ปฏิรูปห้องฉุกเฉินรพ.รัฐ แยกเป็น 2 ห้อง
บอร์ดบัตรทอง เห็นชอบ "ปฏิรูปห้องฉุกเฉิน" แยกเป็น 2 ห้อง ฉุกเฉินวิกฤติ-ฉุกเฉินไม่รุนแรง พร้อมเพิ่มค่าบริการรายการใหม่ ชดเชยนอกเวลากรณีผู้ป่วยที่มีความจำเป็นอัตรา150 บาทต่อครั้ง
เมื่อวันที่ 13 พ.ย. ที่สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติมีการประชุมคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บอร์ด สปสช.) โดยมีนายอนุทินชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรมว.สาธารณสุขในฐานะประธานคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เป็นประธานการประชุม ซึ่งที่ประชุมมีการพิจารณาแนวทางการปฏิรูปห้องฉุกเฉินในรพ.สังกัดกระทรวงสาธารณสุข โดยนายอนุทิน กล่าวว่าที่ประชุมมติรับในหลักการโครงการนำร่องแนวทางปฏิรูปห้องฉุกเฉินในรพ.สังกัดกระทรวง 21แห่ง เริ่มวันที่ 1 ธ.ค. และตั้งเป้าขยายเป็น 34 แห่งภายใน 1 ปี ทั้งนี้หลักการเบื้องต้น จะมีการแยกห้องฉุกเฉินออกเป็น 2 ห้องคือ 1. ห้องฉุกเฉินคุณภาพ สำหรับผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤติสีแดง สีเหลือง 2. ห้องฉุกเฉินไม่รุนแรง สำหรับผู้ป่วยกลุ่มอาการสีเขียว และเหตุสมควรอื่นกรณีเจ็บป่วยทั่วไปที่เป็นความสะดวกและความจำเป็นของประชาชน โดยตั้งเป้านำร่องปี 2563จำนวน 21 แห่ง และตั้งเป้าขยายให้ได้ 34 แห่ง ทั่วประเทศ เริ่มตั้งแต่วันที่1 ธ.ค.2562 เป็นต้นไป ภายใต้ความพร้อมของสถานพยาบาล
นาอนุทิน กล่าวอีกว่า บอร์ดยังได้เห็นชอบเพิ่มค่าบริการสาธารณสุขนอกเวลาราชการในกรณีผู้ป่วยฉุกเฉินไม่รุนแรงและผู้ป่วยที่มีความจำเป็นต้องรับบริการนอกเวลาราชการเป็นรายการบริการใหม่ โดยกำหนดอัตราชดเชยค่าบริการ 150 บาทต่อครั้ง ซึ่งในปีงบประมาณ 2563 อีก 10 เดือนต่อจากนี้ คาดว่าจะมีการรับบริการประมาณ 1.05 ล้านครั้ง หรือร้อยละ 10 ของการรับบริการผู้ป่วยนอก ใช้งบประมาณไม่เกิน 157.50 ล้านบาท โดย สปสช.จะแปรญัตติเพื่อขอสนับสนุนงบประมาณเพิ่มเติมต่อไป โดยในระหว่างนี้จะเป็นการใช้เงินกองทุนรายการรายได้สูง (ต่ำ) กว่าค่าใช้จ่ายสะสมในการดำเนินการ ซึ่งข้อดีคือช่วยลดความแออัดของห้องฉุกเฉิน ช่วยเพิ่มค่าตอบแทนให้กับบุคลากรที่ปฏิบัติงานในห้องฉุกเฉินแต่ข้อพึงระวังคือ อาจไม่เป็นไปตามหลักการระบบปฐมภูมิเป็น เพราะประชาชนไปใช้บริการนอกเวลารพ.ขนาดใหญ่ มากขึ้น ภาระการจัดบริการนอกเวลาราชการอาจจะเพิ่มขึ้น ภาระงบประมาณภาครัฐเพิ่มขึ้น
