แก้ปัญหา Fake news แนะทุกภาคส่วนร่วมตรวจสอบ ป้องกันรัฐเข้ามาควบคุม

แก้ปัญหา Fake news แนะทุกภาคส่วนร่วมตรวจสอบ ป้องกันรัฐเข้ามาควบคุม

"สุภิญญา" แนะศูนย์ต้านข่าวปลอม กระทรวง DE ควรปรับบุคลิกชัดไม่แตะการเมือง หากทำต้องดูให้ฝ่ายค้านด้วย ย้ำการตรวตสอบ Fake news ควรอิงหลักกอง บก. วัฒนธรรมนักข่าว คล้ายไต้หวัน

เมื่อวันที่ 17 พ.ย. 62 ที่สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ฝ่ายสิทธิเสรีภาพสมาคมนักข่าวฯ สื่อ จัดราชดำเนินเสวนาหัวข้อ "จุดกึ่งกลางการจัดการปัญหา Fakenews" น.อ.สมศักดิ์ ขาวสุวรรณ์ อธิบดีกรมอุตุนิยมวิทยา กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (DE), นายไพบูลย์ อมรภิญโญเกียรติ ที่ปรึกษาผู้ผลิตข่าวออนไลน์, น.ส.สุภิญญา กลางณรงค์ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ สภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ และอดีต กสทช.

น.อ.สมศักดิ์ กล่าวว่า ในฐานะผู้ที่เคยทำงานบริหารจัดการเกี่ยวกับภัยพิบัติธรรมชาติและข่าวสารต่างๆ ซึ่งเมื่อเกิดข่าวสารที่มีผลกระทบต่อประชาชน ตนจึงได้มีโอกาสมาทำงานในหลายๆ เรื่องที่เกี่ยวกับข้อมูลข่าวสารซึ่งได้มีการใช้เทคโนโลยีต่างๆ ชี้แจงกับประชาชน ตั้งแต่ระบบเตือนภัยหรือการให้ข้อมูลข่าวสารผ่าน SMS ขณะที่ปัจจุบันนี้เราอยู่ในสังคมของ โลกโซเชียลมีเดียเป็นโลกเสมือนจริง โดยมีแหล่งข่าวหรือคนให้ข่าวที่มาจากทุกที่และให้ข่าวได้เลย ส่วนในอดีตจะมีแหล่งข่าวจากหน่วยงานที่เป็นผู้ให้ข่าวสาร หรือจากโฆษกและผ่านกระบวนการกลั่นกรอง ตรวจสอบเป็นวันๆ ขณะที่ในกระบวนการตรวจสอบเผยแพร่ข่าวสารของสื่อวิทยุโทรทัศน์ก็จะมี กสทช. ส่วนเรื่องของ Social Media ไม่มีใครตรวจสอบ และไม่สามารถตรวจสอบได้ง่ายเพราะข่าวสารนั้นมาจากที่ใดในโลกก็ได้โดยข่าวสารนั้นก็มารวดเร็วสู่สาธารณะเลยแบบวินาที ทำให้เกิดปัญหาว่าไม่รู้ข้อมูลใดเป็นเท็จหรือเป็นจริง หรือถูกต้องครบถ้วนสมบูรณ์ โดยคำว่า "ข่าวปลอม หรือ Fake news" ในความหมายของหน่วยงานราชการที่เรามองอยู่ ก็คือ ข่าวใดก็ตามแม้ที่เป็นเรื่องจริงแต่ถูกนำมาเสนอผิดเวลาไม่ตรงกับเวลาที่เป็นจริง เช่น นำภาพข่าวที่เคยเกิดขึ้นมาแล้วจากน้ำท่วมจังหวัดหนึ่ง มาใช้กับข่าวที่เกิดขึ้นในปัจจุบันทั้งที่มีความรุนแรงต่างกันแล้วจนทำให้เกิดความตระหนกตกใจ หรือเป็นข่าวที่ทำขึ้นมาโดยมีเนื้อหาที่คาดเคลื่อน หรือสิ่งใดที่เป็นข้อมูลข่าวสารเกิดมาแล้วทำ ให้เกิดผลกระทบต่อชีวิต ทรัพย์สิน หรือทำให้ประชาชนเกิดความสับสนวุ่นวายเกิดผลกระทบต่อสังคมโดยรวมไม่ว่าจะเป็นเรื่องภัยพิบัติธรรมชาติ สุขภาพ เศรษฐกิจ สังคม หรือเป็นข้อมูลข่าวสารที่ต้องชี้แจงต่อสาธารณะแตาคลาดเคลื่อนไป นิยามภาพรวมข่าวปลอมที่ไม่พึงประสงค์ จึงหมายถึงข้อมูลข่าวสารที่ทำให้เกิดผลเสียหายแก่ภาพลักษณ์ของประเทศ หรือทำให้ประชาชนได้รับผลกระทบ ซึ่งเมื่อเกิดข่าวเช่นนี้ เราต้องดำเนินการทำความเข้าใจชี้แจงหรือนำข้อมูลข่าวสารที่ถูกต้อง มาสื่อสารต่อสาธารณะ

