"อัลตราซาวด์ไร้สาย" ครั้งแรกของโรงเรียนแพทย์

"อัลตราซาวด์ไร้สาย" ครั้งแรกของโรงเรียนแพทย์

แพทย์ฯ รามาฯ เดินหน้านวัตกรรมการเรียนการสอนทางการแพทย์ นำเครื่องอัลตร้าซาวด์และเครื่องวัดความดันพกพาชนิดไร้สาย จำนวน 200 เครื่อง ยกระดับการเรียน นศพ.ปีที่ 2 และชั้นปีที่ 6 ช่วยวินิจฉัยภาวะฉุกเฉิน ลดการเสียชีวิตผู้ป่วย

วันนี้ (8 พ.ย.) คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล แถลงข่าว การนำนวัตกรรมการเรียนการสอนทางการแพทย์ : Ultrasound พกพาชนิดไร้สายและเครื่องวัดความดันโลหิตชนิดมือบีบ จำนวน 200 เครื่อง เครื่องละ 6 หมื่นบาท ซึ่งได้รับการสนับสนุนโดย บริษัท กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอป เมนท์ จำกัด (มหาชน) มูลค่ารวม 12 ล้านบาท ซึ่งถือเป็นครั้งแรกในโรงเรียนแพทย์ ที่นำเทคโนโลยีดังกล่าวมาใช้ในการเรียนการสอนทางการแพทย์แก่นักศึกษา เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการวินิจฉัยรักษาให้ทันท่วงที ณ อาคารเรียนและปฏิบัติการรวมด้านการแพทย์และโรงเรียนพยาบาลรามาธิบดี คณะแพทย์ศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล  

157320086529

ทั้งนี้ เครื่องตรวจภายในด้วยคลื่นความถี่สูง หรือ เครื่องอัลตร้าซาวด์ชนิดพกพา แบบไร้สาย (Wireless) สามารถเชื่อมต่อด้วยระบบ wifi กับ application ในโทรศัพท์มือถือ และ Tablet ทั้งระบบ IOS และ Android สามารถตรวจได้ทั้งช่องท้อง หัวใจ หลอดเลือด และมีระบบบันทึกข้อมูลคนไข้ลงในโทรศัพท์ หรือ Tablet ขณะที่เครื่องวัดความดันโลหิตชนิดมือบีบ ซึ่งมาคู่กัน สามารถเชื่อมต่อด้วยระบบ wifi กับ application ในโทรศัพท์มือถือ Tablet ทั้งระบบ IOS และ Android ได้เช่นเดียวกัน เพิ่มขีดความสามารถในการช่วยเหลือผู้ป่วยได้อย่างรวดเร็วยิ่งขึ้น

ศ.นพ.ปิยะมิตร ศรีธรา คณบดีคณะแพทย์ศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวถึงความสำคัญของการนำเทคโนโลยีมาใช้ในการเรียนการสอนนักศึกษาแพทย์ในยุคดิจิทัลว่า พันธกิจหลักที่สำคัญของ คณะแพทย์ฯ รามาฯ คือ การผลิตบุคลากรทางการแพทย์ออกไปรับใช้ประชาชน ปัจจุบันผลิตแพทยศาสตร์บัณฑิตกว่า 5,000 คน แพทย์ผู้เชี่ยวชาญ 4,000 คน พยาบาลราว 8,000 คน สิ่งสำคัญ คือ บุคลากรที่ผลิตออกไปต้องมีความทันสมัย ในยุค Disruptive ของเทคโนโลยีที่ก้าวกระโดด การใช้พื้นฐานการตรวจร่างกาย คือ การดู คลำ เคาะ ฟัง อาจจะไม่เพียงพอ เทคโนโลยีอัลตร้าซาวด์จึงก้าวเข้ามาเพื่อให้การตรวจร่างกายมีความแม่นยำมากขึ้น ประกอบกับเทคโนโลยีเหล่านี้เริ่มมีราคาถูกลง เพียงพอต่อการเป็นอุปกรณ์พกติดตัวได้

