เปิดมิติใหม่ความสัมพันธ์ -หนุนการค้า 'ไทย-โปรตุเกส'
เปิดมิติใหม่ความสัมพันธ์ -หนุนการค้า “ไทย-โปรตุเกส” ฟรานซิสกู วาช ปาตตู เอกอัครราชทูตโปรตุเกส ประจำประเทศไทย เปิดเผยถึงสายใยที่สืบสานจากการค้าสมัยกรุงศรีอยุธยาต่อเนื่องถึงกรุงเทพฯ
ในบรรดาชาติตะวันตกชาวโปรตุเกสเป็นกลุ่มแรกที่เข้ามามีสัมพันธ์กับกรุงศรีอยุธยาตั้งแต่ปี 2054 และทำสนธิสัญญาทางการค้าและไมตรีกันในปี 2061 นับถึงวันนี้รวมเวลากว่า 500 ปี นานกว่าชาติอื่นใด และถึงวันนี้สายสัมพันธ์ยังคงสานต่ออย่างแข็งแกร่ง ฟรานซิสกู วาช ปาตตู เอกอัครราชทูตโปรตุเกส ประจำประเทศไทย เปิดเผยกับกรุงเทพธุรกิจถึงสายใยที่สืบสานจากการค้าสมัยกรุงศรีอยุธยาต่อเนื่องถึงกรุงเทพฯ
“สิ่งที่ทำให้เราใกล้ชิดและเป็นเพื่อนกันจนถึงทุกวันนี้ ก็เพราะเราไม่ได้ต้องการพิชิตประเทศไทย โปรตุเกสมาในฐานะพ่อค้า ช่วงแรกๆ นำปืนและปืนใหญ่มาขายทำให้กษัตริย์สยามทรงพลานุภาพเหนือเพื่อนบ้าน” ทูตวาช ปาตตู ย้อนถึงปฐมบทมิตรภาพที่มีรากฐานมาจากการค้า
หากมองความเป็นโปรตุเกสที่เป็นประเทศเล็กๆ ในยุโรปแต่เดินทางออกไปทั่วโลก สิ่งหนึ่งที่บุคคลในประวัติศาสตร์ทำคือการผสมผสาน เมื่อเข้ามายังสยามก็ปรับตัวเป็นส่วนหนึ่ง การแต่งงานระหว่างชาวโปรตุเกสกับไทยยิ่งทำให้ใกล้ชิดกันยิ่งขึ้น เห็นได้จากการมีหมู่บ้านโปรตุเกสในอยุธยา ในกรุงเทพฯ ก็มีชุมชนลูกหลานชาวโปรตุเกส 3 ชุมชน ที่วัดคอนเซ็ปชัญ โบสถ์กาลหว่าร์ และโบสถ์ซางตาครู้ส
จากพื้นฐานที่แข็งแกร่งอยู่แล้วได้รับการต่อยอด ทูตวาช ปาตตู เผยว่า 5 ปีก่อนสถานทูตเปิดให้มีการประชุมตัวแทนด้านการค้าและการลงทุนขึ้นที่สถานทูต และปีที่แล้วตั้งคณะที่ปรึกษาทูต ประกอบด้วยภาคธุรกิจทั้งสองฝ่ายที่ลงทุนในไทยและโปรตุเกสคอยให้คำปรึกษาเรื่องการค้าการลงทุน
ไม่ผิดเลยหากจะกล่าวว่า เมื่อ 500 ปีก่อนโปรตุเกสใช้การค้าและเทคโนโลยีการเดินเรือเป็นตัวนำความสัมพันธ์ แต่ถึงยุคนี้จะใช้สิ่งใดเป็นตัวนำ
"แน่นอนว่ายังเป็นเรื่องการค้า รวมถึงอีกหลายๆ ด้านให้พัฒนา ไม่ว่าจะเป็นด้านวัฒนธรรม ประวัติศาสตร์ มิตรภาพที่เป็นพื้นฐานของความสัมพันธ์ แต่การค้ายังเป็นเรื่องที่เราต้องพัฒนาให้มากขึ้น เพราะยังมีอีกหลายสาขาที่เรายังไม่รู้จักกันและกัน"
