กสศ.ผนึก อบจ.ยะลา คืนเด็กสู่โรงเรียน

กสศ.ผนึก อบจ.ยะลา คืนเด็กสู่โรงเรียน

กสศ.จับมือ 20 จังหวัดคืนเด็กนอกระบบกลับสู่การศึกษาที่ยืดหยุ่น   ป้องกันหลุดซ้ำ ปี 62 จะช่วยเด็กได้ 5,000 คน  ระดมทีมสหวิชาชีพวางแผนช่วยเหลือฟื้นฟูรายกรณี  ผนึก อบจ.ยะลาจับมือ รร.ราชประชานุเคราะห์ 41 ส่งเด็กคืนสู่โรงเรียนรับเปิดเทอมภาคเรียนที่ 2  

นพ.สุภกร  บัวสาย ผู้จัดการกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา(กสศ.) กล่าวว่า  กสศ. ได้ดำเนินการโครงการตัวแบบการดูแลเด็กเยาวชนที่หลุดออกจากระบบการศึกษาอายุระหว่าง 3-21 ปี ใน 20 จังหวัด 115 อำเภอ โดยมีเป้าหมายในการสำรวจค้นหาทั้งหมด 218,895 คน  

ล่าสุดสำรวจพบเจอตัวเด็กและเก็บข้อมูลสภาพปัญหาแล้ว  60,941 คน เบื้องต้นด้วยงบประมาณจำกัดในปี 2562  กสศ.จะช่วยเหลือได้ไม่น้อยกว่า 5,000 คน หรือประมาณ 2.28% จาก218,895 คน โดยประสานความร่วมมือกับหน่วยงานและภาคีในพื้นที่ในการนำเข้าสู่ระบบการศึกษาหรือการพัฒนาทักษะอาชีพ

โดยมีการทำงาน 3 ด้าน สำคัญ คือ 1.เดินหน้าด้วยกลไกจังหวัดที่มีทั้งความร่วมมือจาก องค์การบริหารส่วนจังหวัด สำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย (กศน.) สำนักงานศึกษาธิการจังหวัดพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัด  สาธารณสุขจังหวัด  ท้องถิ่นจังหวัด สมัชชาการศึกษาจังหวัด เครือข่ายประชาสังคม มูลนิธิ สมาคมต่างๆ  

2. ระบบสารสนเทศที่เชื่อมโยงระหว่างหน่วยงานในพื้นที่กับส่วนกลาง ซึ่งจะเป็นฐานข้อมูลเด็กนอกระบบรายบุคคล

3.ตัวแบบมาตรการความช่วยเหลือเด็กนอกระบบ ที่มีการให้ความช่วยเหลือดูแลอย่างต่อเนื่อง มีแผนดูแลรายกรณี เพื่อป้องกันไม่ให้เด็กหลุดออกจากระบบการศึกษาซ้ำอีก รวมถึงเงินช่วยเหลือเบื้องต้น


“ประเทศไทยมีกลุ่มเด็กและเยาวชนด้อยโอกาสนอกระบบการศึกษา ราว 670,000 คน ซึ่งระบบการศึกษาที่ยืดหยุ่นจะเป็นคำตอบของปัญหาเด็กนอกระบบ เพราะหากส่งเด็กกลุ่มนี้กลับเข้าระบบการศึกษาแบบเดิม โดยโรงเรียนไม่เปลี่ยนแปลง ก็จะไม่ได้ผล  เด็กกลุ่มนี้จะหลุดออกจากระบบอีก การดำเนินงานของกสศ.และ 20 จังหวัด มุ่งเน้นวางแผนการช่วยเหลือรายกรณี เด็กแต่ละคนมีปัญหาต่างกัน ควรแก้ไขด้วยวิธีการอย่างไร"นพ.สุภกร กล่าว

