เศรษฐกิจ
สศช. ผวาประเทศไทย”ล้าหลัง”
สศช.ชี้ขีดแข่งขันไทยร่วงเหตุสอบตกการพัฒนานวัตกรรม ทำประเทศพัฒนาแต่ไม่ทันการเปลี่ยนแปลง แนะเร่งสร้างความร่วมมอภาคเอกชน พร้อมพัฒนาคนผ่านระบบการศึกษา
รายงานข่าวจากที่ประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.)แจ้งว่าสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.)ได้รายงาน สรุปผลการจัดอันดับความสามารถในการแข่งขันของประเทศไทยโดย WEF ปี 2019 – 2020ให้
ครม.รับทราบ
โดยสศช.เสนอเรื่อง สรุปผลการจัดอันดับความสามารถในการแข่งขันของประเทศไทย ของสภาเศรษฐกิจโลก (World Economic Forum : WEF) ซึ่งได้ประกาศผลการจัดอันดับความสามารถในการแข่งขันของประเทศต่าง ๆ ประจำปี 2562 เมื่อวันที่ 9 ต.ค. 2562 โดยมีประเด็นที่สำคัญสรุปได้ ดังนี้
1. ประเทศที่ครองสามอันดับแรกยังคงเป็นกลุ่มเดิม ในขณะที่อันดับของประเทศไทยลดลง 2 อันดับ แม้ว่าจะมีคะแนนดีขึ้น 0.6 คะแนน
ผลการจัดอันดับในภาพรวมปี 2562 ปรากฏว่าสิงคโปร์ได้ขยับขึ้นมาเป็นอันดับ 1 จากทั้งหมด 141 ประเทศ ตามด้วยสหรัฐอเมริกาและฮ่องกงตามลำดับ ในขณะที่ประเทศไทยมีอันดับลดลง 2 อันดับ จากอันดับที่ 38 ในปี 2561 เป็น 40 ในปี 2562 แม้จะทำคะแนนได้ดีขึ้นเล็กน้อย จาก 67.5 เป็น 68.1 แสดงให้เห็นว่าประเทศไทยมีความก้าวหน้าในภาพรวมดีขึ้นเล็กน้อย แต่การเปลี่ยนแปลงในรอบปีที่ผ่านมายังไม่ชัดเจนและรวดเร็วมากพอเมื่อเปรียบเทียบกับประเทศอื่น ๆ ที่อยู่ในระดับใกล้เคียงกัน
2.จุดเด่นและประเด็นที่ต้องพัฒนาเพิ่มเติมจากผลการจัดอันดับโดยWEF
2.1 ฐานขีดความสามารถในการแข่งขันของไทยขึ้นอยู่กับ 3 ปัจจัยเด่น ได้แก่1) สภาพแวดล้อมเศรษฐกิจมหภาคที่มีเสถียรภาพ ซึ่งได้คะแนน 90 จาก 100 คะแนน เนื่องจากอัตราเงินเฟ้อที่ต่ำและการบริหารจัดการหนี้ที่เสถียร 2) ภาคการเงินที่เข้มแข็ง ซึ่งได้คะแนน 85.1 จาก 100 และอยู่ในอันดับที่ 16 ของโลก และ 3) กรอบกฎหมายและกฎระเบียบที่เอื้อให้ผู้ประกอบการสามารถเริ่มต้นและยุติการประกอบธุรกิจได้โดยง่ายและส่งผลให้ธุรกิจมีพลวัตที่สูง ซึ่งได้คะแนน 72.0 จาก 100 คะแนน และอยู่ในอันดับที่ 21
2.2 ด้านที่ได้มีการปรับปรุงและมีผลที่ชัดเจนมากขึ้น ได้แก่ การนำเทคโนโลยีโทรคมนาคมสารสนเทศมาใช้ (ICT adoption) ซึ่งมีคะแนนดีขึ้นจากการเพิ่มขึ้นของจำนวนผู้ใช้อินเทอร์เน็ตและความครอบคลุมของอินเทอร์เน็ตบรอดแบนด์ทั้งในรูปแบบไม่เคลื่อนที่และเคลื่อนที่ (Fixed and mobile) ส่งผลให้อันดับรวมด้านนี้ดีขึ้น 2 อันดับ (จากอันดับที่ 64 เป็นอันดับที่ 62 และมีคะแนน 60.1 จาก 100 คะแนน) ในขณะที่ความโปร่งใสของงบประมาณ (Budget Transparency) มีอันดับดีขึ้น 25 อันดับ สำหรับด้านอื่นที่ปรับตัวดีขึ้น ได้แก่ ภาระกฎระเบียบของภาครัฐและประสิทธิภาพของบริการรถไฟ
2.3 ด้านที่ต้องเร่งพัฒนาให้เกิดผลเป็นรูปธรรม ได้แก่ ความสามารถในการสร้างนวัตกรรม (Innovation capability) ซึ่งเป็นด้านที่ไทยอยู่ห่างจากบรรทัดฐานโลก (Frontier) มากที่สุด โดยได้คะแนน 43.9 จาก 100 คะแนน
