'ลิขสิทธิ์โดราเอมอน' ยันเอาผิดคนละเมิดได้
"ลิขสิทธิ์โดราเอมอน" ยันแม้จะหมดอายุคุ้มครองลิขสิทธิ์ในวันที่ 30 พ.ย.62 แต่บริษัทยังมีสิทธิ์ในเครื่องหมายการค้า เอาผิดคนละเมิดได้
จากกรณีมีผู้ถูกจับกุมละเมิดลิขสิทธิ์โดราเอมอน การ์ตูนดังอมตะ ล่าสุด กรรมการผู้จัดการ บริษัท แอนนิเมชั่น อินเตอร์เนชั่นแนล (ประเทศไทย) จำกัด (เอไอ ไทยแลนด์) ปริพันธ์ หนุนภักดี ได้ชี้แจงข้อเท็จจริงเกี่ยวกับอายุแห่งการคุ้มครองลิขสิทธิ์การ์ตูนโดราเอมอนว่า
เป็นงานอันมีลิขสิทธิ์ประเภทงานศิลปกรรม ลักษณะงานจิตรกรรม มีอายุแห่งการคุ้มครองลิขสิทธิ์ 50 ปี นับแต่ได้มีการโฆษณาครั้งแรก (วันที่ 1 ธันวาคม 2512) ครบกำหนดอายุแห่งการคุ้มครองลิขสิทธิ์ในวันที่ 30 พฤศจิกายน นี้
ปัจจุบันงานสร้างสรรค์การ์ตูนโดราเอมอน ยังอยู่ในระยะเวลาแห่งการคุ้มครองลิขสิทธิ์ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 ตามคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5341/2553 และในประเทศไทยมี บริษัท แอนนิเมชั่น อินเตอร์เนชั่นแนล (ประเทศไทย) จำกัด (เอไอ ไทยแลนด์) เป็นตัวแทนในการอนุญาตให้ลูกค้าใช้สิทธิในคาแรกเตอร์การ์ตูนโดราเอมอน งานศิลปกรรม ลักษณะจิตรกรรม นำไปผลิตสินค้าและจัดจำหน่าย
นอกจากนี้ บริษัท ฟูจิโกะ-เอฟ-ฟูจิโอะ โปร จำกัด เจ้าของเครื่องหมายการค้าการ์ตูนโดราเอมอนได้จดทะเบียนเครื่องหมายการค้าการ์ตูนโดราเอมอน และตัวอักษรคำว่า Doraemon ไว้กับสำนักเครื่องหมายการค้า กรมทรัพย์สินทางปัญญา ครบทุกจำพวกตามที่กรมทรัพย์สินทางปัญญาได้ระบุไว้และได้ต่ออายุเครื่องหมายการค้าที่ได้จดทะเบียนไว้ทุก 10 ปี ตามพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534
ปัจจุบัน บริษัท ฟูจิโกะ-เอฟ-ฟูจิโอะ โปร จำกัด ในประเทศญี่ปุ่น ในฐานะเจ้าของลิขสิทธิ์ และเครื่องหมายการค้าการ์ตูนโดราเอมอน ยังดำเนินกิจการอยู่ รวมทั้งในประเทศไทย บริษัทแอนนิเมชั่น อินเตอร์เนชั่นแนล (ประเทศไทย) จำกัด (เอไอ ไทยแลนด์) ยังดำเนินธุรกิจเกี่ยวกับการอนุญาตให้ใช้สิทธิคาแรกเตอร์การ์ตูนโดราเอมอน และมีบริษัทที่เป็นลูกค้าอยู่เป็นจำนวนมาก
แต่หลังจากวันที่ 30 พฤศจิกายน นี้ ซึ่งเป็นวันครบกำหนดอายุแห่งการคุ้มครองลิขสิทธิ์ บริษัทยังสามารถใช้สิทธิเครื่องหมายการค้าในการคุ้มครองสิทธิการ์ตูนโดราเอมอนในการอนุญาตให้ใช้สิทธิให้แก่ลูกค้าของบริษัท และในการบังคับใช้กฎหมายต่อไป