157320086683

“อย่างไรก็ตาม ไม่ได้หมายถึงว่ามีเครื่องมือนี่แล้วเราจะไม่ให้นักศึกษาแพทย์ตรวจร่างกายแบบพื้นฐานโดยการดู คลำ เคาะ ฟัง เพราะพื้นฐานการตรวจร่างกายยังเป็นเรื่องสำคัญ แต่เทคโนโลยีใหม่จะช่วยให้มีความแม่นยำ และผิดพลาดน้อย เครื่องมือเหล่านี้ จะมีประโยชน์มากในกรณีการเกิดภาวะฉุกเฉิน รวมถึงด้านรังสีวิทยา” ศ.นพ.ปิยะมิตร กล่าว

ด้าน รศ.นพ.สิทธิ์ พงษ์กิจการุณ หัวหน้าภาควิชารังสีวิทยา คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวถึงการใช้อัลตร้าซาวด์เพื่อการเรียนรู้ในชั้นปรีคลินิกว่า ที่ผ่านมาแพทยศาสตร์บัณฑิต มีการสอนใช้เครื่องอัลตร้าซาวด์ในชั้นปีที่ 4 – 6 แต่เป็นเครื่องที่ใหญ่และมีราคาแพง การเรียนการสอนค่อนข้างลำบากเนื่องจากต้องเรียนเป็นกลุ่มใหญ่ ขณะที่การเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยี ทำให้เครื่องอัลตร้าซาวด์ขนาดเล็ก ไร้สาย และพกพาได้ สามารถนำมาใช้ในการเรียนการสอนในระดับบุคคลมากขึ้น

157320086577

โดยเครื่องอัลตร้าซาวด์พกพา จะนำมาใช้ในชั้นปีที่ 2 และ 6 เนื่องจากนักศึกษาชั้นปีที่ 2 เป็นกลุ่มที่ต้องเริ่มเรียนการใช้เครื่องอัลตร้าซาวด์ เน้นเรียนในเรื่องของกายวิภาค สรีรวิทยา และพยาธิสภาพ ผ่าอาจารย์ใหญ่ ดังนั้น เราจึงหวังว่าเขาจะใช้การเรียนพื้นฐานมาผสมผสานกับเทคโนโลยีใหม่ ทำให้เห็นภาพจากทั้งที่เป็นอาจารย์ใหญ่และของจริง และอีกกลุ่ม คือ นักศึกษาปีที่ 6 ซึ่งเป็นกลุ่มที่มีการเรียนในห้องฉุกเฉิน เขาจะได้เอาไปใช้กับคนไข้จริงนอกจากตรวจร่างกายอย่างอื่น ได้เรียนรู้ มีทักษะมากขึ้น

“เทคโนโลยีดังกล่าว ถือเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญด้านการแพทย์ นักศึกษาจะมีความคิดสร้างสรรค์ ได้เรียนรู้จากการใช้เทคโนโลยีใหม่ และกระตุ้นให้เกิดการสร้างนวัตกรรมใหม่ รวมถึงส่งเสริมการเรียนรู้ เข้าใจ และเชื่อมโยงจากชั้นปรีคลินิก ไปสู่ชั้นคลินิก ทำให้พวกเขามีความต้องการหาความรู้เพิ่มเติมเพื่อเป็นแพทย์ผู้เชี่ยวชาญต่อไปในอนาคต” รศ.นพ.สิทธิ์ กล่าว

157320086545

ขณะที่ในบริบทของแพทย์ฉุกเฉิน คนไข้ที่เข้ามาห้องฉุกเฉินซึ่งเรียกว่าอยู่ภาวะเร่งด่วน มีอันตรายต่อชีวิต ความเร่งด่วนในการวินิจฉัยจึงเป็นสิ่งสำคัญ ดังนั้น แพทย์ในห้องฉุกเฉินจึงต้องเก่งและมีความแม่นยำ

