'การ์ทเนอร์' ชี้ 10 แนวโน้มเทคโนโลยีปี 2020

'การ์ทเนอร์' ชี้ 10 แนวโน้มเทคโนโลยีปี 2020

ส่อง 10 แนวโน้มเทคโนโลยีในปี 2020 ที่การ์ทเนอร์ บริษัทวิจัยด้านไอทีได้ประกาศออกมา สิ่งที่น่าสนใจคือความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นจะแตกต่างจาก 2-3 ปีที่ผ่านมา โดยเฉพาะผู้ใช้งานในยุคดิจิทัล

บริษัทวิจัยด้านไอทีในนาม "การ์ทเนอร์" ประกาศแนวโน้มเทคโนโลยีในปี 2020 หรือปี 2563 โดยปีนี้มีความแตกต่างจากปี 2-3 ที่ผ่านมามากพอสมควร เพราะมีการกล่าวถึงเรื่องใหม่ๆ หลายด้าน และเน้นไปยังผู้ใช้ที่กำลังต้องเปลี่ยนแปลงในยุคดิจิทัล

การ์ทเนอร์ได้แบ่งแนวโน้มเทคโนโลยีของปีหน้าที่มีทั้งหมด 10 ด้าน ออกเป็นสองกลุ่ม คือ People Centric และ Smart Space โดยสามารถสรุปแนวโน้มเทคโนโลยีต่างๆ ได้ดังนี้ กลุ่มที่หนึ่ง People Centric คือ การมองเทคโนโลยีสำหรับผู้ใช้เป็นศูนย์กลาง โดยมีเทคโนโลยีทั้งหมด 5 ด้าน คือ

157321238332

1. Hyperautomation เป็นการผสมผสานกันระหว่าง Machine Learning, Packaged Software และ Automation Tools เพื่อทำให้เกิดระบบงานอัตโนมัติ โดยมีสองส่วนคือ ส่วนแรก คือ มีการทำระบบอัตโนมัติของงานต่างๆ ที่สามารถจะ Automate ได้เพิ่มมากขึ้น และส่วนที่สอง มีการทำ AI-based Process Automation โดยจะมีการใช้เครื่องมือที่หลากหลายทั้ง Robot Process Automation (RPA) และเครื่องมืออื่นๆ ผสมกัน โดยเป็นการสร้าง Digital Twin ขององค์กร

2. Multiexperience การที่คนจะโต้ตอบ รับรู้ ควบคุมโลกดิจิทัลและแอพพลิเคชั่นต่างๆ โดยจะเปลี่ยนจาก Technology-literate People เป็น People-literate Techonology กล่าวคือ กำลังเปลี่ยนจากการที่ผู้คนจะโต้ตอบคอมพิวเตอร์ที่จุดสัมผัสบริการจุดใดจุดหนึ่ง (Single Touchpoint) กลายเป็นว่าโลกก็คือ คอมพิวเตอร์ที่ผู้คนจะมีจุดสัมผัสบริการที่หลากหลาย (Multi Touchpoint) ที่ระบบอินเตอร์เฟสอาจเป็นทั้งระบบเสียง, Augmented Reality (AR), Virtual Reality (VR) หรือมีรูปแบบใหม่ๆ

ตัวอย่างเช่น Domino Pizza ได้พัฒนา Customer Experience ที่ใช้แอพในการสั่งอาหาร สั่งงานด้วยเสียงผ่านลำโพงอัจฉริยะ ระบบติดตามพิซซ่า รถยนต์ไร้คนขับ หรือโดรนในการส่งพิซซ่า

3. Democratization การที่คนทั่วไปสามารถเข้าถึงและใช้งานเทคโนโลยีได้ง่ายขึ้นด้วยระบบอินเตอร์เฟสที่ดีขึ้น หรืออาจมีระบบเอไอฝั่งอยู่ ทำให้ผู้ใช้สามารถใช้ระบบยากๆ ที่จะมีความซับซ้อนได้ง่ายขึ้นโดยแทบไม่ต้องเรียนรู้อะไรมากนัก ซึ่งจะแบ่งระบบเป็น 4 ด้าน คือ การพัฒนาซอฟต์แวร์, การวิเคราะห์ข้อมูล, การออกแบบ และการเข้าถึงองค์ความรู้ 

