้ำตา