น.อ.สมศักดิ์ กล่าวถึงศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม (Anti-Fake news Center) ที่กระทรวง DE ดำเนินการว่า การที่จะพิจารณาว่าข่าวลักษณะไหนเป็นข่าวไม่พึงประสงค์ เราก็เทียบเคียงการพิจารณาของแพลตฟอร์ม (ฐานบริการ หรือระบบปฏิบัติการ) ต่างๆ ซึ่งเขามีเกณฑ์ของแต่ละแพลทฟอร์มอยู่ตามกฎหมายสาธารณะหรือกฎหมายของสื่อสังคมโลกที่ใช้อยู่ โดยเราก็จะดูว่าแต่ละแบบฟอร์มนั้นเขาใช้หลักเกณฑ์อะไรในการรายงานระงับข่าวเราก็อ้างอิงด้วยซึ่งเป็นเกณฑ์แพลตฟอร์มสาธารณะและสากล ยืนยันไม่เล่นการเมือง รวมทั้งเรื่องระหว่างบุคคลกับบุคคล ต้องเป็นเรื่องที่ส่งผลกระทบต่อประชาชนเป็นวงกว้าง ที่ทำให้สังคมเกิดความแตกแยก โดยเรายังพิจารณาร่วมกับกฎหมายที่ใช้ในบ้านเราและคำนึงถึงหลักสิทธิเสรีภาพ และการสร้างความเข้าใจกับประชาชน ซึ่งขณะนี้ก็มีการตรวจสอบข้อความแล้วกว่า 120,000 ข้อความจากทุกแพลตฟอร์มโดยจากการวิเคราะห์พบว่า ขณะนี้ข่าวที่มีผลกระทบต่อประชาชนเป็นเรื่องยาเสพติด 76%, ภัยพิบัติธรรมชาติ 36%, เรื่องเศรษฐกิจ หุ้น 13.6% เรื่องผลิตภัณฑ์สุขภาพ 21.2%, ที่สร้างผลกระทบให้เกิดความแตกแยก เกิดความไม่สงบเรียบร้อยภายในประเทศกว่า 10% และการให้ข้อมูลที่ไม่ตรง คาดเคลื่อนกับสิ่งที่เป็นจริง 16% ซึ่งเหลือส่วนที่จะชี้แจงว่าเป็นข่าวปลอมมีแค่ 10 กว่าข่าว โดยขั้นตอนตั้งแต่เราค้นหาข่าวจนถึงการชี้แจงว่าเป็นข่าวปลอม เราจะใช้เวลาประมาณ 2 ขั่วโมงเรามีบันทึกการตรวจสอบไว้ด้วยและทุกสื่อตรวจการทำงานได้ทุกขั้นตอนเพื่อให้สังคมมั่นใจ ต่อไปเราก็จะคุยกับเจ้าของแพลตฟอร์มที่มีข่าวพวกนี้อยู่ในระบบ เพื่อให้นำข่าวเหล่านี้ออกจากระบบจะได้ไม่กลับมาหมุนเวียนอยู่ในระบบอีก โดยการให้มีศูนย์ฯ นี้มาก็เพื่อเป็นหน่วยงานกลางเช็คตรวจสอบข้อมูลข่าวสารที่เกิดขึ้นมาว่าถูกต้องหรือไม่ โดยเรามีคณะกรรมการประสานงานซึ่งหน่วยงานหลัก 80-90% นั้นถือเป็นหน่วยงานอิสระ เช่น สมาคมนักข่าวฯ สื่อสิ่งพิมพ์ สื่อออนไลน์ สื่อสร้างสรรค์ หรือ หน่วยงานด้านสิทธิมนุษยชน หรือนักวิชาการอาจารย์ในมหาวิทยาลัย มาร่วมตรวจสอบว่าอะไรคือข่าวปลอม