ท่านทูตเผยถึงสิ่งที่โปรตุเกสมี ทั้งภาคอาหาร ไวน์ ที่ตอนนี้ส่งออกมาไทยเพิ่มขึ้นมาก ส่วนด้านเทคโนโลยีใหม่ เช่น ไอที การพัฒนาซอฟต์แวร์ การก่อสร้าง และพลังงานหมุนเวียน โปรตุเกสพัฒนาไปเร็วมาก พร้อมกันนั้นโปรตุเกสก็หาลู่ทางใหม่ๆ เพื่อจะร่วมมือกับไทย
“สำหรับนักลงทุนไทย โปรตุเกสเป็นฮับและประตูสู่ตลาดสหภาพยุโรปที่เป็นตลาดเปิด การส่งออกไปยังโปรตุเกสเท่ากับการส่งออกไปยังตลาดที่มีประชากร 600 ล้านคน รวมถึงประเทศที่พูดภาษาโปรตุเกสที่เรียกว่า กลุ่มประเทศซีพีแอลพีอีก 8 ประเทศที่รัฐบาลลิสบอนมีความสัมพันธ์แข็งแกร่ง เดิมเป็นกลุ่มความร่วมมือทางการเมืองแต่ตอนนี้เป็นกลุ่มความร่วมมือทางเศรษฐกิจด้วย”
ในแง่การเติบโตของการค้า ทูตยอมรับว่า ปีที่แล้วขยายตัวไม่มากนักเนื่องจากสองประเทศยังมีพื้นที่ใหม่ๆ ให้ต้องพัฒนากันอีกมาก ตั้งแต่ปี 2558 ถึงขณะนี้การค้าระหว่างสองประเทศเพิ่มขึ้นเกือบ 6% ถือว่าน้อยมากกับศักยภาพที่มี มูลค่าการส่งออกและนำเข้าทั้งหมดรวม 2.2 พันล้านยูโร แต่จำนวนบริษัทโปรตุเกสที่ส่งสินค้ามาไทยเพิ่มจาก 238 แห่งในปี 2558 เป็น 340 แห่งในปีนี้
สินค้าส่งออกของโปรตุเกสประกอบด้วย เครื่องจักร ชิ้นส่วนเครื่องจักร กระดาษ ผลิตภัณฑ์กระดาษ กระดาษแข็ง สิ่งทอ แร่ธาตุ หินสำหรับอุตสาหกรรมหินในไทย ส่วนสินค้านำเข้าสำคัญจากไทย ได้แก่ รถยนต์ที่ไทยแข็งแกร่งมาก เครื่องปรับอากาศ ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ พลาสติก อาหาร
ทูตย้ำว่า ทั้งไทยและโปรตุเกสพยายามหาช่องทางเพิ่มความร่วมมือ สิ่งสำคัญสำหรับธุรกิจโปรตุเกสที่เข้ามาประเทศไทยแล้วก็คือการหาพันธมิตรท้องถิ่น เพื่อร่วมมือและพัฒนาธุรกิจไปด้วยกัน ตัวอย่างเช่น บริษัท SISTRADE ร่วมมือกับบีเจซีกรุ๊ป สนใจพัฒนาซอฟต์แวร์เพื่อการพิมพ์หีบห่อ หรือหนังสือเดินทางอิเล็กทรอนิกส์ หนึ่งในกลุ่มบริษัทที่รับหน้าที่จัดหาอีพาสสปอร์ตให้ไทยเป็นบริษัทโปรตุเกส
ขณะเดียวกันบริษัทไทยก็เข้าไปลงทุนในโปรตุเกส เช่น ไทยยูเนี่ยนกรุ๊ป ไมเนอร์ ซิกซ์เซ้นส์เซส อินโดรามา และเมื่อเร็วๆ นี้ ปตท.สผ.เพิ่งซื้อบริษัทโปรตุเกสที่สำรวจน้ำมันในตะวันออกกลาง