ดังนั้น ประเทศไทยจึงควรให้ความสำคัญกับการสร้างขีดความสามารถในด้านนี้ควบคู่ไปกับปรับปรุงปัจจัยสนับสนุนด้านอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อกระตุ้นให้เกิดถ่ายทอดเทคโนโลยี (spillovers) ระหว่างบริษัทต่างชาติและผู้ประกอบการไทย รวมทั้งความร่วมมือระหว่างบริษัทที่มีความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีสูงกับบริษัทอื่น ๆ ในประเทศ นอกจากนี้ ภาครัฐควรกระตุ้นให้ผู้ประกอบการแสวงหาการพัฒนาอย่างก้าวกระโดดเพื่อให้เกิด Startup Unicorn ของเอเชียสัญชาติไทย ซึ่งการจะบรรลุเป้าหมายนี้ได้นั้น จะต้องอาศัยการลงทุนจากภาครัฐและเอกชนในด้านการวิจัยและพัฒนาในระยะยาว
เนื่องจากตัวชี้วัดในด้านดังกล่าวในปี้นี้มีคะแนนเพียง 33.6 จาก 100 คะแนน ขณะที่ความร่วมมือในการพัฒนานวัตกรรมระหว่างบริษัทและมหาวิทยาลัย มีคะแนน 52.1 จาก 100 คะแนน
ดังนั้น การพัฒนาจำเป็นต้องมีแนวทางที่เอื้อให้เกิดความร่วมมือในการพัฒนานวัตกรรมระหว่างบริษัทและมหาวิทยาลัย เพื่อยกระดับความสามารถด้านนวัตกรรมของไทยให้เด่นชัดและยั่งยืนขึ้น
2.4 ด้านอื่น ๆ ที่ควรเฝ้าระวังและต้องเร่งปรับปรุงอย่างต่อเนื่อง ได้แก่ ด้านทุนทางสังคม (Social capital) ซึ่ง WEF ได้ประเมินจากรากฐานความร่วมมือกันทางสังคมที่ส่งผลต่อการพัฒนาทั้งทางเศรษฐกิจ สังคม และการเมืองเพื่อบรรลุเป้าหมายร่วมกัน รวมทั้งด้านการศึกษา ที่ต้องปรับปรุงด้านปีการศึกษาเฉลี่ยและทักษะแรงงานที่จบการศึกษา นอกจากนี้ การแข่งขันในภาคบริการก็ยังต้องเร่งปรับปรุงเพื่อให้มีความก้าวหน้าที่ชัดมากขึ้นเช่นกัน
3.ข้อสังเกตจากข้อมูลเบื้องต้นของรายงานผลการจัดอันดับฯ โดยWEF
3.1 การจัดอันดับของ WEF ในปีปัจจุบันได้เพิ่มตัวชี้วัดที่สะท้อนความน่าเชื่อถือของภาครัฐในด้านเสถียรภาพของนโยบาย ความสามารถในการปรับตัว และความใส่ใจต่อสิ่งแวดล้อมของภาครัฐมากถึง 7 ตัวชี้วัด (ตัวชี้วัดที่ 1.20 – 1.26) ซึ่งประเทศไทยมีคะแนนและอันดับอยู่ในระดับปานกลาง กอปรกับการที่ยังไม่เห็นพัฒนาการในเชิงบวกที่ชัดเจนของตัวชี้วัดอื่น ๆ ที่อยู่ในกลุ่ม (Pillar) เดียวกัน ส่งผลให้ด้านกรอบบริหารเชิงสถาบัน (Institution) ของประเทศไทยตกลง 7 อันดับ จากอันดับที่ 60 เป็น 67
3.2 แม้ในด้านคะแนนจะเห็นพัฒนาการในหลาย ๆ ด้าน แต่อันดับที่ลดลงสะท้อนว่าการพัฒนาของประเทศไทยอาจยังไม่เร็วพอที่จะก้าวทันการเปลี่ยนแปลง ดังนั้น รัฐบาลควรให้ความสำคัญและเร่งรัดการแก้ปัญหาให้เกิดผลสำเร็จที่ชัดเจน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในด้านที่เป็นจุดอ่อนมาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งเป็นปัญหาในเชิงโครงสร้างที่สั่งสมมายาวนานและการแก้ปัญหาต้องใช้เวลาในการดำเนินการหรือปฏิรูป โดยต้องมีการติดตามประเมินผลอย่างมีประสิทธิภาพและต่อเนื่อง นอกจากนี้ ในการมีคะแนนเพิ่มและอันดับที่ดีขึ้นในการจัดอันดับในระยะต่อไปจะต้องมีผลลัพธ์ที่ชัดเจนจากการดำเนินการของภาครัฐ เช่น
1) เร่งพัฒนาระบบการศึกษาให้เข้าถึงง่ายขึ้นเพื่อเพิ่มจำนวนปีการศึกษาของคนไทย รวมถึงเร่งพัฒนาด้านคุณภาพการเรียนการสอนเพื่อให้นักศึกษาที่จบมามีทักษะที่ตรงกับความต้องการของตลาด และมีทักษะการคิดเชิงวิพากษ์มากขึ้น