ตัวอย่างของ Democratization ก็คือผู้ใช้ทั่วไปอาจใช้เครื่องมือที่มีระบบเอไอ ในการวิเคราะห์หรือสร้างโมเดลของข้อมูล (Data Model) โดยอาจไม่ต้องเขียนโปรแกรมหรือมีทักษะทางด้าน Data Science เลยก็ได้ ดังที่เรียกว่า Citizen Data Scientist

157320219931

4. Human Augmentation การนำเทคโนโลยีมาใช้เพื่อเพิ่มความรู้ความเข้าใจ (Cognitive) และประสบการณ์ทางกายภาพ (Physical Experience) ของคน ซึ่งในด้านของ Cognitive Augmentation จะเป็นการเข้าถึงองค์ความรู้และการใช้ประโยชน์จากแอพพลิเคชั่นของระบบคอมพิวเตอร์ปัจจุบันจากการเข้ามาของ Multiexperience Interface ในโลกของ Smart Space เช่น การใช้ Digital Assistant อย่าง Google Home ส่วน Physical Augmentation ก็คือ การที่นำเทคโนโลยีมาเชื่อมโยงกับอวัยวะการรับรู้ของคน เช่น Wearable Device หรืออุปกรณ์ AR

5.Transparency and Traceability การใช้ข้อมูลกำลังเป็นเรื่องที่สำคัญมากโดยเฉพาะด้านความเป็นส่วนตัวของข้อมูล (Data Privacy) และการที่องค์กรต่างๆ นำข้อมูลของลูกค้ามาใช้ประโยชน์ ทำให้ทุกคนมีความกังวลต่อความปลอดภัยและความเสี่ยงจากการถูกใช้ข้อมูลเหล่านี้ จึงต้องมีการสร้างความเชื่อมั่นโดยต้องมีความโปร่งใสในเรื่องของความเป็นส่วนตัวของข้อมูล และต้องมีจริยธรรมดิจิทัล (Digital Ethics) ทีดี 

นอกจากนี้ก็ยังมีความกังวลในเรื่องของการพัฒนาระบบเอไอที่ต้องสามารถอธิบายได้ โดยจะต้องบอกได้ว่านำข้อมูลใดมาใช้ มีการพัฒนาและสอนระบบเอไออย่างไร ระบบเอไอที่ได้มาต้องสามารถติดตามและตรวจสอบได้ว่ามีการใช้งานอย่างไร

สำหรับกลุ่ม Smart Space อีก 5 ด้านที่การ์ทเนอร์ประกาศออกมานั้น มีดังนี้ 

1.Empowered Edge ในที่นี้หมายถึงการใช้เทคโนโลยีอย่างไอโอที หรืออุปกรณ์ที่อยู่ใกล้ตัวคน ซึ่ง Empowered Edge ก็คือ การที่เทคโนโลยีเหล่านี้มีจำนวนเพิ่มขึ้นอย่างมาก สามารถดึงข้อมูลเข้ามาเก็บไว้ภายในอุปกรณ์ แทนที่จะส่งข้อมูลเหล่านั้นไปประมวลผลที่ระบบคลาวด์ 

การประมวลผลที่อุปกรณ์นั้นเพื่อลด Latency ของการส่งข้อมูลไปมา เช่น การทำให้ระบบลำโพงอัจฉริยะสามารถประมวลผลบางส่วนได้ที่อุปกรณ์นั้นเลย หรือการพัฒนาระบบอย่างเช่น หุ่นยนต์ หรือโดรน ให้มีทรัพยากรในการประมวลผลและเก็บข้อมูลได้มากขึ้นเพื่อที่จะได้เข้าสู่ Edge Computing