157398420540

ขณะที่การทำหน้าที่ส่วนนี้ของศูนย์ฯ เหมือนการให้ information แยกจาก ปอท. ไม่ได้เป็นเหมือน ปอท.2 (กองบังคับการปราบปรามการกระททำผิดเดี่ยวกับอาชญากรรมเทคโนโลยี) โดยในส่วนของ ปอท.ดูแลเรื่องการบังคับใช้กฎหมาย และติดตามจับกุมผู้กระทำผิดตามกฎหมาย อย่างไรก็ดีปัจจุบันได้พบว่าภัยที่เกิดขึ้นจาก Social Media เช่น กลุ่มแชร์หลอกลวง ปัจจุบันมีมากกว่าอาชญากรรมที่เกิดขึ้นในอดีต ขณะที่ผู้ที่เผยแพร่ข้อมูลข่าวสารมากที่สุดที่มีคาดเคลื่อน คือช่วงวัยเกษียณ 60 ปีขึ้นไป ซึ่งอาจเคยมีตำแหน่งหน้าที่การงานเมื่อมีการแชร์ข้อมูล บุคคลที่ได้รับคิดว่าน่าเชื่อถือจึงกระจายต่อเลย ปัญหาก็เกิดว่าคนที่รับข่าวสารนั้น ต้นทุนความเท่าทันในโซเชียลมีความรับรู้แตกต่างกัน ผลกระทบจึงเกิดขึ้นซึ่งคนโพสต์จะมีความผิดแม่จะบอกว่าเขารับจากคนนี้ ดังนั้นในวันนี้เราต้องสร้างความเข้าใจให้กับบุคคลที่ใช้โซเชียลเพราะจากการลงพื้นที่ ต่างๆ พบว่ามีมากถึง 80-90% ไม่เข้าใจการใช้โซเชียล หรือการใช้มือถือดำรงชีวิตในโลกเสมือนจริง

ด้าน นายไพบูลย์ ที่ปรึกษาสมาคมผู้ผลิตข่าวออนไลน์ ได้เสนอแนะเกี่ยวกับการจะดำเนินการของศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม (Anti-Fake news Center) ว่า เรื่องจริงหรือเท็จไม่ใช่แค่ข้อมูลจริงหรือไม่ แต่เกี่ยวกับความคิดและอคติด้วย ซึ่งคำว่า Fake news กำหนด หลักเกณฑ์ยากมากไม่มีทางที่รัฐจะกำหนดให้เป็นที่พอใจโดยความหมายของรัฐกับเอกชนมักจะต่างกันด้วย อย่างไรก็ดีการตั้งศูนย์ฯนี้ขึ้นมาก็ถือว่าเป็นเรื่องที่สบายใจเพราะเป็นแนวคิดที่ทุกๆ ประเทศมีกัน แต่จะมีประสิทธิภาพมากเพียงใดก็ต้องขึ้นอยู่กับความเป็นจริงอีกเรื่องหนึ่ง ขณะที่เป็นห่วงว่าหากศูนย์นี้จะสแกนได้แค่ไหน ซึ่งปัจจุบันในสื่อโซเชียลคนไทยก็มีปริมาณผู้ใช้ Facebook ถึง 54 ล้านคนก็ลองคิดดูว่าใน 1 นาทีจะมีการส่งข้อมูลมากเท่าใด และยังมี Line, Youtube อีก ยังไม่นับรวม Google ที่เป็นช่องทางในการ search หาทุกอย่างในโลกได้ อย่างไรก็ดีตนมองว่าส่วนของ Fake news แม้จะไม่ดี แต่เราสามารถนำเรื่องนั้นมาวิเคราะห์ได้ว่าการศึกษาของรัฐเราทำให้ประชาชนเข้าใจอย่างไรบ้าง เราก็นำเสียงสะท้อนประชาชนมาใช้ประโยชน์เพราะเป็นเสียงจริงจากประชาชน