2) กระตุ้นให้หน่วยงานรับผิดชอบด้านโครงสร้างพื้นฐานที่เป็นจุดอ่อน เร่งดำเนินแผนงาน/โครงการ ควบคู่กับการจัดทำข้อมูลรายงานความก้าวหน้าให้เกิดผลอย่างเป็นรูปธรรมโดยเร็ว เช่น ด้านปัญหาความเสี่ยงน้ำดื่มที่ไม่สะอาด ซึ่งที่ผ่านมาประเทศไทยอยู่ที่อันดับต่ำมาก และในปีนี้อันดับลดลงอีก 2 อันดับ
3) เฝ้าระวังการครอบงำตลาด ภาษีนำเข้า – ส่งออกที่มีอัตราสูงและซับซ้อน รวมถึงมาตรการกีดกันทางการค้าที่ไม่ใช่ภาษีที่มีผลกระทบสูงต่อภาคธุรกิจ ซึ่งเป็นอีกกลุ่มตัวชี้วัดที่ยังเป็นจุดด้อยของประเทศไทย
4.ข้อพิจารณาเพื่อสั่งการ
4.1 ติดตามการขับเคลื่อนการยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันอย่างมีประสิทธิภาพและต่อเนื่อง ทั้งในกลุ่มที่อันดับดีอยู่แล้วให้สามารถรักษาอันดับไว้ให้ได้ต่อเนื่อง และในกลุ่มที่มีความสามารถในการแข่งขันยังต่ำและ/หรือมีแนวโน้มแย่ลง เพื่อให้การดำเนินนโยบาย/แผนงาน/โครงการภาครัฐที่ส่งผลต่อกลุ่มตัวชี้วัดเหล่านี้มีประสิทธิผลชัดเจนมากขึ้น โดยให้มีการรายงานความก้าวหน้าการดำเนินนโยบาย/แผนงาน/โครงการสำคัญของรัฐบาลเป็นระยะ ๆ
4.2 ขับเคลื่อนการลงทุนภาครัฐในโครงสร้างพื้นฐานทั้งเชิงกายภาพและดิจิทัล ให้ดำเนินไปได้ตามเป้าหมายและสร้างความเชื่อมั่นต่อนักลงทุนภาคเอกชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการลงทุนเพื่อเตรียมความพร้อมในเขตพัฒนาพิเศษในพื้นที่ และระบบโลจิสติกส์ด้านการขนส่งในทุกรูปแบบ รวมถึงการเตรียมความพร้อมด้านทักษะกำลังคน และระบบสาธารณสุขเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิต
4.3 ให้หน่วยงานภาครัฐเร่งพัฒนาระบบข้อมูลให้มีประสิทธิภาพ ทันสมัยควบคู่ไปกับการสร้างความรู้ความเข้าใจแก่ภาคธุรกิจและบุคคลทั่วไปอย่างต่อเนื่องโดยใช้สื่อออนไลน์มากขึ้น เพื่อให้ทุกภาคส่วนมีความเข้าใจที่ถูกต้องทันต่อเหตุการณ์และความคืบหน้าในการพัฒนาประเทศและการเปลี่ยนแปลงกฎระเบียบต่าง ๆ รวมทั้งมีโอกาสสนับสนุนการพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ
5.แนวทางการดำเนินงานในระยะต่อไป
5.1 สศช. ได้จัดตั้งคณะอนุกรรมการด้านการสร้างขีดความสามารถในการแข่งขัน เพื่อเป็นกลไกหลักในการขับเคลื่อนนโยบาย ยุทธศาสตร์ และแผนงาน/โครงการเพื่อการพัฒนาอันดับความสามารถในการแข่งขัน
5.2 สศช. ได้ริเริ่มให้มีการร่วมมือกับ WEF เพื่อดำเนินการขับเคลื่อนการยกระดับความสามารถด้านนวัตกรรมของประเทศไทย (Accelerator Model) ซึ่งปัจจุบันอยู่ระหว่างการหารือในรายละเอียด
“สศช. ได้กำหนดให้มีการจัดประชุมหน่วยงานเจ้าภาพตัวชี้วัดที่เกี่ยวข้องในกลางเดือนพ.ย.นี้เพื่อรวบรวมและกำกับติดตาม แผนงาน/โครงการที่จะช่วยพัฒนาอันดับตัวชี้วัด และรายงานผลการดำเนินงานเพื่อทราบตามขั้นตอนต่อไป”
การที่ครม.ได้รีบทราบถึงจุดแข็งจุดอ่อนของประเทศตามที่ สศช.วิเคราะห์มาให้ดังนี้แล้วก็หวังว่า ปีหน้าหรือปีต่อๆไป จะไมผ่านเลยไปอย่างไร้การแก้ไขปรับปรุง ซึ่งทั้งหมดไม่ใช่เพื่อWEFจะจัดอันดับไทยให้ดีขึ้น แต่หมายถึงความเป็นอยู่และสถานะของประเทศทั้งหมดต้องดีขึ้นด้วย