ทบ.โต้ 'ศรีสุวรรณ' โยงเหตุยิงถล่มชรบ.กับ ‘ผบ.ทบ.’ จัดทอล์กครั้งก่อน
ทบ. โต้ “ศรีสุวรรณ” โยงเหตุยิ่งถล่ม ชรบ. กับ “ผบ.ทบ.” จัดทอล์กครั้งก่อน ยันเหตุยิง ชรบ. ไม่มีใครอยากให้เกิด สังคมไม่ยอมรับ
เมื่อวันที่ 7 พ.ย.62 พ.อ.วินธัย สุวารี โฆษกกองทัพบก กล่าวถึงกรณีนายศรีสุววรรณ จรรยา เลขาธิการพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย ให้ความเห็นเกี่ยวกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นที่ จ.ยะลา เมื่อวันที่ 5 พ.ย.62 ที่กล่าวพาดพิงถึงผู้บัญชาการทหารบกโดยสอบถามถึงศักยภาพในการดูแลด้านความมั่นคง ว่า ตนเชื่อว่าไม่มีเจ้าหน้าที่หรือหน่วยงานใดประสงค์จะให้เกิดเรื่องร้าย โดยเหตุร้ายที่เกิดขึ้นนั้นสังคมควรประณามคนที่กระทำผิดกฎหมาย และช่วยกันสืบค้น เพื่อนำผู้กระทำผิดมาเข้าสู่กระบวนการตามกฎหมาย ตนไม่อยากให้แสดงความเห็นที่เป็นไปในลักษณะกดดันเจ้าหน้าที่ที่กำลังพยายามคลี่คลายเหตุการณ์ รวมทั้งการดูแลผู้บาดเจ็บ เสียชีวิตและผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์
ทั้งนี้ พ.อ.วินธัย กล่าวว่า ตนขอเปรียบเทียบให้เห็นว่า การที่สังคมมีกฎหมายเป็นกรอบ โดยมีเจ้าหน้าที่บ้านเมืองกำกับดูแล เพื่อให้เกิดความสงบสุขนั้น จึงไม่ได้เป็นบทสรุปว่าจะต้องไม่มีคนกระทำผิดหรือต้องไม่เกิดเหตุร้ายใดๆ แต่ จนท.หรือหน่วยงานจะทำหน้าที่ช่วยป้องปรามดูแลไม่ให้มีการทำผิดกฎหมายหรือไม่ให้เกิดเหตุไม่พึงประสงค์ได้โดยง่าย และเมื่อเกิดการทำผิดกฎหมายหรือมีเหตุร้ายขึ้น เจ้าหน้าที่ก็จะเข้าไปคลี่คลาย แก้ไข และบังคับใช้กฎหมาย
นอกจากนี้ พลเอกอภิรัชต์ ในฐานะรองผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (รองผอ.รมน.) มีบทบาทเชิงนโยบาย ในการกำกับดูแลหน่วยงาน และเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานในพื้นที่มาโดยตลอด โดยได้ทำงานในบทบาทความรับผิดชอบเพื่อบริหารและช่วยคลี่คลาสถานการณ์ด้วยกลไกตามสายการบังคับบัญชาอยู่แล้ว
“อาจไม่เป็นธรรมในความพยายามเชื่อมโยง 2 เรื่องเข้าด้วยกัน คือ การบรรยายพิเศษฯ เพื่อสร้างการรับรู้ในงานด้านความมั่นคง กับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับชุดรักษาความปลอดภัยหมู่บ้านที่ จ. ยะลา ทั้งนี้การบรรยายเป็นการสร้างความเข้าใจในสถานการณ์ด้านความมั่นคงของประเทศในภาพรวม ส่วนเหตุร้ายที่เกิดขึ้นเป็นเหตุการณ์เฉพาะของกลุ่มผู้กระทำผิดกฎหมาย ละเมิดสิทธิมนุษยชนขั้นรุนแรง และเป็นการกระทำอันโหดเหี้ยมของผู้ก่อเหตุรุนแรงในพื้นที่ จชต. ที่กระทำต่อประชาชนอาสาสมัครผู้บริสุทธ์ และเป็นเรื่องที่สังคมยอมรับไม่ได้” พ.อ.วินธัย กล่าว
สำหรับการพูดคุยสันติสุข นั้นเป็นกระบวนการหนึ่งในการสร้างความสงบสุข ที่รัฐบาลมีนโยบายให้ดำเนินการควบคู่ไปกับกระบวนการสร้างความสงบสุขในมิติอื่นๆ และไม่ได้หมายความว่าเมื่อมีกระบวนการพูดคุยแล้ว จะยุติการพยายามก่อเหตุรุนแรงหรือความไม่สงบได้ทันที ต้องใช้องค์ประกอบอีกหลายอย่างเพื่อมุ่งสู่ผลสำเร็จ
ในส่วนงานด้านความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินจากข้อมูลเชิงสถิติตั้งแต่ปี 2550 ถึง ปัจจุบันพบว่าตัวเลขผู้บาดเจ็บและเสียชีวิต มีจำนวนลดลงตามลำดับโดยในปี 2550 มีผู้บาดเจ็บ 1,670 คน เสียชีวิตสูงถึง 892 คน โดยในปีล่าสุดขณะที่ พลเอกอภิรัชต์ ขึ้นดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการทหารบกและรองผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร สถิติผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตจากเหตุการณ์ในพื้นที่ จชต. ลดลงต่ำสุดโดย มีผู้บาดเจ็บ 265 คน เสียชีวิต 218 นาย เหล่านี้เป็นข้อมูลเชิงประจักษ์ที่สามารถยืนยันในพัฒนาการเชิงบวกที่ดีขึ้นมาตามลำดับ