157398422865

ขณะที่ น.ส.สุกัญญา กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ สภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ กล่าวว่า หากจะให้เกิดประโยชน์สูงสุด ศูนย์ฯ นี้อาจจะต้องปรับบุคลิก ปรับแนวคิดสักนิดที่จะดึงภาคส่วนต่างๆ เข้ามาเกี่ยวข้อง และถ้าไม่ทำเรื่องการเมืองเลยก็ให้ประกาศออกมาชัดเจนว่าจะไม่แตะเรื่องการเมือง พรรคอนาคตใหม่จะได้ไม่เรียกร้องว่าทำไมข่าวลือของพรรค ถึงไม่ออกมาตรวจสอบบ้างเลย แต่ถ้ายังจะต้องเกาะเกี่ยวกับเรื่องการเมืองอยู่บ้างตรวจสอบว่า ผบ.ทบ. พูดอย่างนั้นหรือไม่ หรือนายกรัฐมนตรีไม่ได้พูดอย่างนั้นจริงๆ หากจะทำก็ควรจะทำให้ครบทุกข่าว คือหากมีข่าวที่คิดว่าจะไม่ใช่ข้อเท็จจริงของพรรคฝ่ายค้าน ศูนย์ฯ นี้ ก็จะต้องใจกว้างด้วย ที่จะตรวจสอบว่าข่าวลือนั้นจริงหรือไม่ เพื่อสร้างความน่าเชื่อถือ แต่ถ้าทำไม่ได้เพราะศูนย์นี้เป็นของรัฐจะไปโปรโมทให้ฝ่ายค้านไม่ได้ หากเป็นเช่นนั้นก็ไม่ควรที่จะแตะกับประเด็นบุคคลที่เกี่ยวข้องการเมือง เพื่อให้เกิดความชัดเจนว่าเป็นศูนย์ฯ นี้ จะคอยแก้ปัญหาให้กับประชาชนในเรื่องของผู้บริโภค ภัยพิบัติ และเรื่องทางการเงิน ต้นก็เสนอแนะด้วยความปรารถนาดีว่าหากจะทำก็ทำ Position ให้ชัด ขณะที่หากอยากจะทำให้ส่วนนี้ได้รับการยอมรับจากฝ่ายการเมืองก็ควรจะต้องเชิญคนจากของทุกพรรคมาร่วมเป็นกองบรรณาธิการ หรือเชื่อมกับสำนักข่าวต่างๆ เพราะศูนย์ที่จะตรวจสอบข่าวลวง หรือ Fact Cheking center ศูนย์ตรวจสอบ ข้อเท็จจริงเหมือนคำที่ในต่างประเทศใช้ ควรที่จะให้นักข่าวซึ่งมีวัฒนธรรมของนักข่าวเองก็คือการตรวจสอบข้อเท็จจริงที่เป็นหัวใจสำคัญ และต้องใช้หลายแหล่งข่าว ดังนั้นการทำงานก็อาจจะใช้วัฒนธรรมลักษณะเหมือนกองบรรณาธิการนักข่าว ที่การทำงานของศูนย์ก็ควรจะต้องยืนหยัดในหลักการความกล้าหาญทางจริยธรรม และร่วมสมัย ให้ได้รับการยอมรับจากทุกกลุ่ม พร้อมกับดันสังคมให้เข้ามามีส่วนร่วม

อย่างไรก็ตามตนเห็นว่าการจะแก้ปัญหาออนไลน์ได้จะต้องใช้ Soft Power อำนาจทางวัฒนธรรม สังคมการมีส่วนร่วม ค่อยๆกดดันกับทุกภาคส่วนให้มาทำหน้าที่ของตัวเอง มากกว่า Hard Power การใช้อำนาจรัฐบังคับอย่างเดียว อย่างไต้หวัน ที่เขาใช้การตรวจสอบแบบกองบรรณาธิการนักข่าวที่มีทั้งสื่อหลัก , เอ็นจีโอ , ภาคส่วนต่างๆ มาร่วม เมืองไทยอาจต้องสร้างวัฒนธรรมแบบนั้น โดยรัฐอาจจะไม่ต้องออกหน้าทั้งหมด และนอกจากการตั้งศูนย์ฯ นี้แล้วตนเห็นว่าเราควรจะสร้างวัฒนธรรมการขอโทษ สร้างวัฒนธรรมการเคารพซึ่งกันและกันด้วย ขณะที่ฝากถึงพรรคการเมืองต่างๆ และผู้นำทำความคิดต่างๆ ว่าไม่ว่าเราจะคิดต่างกันอย่างไร เราก็ควรจะต้องบอกแฟนคลับหรือกองเชียร์ ของเราว่าถ้าไม่จริงก็อย่าแชร์