รวมถึงการทำงานร่วมกับโรงเรียนที่มีความพร้อมในการปรับวิธีการเรียนการสอน ปรับเวลาการเรียนการสอน ให้มีความยืดหยุ่นเหมาะกับสภาพปัญหาของเด็กกลุ่มนี้ด้วย ขณะที่เด็กนอกระบบบางกลุ่มอาจไม่สามารถกลับเข้าสู่ระบบการศึกษาได้ อาจมีทางเลือกอื่นที่เหมาะสมเช่น การสามารถเก็บสะสมชั่วโมงการฝึกอาชีพเทียบโอนเป็นวุฒิการศึกษาได้

อย่างไรก็ดีการทำงานของกลไกจังหวัดทั้ง 20 จังหวัด จะเกิดทั้งตัวแบบการดูแลช่วยเหลือเด็กนอกระบบรายกรณี และโรงเรียนนำร่องที่มีระบบการเรียนการสอนที่ยืดหยุ่นพร้อมไปกับระบบการดูแลช่วยเหลือไม่ให้เด็กกลุ่มนี้หลุดออกนอกระบบซ้ำอีก

..รุ่งกานต์ ศิริรัตน์เรืองสุข รองปลัดองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) ยะลา  กล่าวว่า ในพื้นที่จังหวัดยะลาจากการสำรวจพบว่าเด็กออกนอกระบบการศึกษาเพราะความยากจน พ่อแม่มีลูกเยอะทำให้ไม่สามารถส่งลูกเรียนได้ครบทุกคน บางครั้งพี่คนโตต้องออกมาช่วยเลี้ยงน้องหรือดูแลงานบ้าน  ล่าสุดได้ติดตาม คัดกรองเด็กและเยาวชนนอกระบบช่วงอายุ 3-21 ปี ในพื้นที่นำร่อง 3 อำเภอ ได้แก่ อำเภอรามัน อำเภอยะหา อำเภอบันนังสตา

โดยอันดับแรกทีมสหวิชาชีพจะวิเคราะห์ว่าเด็กแต่ละคนต้องได้รับการช่วยเหลือด้านไหน เช่น บางคนต้องการเข้าระบบการศึกษาเต็มรูปแบบ ขณะที่บางคนด้วยบริบทของครอบครัวเด็กจะเหมาะกับการส่งเสริมอาชีพมากกว่า จะพิจารณาเป็นรายกรณีไปหรือบางคน

พบว่าเด็กมีปัญหาด้านสุขภาพ เราก็จะให้ความช่วยเหลือในด้านการดูแลรักษาก่อน โดยส่งต่อให้หน่วยงานสาธารณสุขที่มีความชำนาญเฉพาะทาง จากนั้นเมื่อเด็กมีสุขภาพดีขึ้น การจัดการศึกษาที่เหมาะสมจะเป็นเรื่องที่ดำเนินการเป็นลำดับถัดมา

"ปัญหาเรื่องเด็กนอกระบบเป็นปัญหาสำคัญ เพราะเด็กนอกระบบการศึกษาส่วนใหญ่จะไม่ได้รับการดูแลจนอาจมีพฤติกรรมที่ทำร้ายตัวเอง ทำร้ายสังคม การทำให้เด็กเข้ามาสู่ระบบการศึกษาจึงทำให้เขามีเกราะป้องกันอยู่ในทางที่ถูกที่ควร และป้องกันไม่ให้เด็กหลุดออกนอกระบบซ้ำ"รองปลัด อบจ.ยะลา กล่าว

ล่าสุด ในช่วงเปิดภาคเรียนที่2 นี้ กสศ.และอบจ.ยะลา ได้เริ่มส่งเด็กนอกระบบกลับเข้าโรงเรียนได้บางกรณีแล้ว โดยได้มีความร่วมมือกับโรงเรียนราชประชานุเคราะห์ 41 ซึ่งเป็นโรงเรียนที่มีการจัดการเรียนการสอนที่มีความยืดหยุ่นและมีระบบที่พร้อมเยียวยาช่วยเหลือเด็กๆกลุ่มนี้ให้กลับมาเรียนได้อย่างมีความสุข