157320086630

ดร.นพ.ไชยพร ยุกเซ็น หัวหน้าภาควิชาเวชศาสตร์ฉุกเฉิน คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า ปัจจุบัน การแพทย์ฉุกเฉินพัฒนาไปมากขึ้นพอสมควร แต่สิ่งสำคัญคือการที่คนไข้มีโอกาสมาถึงห้องฉุกเฉินอย่างปลอดภัย การเลือกส่งคนไข้ไปยังโรงพยาบาลมีความจำเป็น เช่น คนไข้อุบัติเหตุบนท้องถนน ใช้เครื่องอัลตร้าซาวด์แบบพกพาแล้วพบว่าคนไข้เลือดออกในช่องท้อง โรงพยาบาลที่คุณจะเลือกส่งต้องเป็นโรงพยาบาลที่สามารถผ่าตัดได้อย่างทันท่วงที ทำให้ทีมแพทย์มีความมั่นใจ และกล้าตัดสินใจในการวินิจฉัยมากขึ้น ถือเป็นจุดเปลี่ยนและเป็นผู้นำให้สถาบันการแพทย์อื่นๆ ได้หันกลับมาใช้ และพัฒนาการแพทย์ฉุกเฉินทั้งในห้องและนอกห้องฉุกเฉิน ก่อนถึงโรงพยาบาลให้พัฒนามากขึ้น

157320086581

ด้าน นศพ.พรลภัส เชนวรรณกิจ นักศึกษาแพทย์ ชั้นปีที่ 6 กล่าวถึงผลลัพธ์จากประสบการณ์การใช้เครื่องอัลตร้าซาวด์พกพาชนิดไร้สายว่า จากที่ได้ทดลองใช้ในระยะเวลา 1 เดือนในแผนกฉุกเฉิน เครื่องดังกล่าวสามารถช่วยให้สะดวกสบายและรวดเร็วมากขึ้น จากในตอนแรกหากจะใช้เครื่องอัลตร้าซาวด์ต้องนำตัวคนไข้เคลื่อนย้ายไปรอคิว แต่ตอนนี้สามารถทำได้เลยในห้องการซักประวัติ ภาวะบางอย่างเป็นภาวะฉุกเฉินที่รอไม่ได้ เช่น ผู้ป่วยที่ประสบอุบัติเหตุ มีการสงสัยว่าอาจจะมีภาวะปอดรั้ว หรือปอดแตก หรือ มีภาวะน้ำในเยื่อหุ้มหัวใจ การที่จะวินิจฉัยได้เร็ว ส่งผลมากกับการช่วยชีวิต การที่ร่นระยะเวลาตรงนี้ ช่วยให้วินิจฉัยได้เร็ว นำไปสู่การรักษา ทำหัตถการในการช่วยชีวิตคนไข้อย่างทันท่วงที

157320086555

นายสารัชถ์ รัตนาวะดี ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอป เมนท์ จำกัด (มหาชน) กล่าวเพิ่มเติมว่า พันธกิจในด้านการช่วยเหลือสังคมของทางบริษัทมี 2 ด้านหลัก คือ ด้านการศึกษา และ ด้านเครื่องมือแพทย์ ที่ผ่านมาได้มีการบริจาคเครื่องมือแพทย์ให้แก่โรงพยาบาลของรัฐหลายแห่งด้วยกัน สำหรับเครื่องอัลตร้าซาวด์แบบพกพา ถือเป็นการผสมผสานระหว่างด้านการศึกษาและเครื่องมือแพทย์ ทำให้นักศึกษาแพทย์รุ่นใหม่ได้ฝึก และมีความชำนาญตั้งแต่ตอนเรียน ความชำนาญนี้จะช่วยพัฒนารุ่นต่อๆ ไป และช่วยรักษาคนไข้ฉุกเฉินให้มีชีวิตรอดมากขึ้นได้