พาณิชย์ สั่งจัดระเบียบตัวเทนลิขสิทธิ์
“วีระศักดิ์”สั่งกรมทรัพย์สินนทางปัญญาปรับปรุงแก้ไขระเบียบตัวแทนลิขสิทธิ์ พร้อมทั้งนำคิวอาร์โค้ทมาใช้ตรวจสอบบุคคลที่เป็นตัวแทนลิขสิทธิ์
นายวีรศักดิ์ หวังศุภกิจโกศล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า การคุ้มครองและการป้องปรามการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา เป็นเรื่องที่รัฐบาลให้ความสำคัญมาโดยตลอด โดยเฉพาะอย่างยิ่ง กรณีการกระทำละเมิดรายใหญ่หรือมีลักษณะเป็นขบวนการหรือเครือข่ายอาชญากรรม ไม่ว่าจะเป็นแหล่งผลิต แหล่งเก็บ แหล่งจำหน่าย จุดนำเข้าส่งออก ทั้งที่เป็นตลาดออนไลน์และออฟไลน์ จำเป็นต้องมีการบูรณาการในการทำงานของหน่วยงานบังคับใช้กฎหมายอย่างต่อเนื่องต่อไป ในขณะเดียวกัน ในฐานะที่กำกับดูแลกรมทรัพย์สินทางปัญญา ไม่ต้องการให้มีการล่อให้กระทำผิด และแสวงหาประโยชน์โดยมิชอบ หรือที่เรียกว่า “ตีกิน” จากความไม่รู้หรือความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ของประชาชน คนทำมาหากิน ซึ่งรวมทั้งเด็กและเยาวชน
ทั้งนี้ตนได้สั่งการให้กรมทรัพย์สินทางปัญญาได้ออกประกาศ เรื่อง การแจ้งข้อมูลตัวแทนดำเนินคดีละเมิดลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2554 และระเบียบกรมทรัพย์สินทางปัญญาว่าด้วยการแจ้งข้อมูลตัวแทนฯ เพื่อให้มีฐานข้อมูลเบื้องต้นเกี่ยวกับตัวแทนและการออกบัตรตัวแทนดำเนินคดีละเมิดลิขสิทธิ์ เพื่อใช้เป็นหลักฐานแสดงตัวตนของตัวแทนประกอบการพิจารณาของเจ้าหน้าที่ตำรวจ อย่างไรก็ดี ระเบียบดังกล่าวใช้มาเป็นเวลานาน เห็นควรพิจารณาปรับปรุงแก้ไขให้มีความทันสมัยยิ่งขึ้น เช่น การนำคิวอาร์โค้ทมาใช้ในการตรวจสอบการรับมอบอำนาจของตัวแทนลิขสิทธิ์ เป็นต้น ซึ่งกรมฯจะเร่งหารือกับหน่วยงานเกี่ยวข้องและนำมาใช้โดยเร็ว
นอกจากนี้ได้มอบหมายให้กรมทรัพย์สินทางปัญญาดำเนินการประชาสัมพันธ์และให้ความรู้แก่ประชาชน ผู้ค้า และผู้ประกอบการเพิ่มเติม เกี่ยวกับลิขสิทธิ์และทรัพย์สินทางปัญญาประเภทอื่น รวมทั้งแนวทางการปฏิบัติกรณีที่ถูกกล่าวหาว่าละเมิดลิขสิทธิ์ของผู้อื่น และกรณีที่เจ้าของสิทธิถูกละเมิด โดยใช้ช่องทางการสื่อสารที่หลากหลาย อาทิ จัดสัมมนาหรืออบรม จัดกิจกรรมรณรงค์ให้ความรู้เกี่ยวกับทรัพย์สินทางปัญญา จัดทำสื่อประชาสัมพันธ์ รวมทั้งอินโฟกราฟิก เกี่ยวกับกฎหมายและการบังคับใช้กฎหมายทรัพย์สินทางปัญญา เช่น คู่มือการใช้งานลิขสิทธิ์ที่เป็นธรรม และเผยแพร่ทางสื่อต่างๆ โดยเฉพาะสื่อออนไลน์ เช่น เว็บไซต์กรมฯ โซเชียลมีเดีย (เฟซบุ๊ก (Facebook), อินสตาแกรม (Instagram), ทวิตเตอร์ (Twitter) และยูทูบ (YouTube)) และเพื่อให้สามารถเข้าถึงชุมชนท้องถิ่น รวมทั้งผู้ค้าและผู้ประกอบการในแต่ละพื้นที่ ได้ให้กรมทรัพย์สินทางปัญญาประสานงานกับหน่วยงานในส่วนภูมิภาคในการประชาสัมพันธ์และให้ความรู้แก่ประชาชนด้วย เช่น สำนักงานพาณิชย์จังหวัด และกอ.รมน.จังหวัด ทั่วประเทศ
นายวีรศักดิ์ กล่าวว่า ในส่วนของประชาชน ผู้ค้า และผู้ประกอบการเอง รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ แนะนำให้ใช้ความระมัดระวังเพื่อหลีกเลี่ยงปัญหาการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา ตัวอย่างเช่น กรณีซื้อมาขายไป ควรพิจารณาว่าสินค้า ที่ตนจะรับมาขายเป็นสินค้าที่มีลิขสิทธิ์หรือเครื่องหมายการค้าถูกต้องหรือไม่ โดยในเบื้องต้นสามารถดูได้จากคุณภาพ ราคา และแหล่งที่มาของสินค้า กรณีรับจ้างผลิตต้องดูว่าคนที่ว่าจ้างมีเอกสารแสดงว่าได้รับอนุญาตจากเจ้าของลิขสิทธิ์หรือเครื่องหมายการค้าหรือไม่ หากผู้ขายหรือผู้ประกอบการมีข้อพิพาทด้านทรัพย์สินทางปัญญาเกิดขึ้น และคู่กรณียินยอมพร้อมใจกัน สามารถนำข้อพิพาทด้านทรัพย์สินทางปัญญาดังกล่าวมาไกล่เกลี่ยที่กรมทรัพย์สินทางปัญญา ซึ่งเป็นอีกทางเลือกหนึ่งของการระงับข้อพิพาท โดยไม่ต้องเสียเวลาดำเนินคดี
สำหรับการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ผู้บังคับใช้กฎหมาย รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ ได้รับทราบว่าสำนักงานตำรวจแห่งชาติได้กำชับแนวทางปฏิบัติของเจ้าหน้าที่ตำรวจแล้ว ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการตรวจสอบเอกสารหลักฐานที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งใบมอบอำนาจ ตลอดจนกำชับไม่ให้เข้าไปมีส่วนได้เสียในการตกลงยอมความ ประกอบกับการตรวจสอบจากสังคมในขณะนี้ เชื่อว่าปัญหานี้จะลดน้อยลง กระทรวงพาณิชย์ โดยกรมทรัพย์สินทางปัญญา จะสนับสนุนและปฏิบัติงานร่วมกับหน่วยงานบังคับใช้กฎหมายทุกหน่วยงานต่อไป รวมทั้งการจัดสัมมนาหรืออบรมเพื่อให้ความรู้เกี่ยวกับกฎหมายและการบังคับใช้กฎหมายทรัพย์สินทางปัญญา ทั้งนี้ เพื่อบรรลุเป้าหมายในการป้องปรามการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาอย่างมีประสิทธิภาพ ควบคู่ไปกับการรักษาความเป็นธรรมในสังคม