2.Distributed Cloud คือ ระบบคลาวด์ยุคต่อไป กล่าวคือ แทนที่ระบบคลาวด์จะรวมศูนย์อยู่ที่เครื่องเซิฟเวอร์ภายนอกแต่อาจกระจายไปยังดาต้า เซ็นเตอร์หลายๆ แห่งเพื่อตอบโจทย์เรื่องกฎระเบียบต่างๆ ที่ต้องการให้ข้อมูลและการประมวลผลอยู่ในบริเวณที่ต้องการ หรือต้องการลด Latency จากการส่งข้อมูลไปยังเครื่องเซิฟเวอร์ไกลๆ เช่น การส่งข้อมูลไอโอที เป็นต้น

157320204062

3.Autonomous Things เป็นแนวโน้มเทคโนโลยีที่การ์ทเนอร์ระบุมาต่อเนื่องหลายปี โดยในครั้งนี้กล่าวถึงการนำระบบเอไอมาประยุกต์ใช้กับงานที่มนุษย์เคยทำ เช่น การใช้ในระบบหุ่นยนต์ โดรน หรือรถยนต์ไร้คนขับ แต่ระบบเหล่านี้กำลังเปลี่ยนจากการทำงานตามลำพัง ไปสู่การส่งข้อมูลเชื่อมโยงกันทำให้ทำงานร่วมกันได้ดีขึ้น

4.Practical Blockchain การ์ทเนอร์ระบุว่าแม้ Completed Blockchain จะมีองค์ประกอบหลายอย่างที่ทำให้น่าสนใจ แต่ในปัจจุบันก็อาจยังไม่สามารถทำให้องค์กรต่างๆ นำไปประยุกต์ใช้ได้ทั้งหมด เพราะปัญหาทางเทคนิคโดยเฉพาะในแง่ของ Scalability และมาตรฐานที่แตกต่างกัน 

ดังนั้นในปีนี้การ์ทเนอร์จึงเน้นเรื่องการนำไปปฎิบัติโดยเน้นใน 2 องค์ประกอบคือ ด้าน Share Ledger และเรื่อง Distributed โดยยกตัวอย่างการนำบล็อกเชนไปใช้ในด้านซัพพลายเชน แมเนจเม้นท์ 

157320195636

5.AI Security ปัจจุบันมีการนำเอไอ และแมชีนเลิร์นนิ่งมาประยุกต์ใช้งานมากขึ้น ความปลอดภัยที่เกี่ยวข้องกับการใช้งานเอไอ จึงเป็นเรื่องสำคัญโดยสามารถแบ่งออกเป็น 3 ด้าน คือ 1.การป้องกันระบบเอไอ ที่พัฒนาขึ้นมา จากความเสี่ยงของการคุกคามข้อมูลหรือโมเดลที่อยู่ในระบบ 2.การนำเอไอมาใช้ในการพัฒนาระบบไซเบอร์ซิเคียวริตี้ ให้มีความชาญฉลาดขึ้น และ 3.การป้องกันภัยคุกคามทางไซเบอร์แบบใหม่ๆ ที่ผู้ร้ายใช้เอไอในการพัฒนา

จากแนวโน้มเทคโนโลยีของการ์ทเนอร์ทั้งหมดนั้น จะเห็นได้ว่าโลกกำลังเปลี่ยนแปลงไปอย่างมาก ไม่ได้มีการมองเทคโนโลยีแบบเดี่ยวๆ ในรูปแบบเดิม หรือกล่าวถึงเพียงแค่เรื่อง คลาวด์ คอมพิวติ้ง, บิ๊กดาต้า, ไอโอที หรือเอไอ เพียงเท่านั้น แต่เป็นการมองถึงแนวโน้มการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีเพื่อปรับเปลี่ยนองค์กรโดยเน้นให้เกิดองค์กรอัจฉริยะภายใต้กระแสของดิจิทัล ทรานส์ฟอร์เมชั่น นั่นเอง