และถ้าถามถึงจุดแข็งของโปรตุเกสในตอนนี้ ทูตวาช ปาตตูเผยว่า อยู่ที่อุตสาหกรรมกลาโหม อวกาศและการสร้างเครื่องบิน ส่วนอุตสาหกรรมรถยนต์และก่อสร้างสองประเทศมีความร่วมมือกันอยู่แล้ว ด้านอื่นๆ ที่โปรตุเกสโดดเด่น เช่น ประมง แฟชั่น ไอซีที
ความร่วมมือที่ไม่พูดถึงไม่ได้เลยคือเรื่องการท่องเที่ยว
“คนไทยไปเที่ยวโปรตุเกสมากขึ้น นักท่องเที่ยวโปรตุเกสก็มาไทยเพิ่มขึ้นมาก ปีที่แล้วทะลุ 50,000 คนเป็นครั้งแรก ถือว่ามากสำหรับโปรตุเกสหากเทียบกับตัวเลขนักท่องเที่ยวจากประเทศยุโรปอื่นๆที่มาไทย” ทูตโปรเกสกล่าว
ส่วนลู่ทางใหม่ๆ ที่นักลงทุนไทยมีโอกาสในโปรตุเกส เช่น พลังงานหมุนเวียน อุตสาหกรรมรถยนต์ อุตสาหกรรมรีไซเคิล
“พลังงานหมุนเวียน” เป็นอีกสาขาหนึ่งที่โปรตุเกสให้ความสำคัญ ทูตเล่าว่า มีการลงทุนครั้งใหญ่ในปี 2547 โปรตุเกสไม่ได้ผลิตน้ำมัน ต้องนำเข้าถ่านหินมาผลิตพลังงาน แต่สุดท้ายก็ตัดสินใจว่าต้องลดการใช้ถ่านหิน สนับสนุนพลังงานหมุนเวียน ถึงขณะนี้พลังงานที่ผลิตและบริโภคในประเทศเป็นพลังงานหมุนเวียน 56% หลักๆ คือ พลังงานน้ำ ลม แสงอาทิตย์ ส่วนในพื้นที่เกาะใช้พลังงานความร้อนใต้พิภพเพราะมีภูเขาไฟจำนวนมาก การพัฒนาพลังงานหมุนเวียนมาพร้อมกับการพัฒนาเทคโนโลยีใหม่ ที่โปรตุเกสเชี่ยวชาญและส่งออกเทคโนโลยีด้านนี้ด้วย
“อีกสาขาหนึ่งที่โปรตุเกสกำลังพัฒนาอยู่ตอนนี้คือการนำขยะมาผลิตพลังงาน ที่ไทยเองก็ลงมือทำอยู่เช่นกัน จึงมีการลงนามความร่วมมือพัฒนาร่วมกัน”
ความภาคภูมิใจอย่างหนึ่งของโปรตุเกสคือผลิตพลังงานหมุนเวียนได้เกินกว่าที่ใช้จนมีเหลือส่งออก
“ถ้าคุณเริ่มต้นตอนนี้พลังงานหมุนเวียนจะแพงมาก แต่โปรตุเกสลงทุนมานานกว่า 10 ปี ทำให้เทคโนโลยีที่ใช้มีราคาถูกลง ผลผลิตถูกลง ผู้บริโภคได้ประโยชน์ ปัญหาหนึ่งของประเทศพัฒนาน้อยกว่าคืออยากใช้พลังงานหมุนเวียนแต่ราคายังแพง แต่ถ้ามองไปในอนาคต ถือเป็นการลงทุนที่ดีเพราะมีแต่จะถูกลงโดยเฉพาะเมื่อส่งออกพลังงานได้ ทั้งยังส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อย”
นอกจากความร่วมมือด้านค้าๆ ขายๆ แล้ว เรื่องดนตรี ศิลปะ วัฒนธรรมก็ไม่เคยจางหาย วันที่ 5 พ.ค.2563 จะประกาศให้เป็นวันภาษาโปรตุเกส สถานทูต 4 ประเทศที่พูดภาษาโปรตุเกสในประเทศไทยจะร่วมกันจัดกิจรรมเฉลิมฉลอง ทั้งหมดนี้คือภาพรวมความร่วมมือที่โปรตุเกสและไทยมีด้วยกันอย่างไม่เคยสิ้นสุด