“ต้องยอมรับว่าปัจจุบันกระทรวงถูกบ่นเรื่องห้องฉุกเฉินมากตีกันก็ตีใน รพ. ดังนั้นหากการพัฒนา แก้ไข และทดลองในรพ. 34 แห่ง ซึ่งสิ่งที่ทำใหม่ๆไม่มีใครรู้ว่าถ้าทำออกมาแล้วจะดีหรือไม่ดี แต่ถ้าทำแล้วไม่เวิร์คผมก็พร้อมถอย เพราะงบฯที่ใช้ 150 กว่าล้านบาท ถ้าทำแล้วไม่ดีผมก็ไม่ยอมหรอก จากนี้จะมีการออกประกาศสปสช.เรื่องหลักเกณฑ์การจ่ายค่าบริการ สาธารณสุขนอกเวลาราชการกรณีผู้ป่วยฉุกเฉินไม่รุนแรงและเหตุสมควรอื่นกรณีเจ็บป่วยทั่วไปที่เป็นคสามสะดวกและจำเป็นของประชาชน”นายอนุทิน กล่าว
ด้าน นพ.การุณย์ คุณติรานนท์ รองเลขาธิการ สปสช. กล่าวว่า การจ่ายชดเชยค่าบริการสาธารณสุขนอกเวลาราชการในกรณีผู้ป่วยฉุกเฉินไม่รุนแรงและผู้ป่วยที่มีความจำเป็นต้องรับบริการนอกเวลาราชการนี้ จะเริ่มตั้งแต่วันที่ 1 ธันวาคม 2562 เป็นต้นไป โดยในปีงบประมาณ 2563 มีโรงพยาบาลร่วมนำร่องจ่าย 34 แห่ง ซึ่งผู้ป่วยฉุกเฉินไม่รุนแรงและผู้ป่วยที่มีความจำเป็นต้องรับบริการนอกเวลาราชการไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย ทั้งนี้ สปสช.มีนโยบายสนับสนุนการปฏิรูปห้องฉุกเฉินตามข้อเสนอของกระทรวงสาธารณสุขเพื่อให้ผู้ป่วยฉุกเฉินได้รับบริการที่มีคุณภาพมากขึ้น เพื่อให้ห้องฉุกเฉินเป็นพื้นที่ดูแลเฉพาะรับผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤตและผู้ป่วยเจ็บป่วยฉุกเฉินเร่งด่วนเท่านั้น ขณะเดียวกันเพิ่มความสะดวกให้กับผู้ป่วยฉุกเฉินไม่รุนแรงและผู้ป่วยที่มีความจำเป็นต้องรับบริการนอกเวลาราชการโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย นอกจากช่วยลดความแออัดในห้องฉุกเฉินแล้วยังลดความขัดแย้งระหว่างบุคลากรทางการแพทย์กับผู้ป่วยและญาติในความเห็นที่ไม่ตรงกันกรณีเจ็บป่วยฉุกเฉิน
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ก่อนจะมีมติรับหลักการในโครงการดังกล่าว ที่ประชุมมีการอภิปรายอย่างกว้างขวางโดยแสดงความเป็นห่วงในหลายเรื่องอาทิ นพ.สุรพงษ์ สืบวงศ์วงลี ที่ปรึกษารมว.สาธารณสุข ห่วงว่าความหวังที่จะเพิ่มค่าตอบแทนให้แพทย์ที่ทำงานในห้องฉุกเฉินอาจจะเป็นไปได้ยากเพราะก่อนหน้านี้สปสช.ก็เคยจ่ายให้แต่สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินทักท้วงว่าไม่สามารถจ่ายให้ได้ แต่เป็นหน้าที่ของสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ(สพฉ.) แต่พบว่าปีนี้สพฉ.ไม่มีการตั้งงบให้ แต่มีการตั้งงบฯ ปี 2564 ไว้เรื่องนี้เป็นเรื่องสำคัญ เพราะอาจทำให้มีปัญหาดึงแพทย์ฉุกเฉินออกนอกระบบมากขึ้น ส่วนคณะกรรมการคนอื่นๆได้เป็นห่วงเรื่องมาตรฐาน เรื่องการคัดแยกอาการต่างๆ เรื่องหลักเกณฑ์การจ่ายเงินดังนั้นจึงไม่อยากเร่งรีบในการเดินหน้าโครงการ แต่ควรพิจารณาอย่างรอบคอบเพราะหากเริ่มทำแล้วจะถอบหลังกลับได้ยาก หรือควรประเมินผลในระยะสั้นๆว่าควรดำเนินการต่อหรือไม่ เป็นต้น